อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย(น้ำตกแม่สา)สืบชะตาขุนน้ำ ปล่อยพันธุ์ปลา

อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพฯร่วมหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สภาวัฒนธรรม กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสถานศึกษา จัดสืบสานประเพณีสำคัญของชาวล้านนา สืบชะตาขุนน้ำแม่สา ตามความเชื่อที่ว่าจะทำให้มีน้ำกินน้ำใช้อุดมสมบูรณ์ตลอดทั้งปี พร้อมกุสโลบายที่จะปลุกจิตสำนึกให้คนพื้นที่รักษาสายน้ำ

นายกิชสยาม คงสตรี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ ดอยสุเทพ-ปุย ร่วมกับ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สภาวัฒนธรรมเชียงใหม่ กำ นัน ผู้ใหญ่บ้าน เทศบาลตำบลแม่แรม การประปาส่วนภูมิภาค(สาขาแม่ริม) นายสมชิด กันธะยา ส.อบจ.แม่ริม เขต2 ทหารหน่วยพันพัฒนา สถานีตำรวจภูธรแม่ริม คณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ สถานีตำรวจภูธรแม่ริม(กต.ตร.) นักเรียนโรงเรียนบ้านทุ่งโป่ง ผู้ประกอบการร้านค้าในอุทยานแห่งชาติฯและหน่วยงานในพื้นที่

ได้นิมนต์พระสงฆ์ในตำบลแม่แรมมาประกอบพิธีสืบชะตาขุนน้ำแม่สา ณ บริเวณชั้น 1 ผาลาด(น้ำตกแม่สา ) ต.แม่แรม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ โดยพระสงฆ์ จำนวน 9 รูป สวดเจริญพระพุทธมนต์ สืบชะตาขุนน้ำตกแม่สา ที่เป็นสายน้ำสำคัญจาก 17 ลำห้วย ไหลมารวมกันเป็นน้ำตกแม่สา จำนวน 10 ชั้น และไหลผ่าน 5 ตำบล ก่อนลงสู่แม่น้ำปิง นับเป็นน้ำสายหลักที่มีประโยชน์มหาศาลกับคนตลอดเส้นทางการไหลผ่าน ที่นำน้ำไปใช้ในการอุปโภค-บริโภค ทำการเกษตร ผลิตน้ำประปาหล่อเลี้ยงประชากรในจังหวัดเชียงใหม่อีกหลายอำเภอ

นายสมศักดิ์ บุตรฉุย หัวหน้าหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ดอยสุเทพ-ปุย ที่ 3 กล่าวว่า การสืบชะตาขุนน้ำเป็นประเพณีความเชื่อว่า หากประกอบพิธีนี้แล้ว จะทำให้มีน้ำที่อุดมสมบูรณ์ ใส สะอาดตลอดทั้งปี และจะทำให้คนที่อาศัยน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค จะเกิดจิตสำนึกในหวงแหน และช่วยกันบำรุงรักษา ไม่บุกรุก ทำลายสภาพพื้นที่โดยรอบ และจับสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ตลอดระยะทางของน้ำตกแม่สาทั้ง 10 ชั้นระยะทาง 2 กิโลเมตร และเพื่อเป็นการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ ได้มีการปล่อยพันธุ์ปลา ที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมประมง และศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดเชียงใหม่ มีปลาสร้อย ปลาตะเพียนขาว จำนวน 50,000 ตัวลงสู่ลำน้ำแม่สา โดยมี นายกิชสยาม คงสตรี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ ดอยสุเทพ-ปุย และผู้มาร่วมในพิธีร่วมกันปล่อย.

ร่วมแสดงความคิดเห็น