พระมหาเจดีย์ชเวดากองแห่งเมืองลี้ “พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย”

พระมหาเจดีย์ชเวดากองแห่งเมืองลี้ “พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย” พุทธเจดีย์ของภัทรกัปแห่งแรกในประเทศไทยและเป็นแห่งที่ 2 ของโลก

พระมหาเจดีย์ชเวดากอง จำลองรูปแบบศิลปกรรมมอญผสานศิลปะล้านนา ที่สร้างด้วยศิลาแลงทั้งองค์ มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ฐานกว้าง ขนาด 1ไร่ ส่วนสูงจากบัวยอดฉัตรลงมาถึงพื้น ยาว 64.39 เมตร ผู้ริเริ่มออกแบบและการสร้างคือ “หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา” เพื่อให้เป็นพุทธเจดีย์ของพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ ในอันที่จะเป็นพุทธ เจดีย์ของภัทรกัป ให้ลูกหลานคนไทยได้กราบไหว้ และเป็นแห่งแรกของประเทศไทย

พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย ตั้งอยู่ที่ หมู่ 8 ต.นาทราย อ.ลี้ จ.ลำพูน ใกล้วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ก่อนที่จะสร้างพระมหาเจดีย์ หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศา ได้พบมูลโคขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในสมัยที่ทรงมาใช้ชาติเป็นโคพระโพธิสัตว์ และมูลโคนี้ก็ได้กลายสภาพเป็นพระบรมธาตุ จึงมีความตั้งใจที่จะสร้างพระมหาเจดีย์ธาตุ ครอบทับสถานที่แห่งนี้ไว้ ด้วยเกรงว่าต่อไปในภายหน้า หากไม่ทำอะไร สถานที่อันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ ก็คงจะมีชาวบ้านมาสร้างบ้านเรือนทับด้วยเพราะความไม่รู้

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ประทานนามพระมหาเจดีย์นี้ว่า “พระมหาเจดีย์ศรีเวียงชัยพุทธเจดีย์พระเจ้า 5 พระองค์” สิ่งสักการะแทนองค์พระศาสดาทั้ง 5 ของภัทรกัป แห่งแรกที่สร้างด้วยศิลาแลงทั้งองค์ ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ประดิษฐาน ณ วัดหนองวัวเฒ่า หมู่ที่ 9 บ้านหนองปู(ห้วยต้ม)ต.นาทราย อ.ลี้ จ.ลำพูน เจตนาการสร้าง เพื่อให้ประเทศไทยได้มีพุทธเจดีย์ ที่เป็นเครื่องหมายแห่งการตรัสรู้ โปรดเวไนยสัตว์ของพระพุทธเจ้าทั้ง 5พระองค์ ซึ่งได้แก่ พระพุทธเจ้ากกุสันธะ, พระพุทธเจ้าโกนาคมนะ,พระพุทธเจ้ากัสสปะ,พระ พุทธเจ้าโคตมะ (พระสมณโคดม) องค์ปัจจุบัน และพระศรีอริยเมตไตรย์ พระพุทธเจ้าที่จะมาตรัสรู้ในอนาคต

หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศา ใด้สร้างพระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย เพื่อเป็นพุทธเจดีย์พระเจ้า 5 พระองค์ในประเทศไทยนั้น ก็ย่อมเป็นการบอกมโนปณิธานของหลวงปู่วไว้เป็นสักขีพยานว่า หลวงปู่และลูกหลานรวมทั้งผู้ที่ร่วมสร้างพระมหาเจดีย์นี้ ได้เกิดมาร่วมบำเพ็ญบารมีในพระศาสนาของ สมเด็จพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน แม้นหากลูกหลานของหลวงปู่ตลอดจนผู้ที่ได้ร่วมสร้างพระมหาเจดีย์แห่งนี้ ยังไปไม่ถึงฝั่งคือพระนิพพานฉันใด ก็ขอให้ได้เกิดมาบำเพ็ญบารมีเพื่อเข้าสู่ฝั่งคือ พระนิพพาน ในพระศาสนาของสมเด็จพระศรีอริยเมตไตรย์ สัมมาสัมพุทธเจ้าโน้นเถิด

ดังเช่นที่ สมเด็จพระสมณโคดมพุทธเจ้าตรัสว่า”ดูก่อน พระสารีบุตรผู้เจริญ ชนทั้งหมดไม่ได้เห็นรูปกายของเรา ถ้าเขาได้พบพระศาสนาของเรา ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา แล้วไซร้ ด้วยผลแห่งกรรมนั้น เขาจักอุบัติในสำนักพระพุทธ เจ้า ทรงพระนามว่า อริยเมตไตรย์แล” เป็นการอาราธนาพระบรมธาตุของสมเด็จพระศรีอริยเมตไตรย์สัมมาสัมพุทธเจ้า มาบรรจุในองค์พระมหาเจดีย์ที่สร้างไว้แล้วนี้

ซึ่งหลวงปู่พร้อมทั้งลูกหลานและผู้มีจิตศรัทธา ได้สร้างไว้ในพระศาสนาขององค์สมเด็จพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า และเมื่อใดที่สิ้นพระศาสนาของพระองค์แล้ว ขอองค์พระศรีอริยเมตไตรย์พุทธเจ้าทรงพระเมตตารับทราบ บุรพเจตนาที่ได้สร้างพระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัยนี้ขึ้นมา ก็เพื่อรอการมาตรัสรู้ของพระองค์ เช่นเดียวกับพระมหาเจดีย์ชเวดากอง และหากวันนั้นมาถึงขอ พระองค์ทรงพระเมตตาให้พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัยนี้ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุของพระองค์เที่ยงแท้

พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย พุทธเจดีย์ของภัทรกัปแห่งแรกในประเทศไทย จากพระมหาเจดีย์พุทธคยา ประเทศอินเดีย อันเป็นสัญลักษณ์แห่งการมาตรัสรู้อนุตตร สัมมาสัมโพธิญาณของพระโคตมะ (โคดม) พุทธเจ้า จนมาถึงพระมหาเจดีย์ชเวดากอง ประเทศพม่า ที่เป็นเครื่องแสดงว่า พระโคตมะพุทธเจ้า เมื่อตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ได้ประทาน พระเกศาธาตุมาบรรจุรวมกับบริขารของพระพุทธเจ้า ที่ล่วงมาแล้ว3 พระองค์ และรอการมาบรรจุพระบรมธาตุของพระศรีอริยเมตไตรย์เป็นองค์ที่ 5 แห่งภัทรกัป จึงมีความสำคัญเหมือนพุทธเจดีย์พระพุทธเจ้า 5 พระองค์ แห่งแรกของโลก (ชเวดากอง แปลว่า เจดีย์ทองเมืองตะเกิง) และด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของพระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย ในประเทศไทย โดยความคิดริเริ่มของหลวงปู่ครูบาชัยยะวงศา จะเป็นพุทธเจดีย์ของภัทรกัปแห่งแรกในประเทศไทย และเป็นแห่งที่ 2 ของโลก

หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศา อธิษฐานขอพระบรมธาตุของพระโคตมะพุทธเจ้าก่อนที่จะสร้างพระเจดีย์ เพื่อมาประดิษฐานในพระมหาเจดีย์ที่คิดจะสร้างในประเทศไทย และด้วยเจตนารมย์อันบริสุทธิ์และมโนปณิธานที่ตั้งไว้ชอบแล้ว จึงทำให้คำอธิษฐานของหลวงปู่สัมฤทธิ์ผลเป็นที่น่าอัศจรรย์ คือครั้งแรก (วันที่ 11 ก.พ.253 หลวงปู่ได้พระบรมธาตุลักษณะกลมใสองค์ใหญ่จำนวน 1 องค์ และพรรณสีเขียวมรกตเหมือนเพชรที่เจียระไนแล้ว จำนวน 1 องค์ รวมเป็น 2 องค์

หลวงปู่บอกว่าเป็นน้ำหล่อเลี้ยงพระหฤทัย ครั้งที่สอง (วันที่ 19 มี.ค.253 ได้พระบรมธาตุส่วนกลางกะโหลกพระเศียร จำนวน 12 องค์ รวมกันแล้วหลวงปู่ได้พระบรมธาตุเป็นจำนวนถึง 14 องค์ หลวงปู่บอกว่า ควรจริงอยากได้พระเกศาธาตุเช่นเดียวกับที่บรรจุในพระมหาเจดีย์ชเวดากอง แต่ได้พระธาตุส่วนนี้ก็สำคัญเท่ากัน เมื่อหลวงปู่ได้พระบรมธาตุตามที่ได้อธิษฐานแล้ว จึงได้เริ่มลงมือก่อสร้างพระมหาเจดีย์ ในวันวิสาขบูชาที่ 13 พ.ค.2538

หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา ได้อธิษฐานจิตอาราธนาพระบรมสารีริกธาตุจากสถานที่ต่างๆ ที่ท่านได้ไปจาริกแสวงธรรม ที่สำคัญ คือประเทศอินเดีย ศรีลังกา พม่า จีน เป็นต้น มาบรรจุไว้ในพระมหาเจดีย์ นอกเหนือจากสิ่งมงคลสักการะอันศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ เช่นพระพุทธรูป เป็นต้น นอกจากนี้ หลวงปู่ก็ได้นำบริขารของพระพุทธเจ้า 3 พระองค์ที่ล่วงมาแล้ว มาบรรจุไว้ในพระมหาเจดีย์อีกด้วย ดังนี้ ไม้เท้าของพระพุทธเจ้ากกุสันโธ , เครื่องกรองน้ำ และคณโฑน้ำจากชเวดากอง แทนธัมกรกของพระพุทธเจ้าโกนาคมนะ , ผ้าห่มองค์พระมหาเจดีย์ชเวดากอง แทนผ้าจีวรของพระพุทธเจ้ากัสสปะ

รายละเอียดการก่อสร้าง พระมหาเจดีย์ศรีเวียงชัย ออกแบบและริเริ่มให้มีการก่อสร้างโดย หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศา ลักษณะองค์พระมหาเจดีย์ เป็นประติมากรรมขนาดใหญ่ ศิลปะล้านนา ที่ก่อด้วยศิลาแลงทั้งองค์ โดยกำหนดให้มีพระมหาเจดีย์องค์ใหญ่ เป็นองค์ประธานอยู่ตรงกลางและมีพระเจดีย์ องค์เล็กอยู่เป็นบริวารล้อมรอบอยู่ 48 องค์ตามแบบพระสถูปเจดีย์ศิลปะลังกา ความหมายของพระมหาเจดีย์องค์ใหญ่ตรงกลาง เป็นพระเจดีย์ประจำปีเกิดของคนเกิดปีมะเมีย พระเจดีย์องค์เล็ก 10 องค์เป็นเจดีย์ประจำปีเกิด 10 ปีนักษัตร พระเจดีย์องค์เล็ก 28 องค์ หมายถึงพระพุทธ เจ้า 28 พระองค์ ที่ล่วงมาแล้ว

พระเจดีย์องค์เล็กที่เหลือ 10 องค์ พระพุทธเจ้า 10 องค์ ที่จะมาตรัสรู้ในอนาคต ขนาดองค์พระมหาเจดีย์ สร้างบนเนื้อที่ 6 ไร่ โดยฐานของพระมหาเจดีย์องค์ใหญ่ รวมทั้งบริวารทั้งหมดมีขนาดกว้าง 40 x 40 เมตร ความสูงขององค์พระมหาเจดีย์ โดยวัดจากพื้นถึงบัวยอดฉัตร 71 เมตร ระยะเวลาในการก่อสร้างเป็นเวลา 10 ปี ในสมัยรัชกาลที่ 9 คนที่ไม่มีโอกาสไปกราบไหว้ถึงที่พระมหาเจดีย์ ชเวดากอง แต่ได้มากราบไหว้ที่พระเจดีย์นี้ก็มีอานิสงส์มากเช่นกัน

ความงดงามอลังการที่เราสัมผัสได้ที่ “พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย” พุทธเจดีย์ของภัทรกัปแห่งแรกในประเทศไทยและเป็นแห่งที่ 2 ของโลกอย่างภาคภูมิใจ

ขอขอบคุณข้อมูล/ อบต.นาทราย

ร่วมแสดงความคิดเห็น