เศรษฐกิจภาคเหนือ ปรับตัวดีขึ้น การลงทุนเอกชนพุ่ง

ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือเดือนพฤษภาคม 2560 ปรับดีขึ้นในหลายภาคเศรษฐกิจ ได้แก่การใช้จ่ายภาคเอกชนในสินค้าคงทนเพิ่มขึ้น เช่น หมวดยานยนต์โดยเป็นกำลังซื้อจากกลุ่มผู้มีรายได้ประจำและภาคธุรกิจ แต่การใช้จ่ายในหมวดสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันยังทรงตัว การลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้น พิจารณาจากยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ และการนำเข้าเครื่องจักรในอุตสาหกรรมผลิตเพื่อการส่งออก ด้านการใช้จ่ายลงทุนภาครัฐแม้จะเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่คาด แต่ปรับดีขึ้นกว่าเดือนก่อน ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมดีขึ้นในส่วนของผลผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ดีขึ้นต่อเนื่อง และสอดคล้องกับการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไปตลาดเอเชียขยายตัวดี

ขณะที่การส่งออกชายแดนไปสหภาพเมียนมา และสปป.ลาว ปรับดีขึ้นบ้าง ด้านภาคเศรษฐกิจที่ชะลอลงจากเดือนก่อน ได้แก่ ภาคเกษตรกรรม รายได้ชะลอลงในช่วงปลายฤดูเก็บเกี่ยวข้าวนาปรัง และราคาผลผลิตเกษตรส่วนใหญ่ถือว่ายังไม่ฟื้นตัว ภาคการท่องเที่ยวจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติใกล้เคียงเดือนก่อน ขณะที่จำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานเดือนนี้ชะลอลง

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจของภาคเหนือโดยทั่วไปอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราการว่างงานปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อัตราเงินเฟ้อปรับลดลงจากราคาผักผลไม้ เนื้อสัตว์ ข้าวและแป้งลดลง รวมถึงราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชะลอตัวด้านยอดคงค้างเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นเดือนเมษายน ใกล้เคียงเดือนก่อน ขณะที่สินเชื่อยังหดตัวจากการชำระหนี้คืนของหลายธุรกิจ

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือ มีดังนี้ การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 1.3 จากระยะเดียวกันปีก่อน ส่วนสำคัญมาจากการเพิ่มขึ้นของสินค้าคงทน เช่น ยอดจดทะเบียนรถยนต์ปรับดีขึ้นได้ต่อเนื่อง ซึ่งกำลังซื้อหลักมาจากกลุ่มผู้มีรายได้ประจำและภาคธุรกิจ แต่ในขณะที่หมวดสินค้าไม่คงทน เช่น ยอดขายสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันยังคงต่ำกว่าระยะเดียวกันปีก่อนโดยยอดขายสินค้าหมวดเครื่องดื่มมีและไม่มีแอลกอฮอล์หดตัวต่อเนื่อง แม้สินค้าหมวดของใช้ในครัวเรือนและหมวดขนมขบเคี้ยวยังพอขยายตัวได้ส่วนปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงยังลดลง

การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 7.9 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเครื่องชี้ส าคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ ส่วนหนึ่งเพื่อใช้ในธุรกิจขนส่งและการค้า การน าเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยมีการนำเข้าเครื่องจักรของอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรเพิ่มขึ้น จากเดิมส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าในกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ด้านเครื่องชี้นำของภาคก่อสร้างปรับดีขึ้นบ้าง จากพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างประเภทเพื่อที่อยู่อาศัยและอาคารพาณิชย์ อย่างไรก็ตาม ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังไม่ฟื้นตัว จำนวนการอนุมัติสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยยังต่่ำกว่าระยะเดียวกันปีก่อน ขณะที่ยอดคงค้างสินเชื่อที่ให้แก่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์หดตัว

การใช้จ่ายลงทุนภาครัฐ แม้สูงขึ้นแต่น้อยกว่าคาดไว้ การเบิกจ่ายโครงการระบบชลประทานและสถาบันการศึกษาปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่การใช้จ่ายลงทุนภาครัฐโดยรวมยังลดลงร้อยละ 22.8 จากระยะเดียวกันปีก่อนจากค่าใช้จ่ายเงินโอนให้กับท้องถิ่นลดลง อีกทั้งโครงการก่อสร้างระบบถนนของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทแผ่วลงไปบ้าง หลังจากที่ได้เร่งเบิกจ่ายไปมากในช่วงก่อน นอกจากนี้ โครงการของกลุ่มจังหวัด ส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการจัดซื้อจัดจ้าง ทำให้เบิกจ่ายได้น้อยในช่วงเริ่มต้น คาดว่าจะทยอยเบิกจ่ายในระยะต่อไป

ผลผลิตอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0 จากการผลิตเพื่อส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเลนส์โดยเฉพาะสินค้าประเภทแผงวงจรรวมใน smartphone ชิ้นส่วนอุปกรณ์เซ็นเซอร์ในรถยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ ขณะที่การผลิตอุตสาหกรรมอาหารขยายตัวในอัตราชะลอลงตามปริมาณผลผลิตข้าวที่ทยอยหมดไป ส่วนการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังคงหดตัว ภายหลังเร่งผลิตไปแล้วในช่วงก่อนหน้า
มูลค่าการส่งออก ปรับดีขึ้น โดยหดตัวน้อยลงเหลือร้อยละ 2.1 ส่วนสำคัญจากการส่งออกสินค้าชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไปญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง และเยอรมนีขยายตัวดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่การส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านชายแดนไปสหภาพเมียนมา และ สปป.ลาว หดตัวน้อยลง ด้านมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 50.5 จากการนำเข้ากระแสไฟฟ้าจาก สปป.ลาว และการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเพื่อใช้ผลิตสำหรับการส่งออกเพิ่มขึ้น

รายได้เกษตรกร ดัชนีเพิ่มขึ้นร้อยละ 61.8 ชะลอลงจากเดือนก่อน เนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดูเก็บเกี่ยวข้าวนาปรัง อย่างไรก็ตาม ผลผลิตสินค้าเกษตร เพิ่มขึ้นจากปีก่อนมากร้อยละ 73.2 จากผลผลิตข้าวนาปรัง รวมถึงผลผลิตปศุสัตว์ทั้งไก่เนื้อและไข่ไก่เพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาสินค้าเกษตร ส่วนใหญ่ราคาลดลงทั้งข้าว มันสำปะหลังสับปะรดโรงงาน สุกร และไข่ไก่ ทำให้ภาพรวมราคาลดลงร้อยละ 6.6

ภาคการท่องเที่ยว ทรงตัวจากเดือนก่อน สะท้อนจากเครื่องชี้สำคัญ ได้แก่ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองท่าอากาศยานเชียงใหม่ เที่ยวบินตรงสู่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และจำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานในภาคเหนือชะลอลงบ้างจากเดือนก่อน อย่างไรก็ดี อัตราการเข้าพักของที่พักแรมยังสูงกว่าระยะเดียวกันปีก่อน

เสถียรภาพเศรษฐกิจภาคเหนือ โดยทั่วไปอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ลดลงร้อยละ 0.52 จากราคาผักผลไม้ เนื้อสัตว์ ข้าว และแป้งลดลง รวมถึงราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชะลอตัว อัตราการว่างงาน ยังอยู่ในระดับต่ำแต่ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนเป็นร้อยละ 1.22 โดยการจ้างงานในภาคเกษตรและก่อสร้างปรับลดลงจากเดือนก่อนสอดคล้องกับจำนวนผู้มาขอรับสิทธิประโยชน์จากการถูกเลิกจ้างเพิ่มขึ้น

ภาคการเงิน ณ สิ้นเดือนเมษายน 2560 ยอดคงค้างเงินฝากของสาขาธนาคารพาณิชย์ในภาคเหนือมี658,484 ล้านบาท ขยายตัวใกล้เคียงเดือนก่อนร้อยละ 2.2 จากการเพิ่มขึ้นของเงินฝากออมทรัพย์ของภาคธุรกิจและภาครัฐมาฝากพักไว้ชั่วคราว ด้านยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อลดลงร้อยละ 0.8 คงเหลือ 577,133 ล้านบาท ในเดือนนี้ยอดคงค้างสินเชื่อปรับลดลงจากการชำระหนี้คืนของหลายธุรกิจ ได้แก่ สินเชื่อภาคเกษตร ก่อสร้างและขนส่งอย่างไรก็ดี ความต้องการสินเชื่ออุตสาหกรรมผลิต ค้าปลีกค้าส่งและธุรกิจโรงแรมปรับเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากปรับลดลงจากเดือนก่อนเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 87.6

ร่วมแสดงความคิดเห็น