บุญหย่วน ดีคำวงศ์ คนพอเพียงแห่งภูเพียง จ.น่าน

“แต่ก่อนเคยทำไร่ข้าวโพด 20 ไร่ ต้องใช้ยาและปุ๋ยเคมีมาก อีกทั้งแรงงานหายาก เมื่อขายผลผลิตแล้ว หักลบต้นทุนกำไรไม่คุ้มค่า จึงน้อมนำเอาศาสตร์พระราชา ในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ทำการเกษตรแบบพอเพียงในพื้นที่ 2 ไร่กว่า สามารถส่งลูกเรียนจนจบปริญญา 2 คน” เป็นคำกล่าวที่ภาคภูมิใจของ นายบุญหย่วน ดีคำวงศ์ เกษตรกรวัย 60 ปี ต.น้ำเกี๋ยน อ.ภูเพียง จ.น่าน

เมื่อปี 2535 ได้เริ่มนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ในพื้นที่ 2 ไร่กว่าบริเวณบ้าน ของตนเอง โดยทำการเกษตรแบบผสมผสาน ปลูกพืชผักสวนครัว ไม้ผล เลี้ยงไก่ จิ้งหรีดและกบ ใช้แรงงานภายในครอบครัวไม่ต้องจ้างแรงงาน ทุกอย่างที่ปลูกและเลี้ยง ได้นำมาประกอบอาหารในครอบครัว ส่วนที่เหลือก็จำหน่ายเป็นรายได้ ปัจจุบันทุกวันจะมีรายได้จากพืชผัก 300 บาท ในรอบเดือนมีรายได้จากการจำหน่ายจิ้งหรีด 4,000 – 6,000 บาท และในรอบปีจะจำหน่ายลูกกบได้กว่า 50,000 บาท พร้อมกับจำหน่ายผลไม้ในสวนอีกประมาณ 20,000 บาท ซึ่งรายได้ทั้งหมดนี้ สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ เรื่องปุ๋ยและยาไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพราะทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพใช้เอง รวมทั้งการป้องกันกำจัดศัตรูพืชด้วยสารชีวภัณฑ์และกาวดัก เป็นการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มคุณภาพผลผลิตแบบพอเพียงและยั่งยืน

การเพาะเลี้ยงลูกกบทุ่งของบุญหย่วน…
“กบที่ผมเลี้ยงเป็นกบทุ่งตามธรรมชาติ เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค มีคนต้องการลูกกบไปเพาะเลี้ยงมาก ผมจึงเพาะเลี้ยงเพื่อเอาลูกกบขาย ใช้เวลา 1 – 1 เดือนครึ่ง ก็ได้เงิน แต่กว่าจะเพาะลูกกบได้ไม่ใช่เรื่องง่าย ผมต้องใช้เวลากว่า 3 ปีที่ ศึกษาเรียนรู้จากธรรมชาติจึงประสบความสำเร็จ”
นายบุญหย่วน เล่าว่าเขาเริ่มเลี้ยงกบจากการจับลูกอ็อดตามธรรมชาติ มาเลี้ยงประมาณ 1 ปี กบจะโตพร้อมผสมพันธุ์และวางไข่ เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน ช่วงปลายเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ฝนเริ่มตก กบจะร้องส่งเสียงเพื่อหาคู่ผสมพันธุ์ จำเป็นต้องเตรียมบ่อ/ถัง โดยใส่น้ำให้สูงประมาณ 10 เซนติเมตร หาใบลิ้นจี่สัก 4-5 เคล็ดใส่ลงในบ่อ/ถัง จากนั้นนำกบพ่อ-แม่พันธุ์ที่จับคู่กันได้แล้ว ลงบ่อ/ถังที่เตรียมไว้ พอรุ่งขึ้นต้องตื่นแต่เช้ามืดประมาณตี 5 สังเกตจะมีกลุ่มไข่ของกบติดอยู่ที่ใต้ใบลิ้นจี่ ให้นำเอาพ่อ-แม่พันธุ์กบออกจากบ่อ/ถัง ปล่อยไว้ 1 วัน ไข่ก็จะเป็นตัวลูกอ็อดและเลี้ยงด้วยไข่ตุ๋น เมื่อเป็นตัวประมาณ 20 วันให้นำแผ่นโฟมใส่ลงบ่อเพื่อให้กบมีที่เกาะ เลี้ยงประประมาณ 1 เดือน ก็จำหน่ายตัวละ 4 บาท โดยพ่อ-แม่พันธุ์แต่ละคู่จะออกไข่ประมาณ 2,000-2,500 ตัว ปีหนึ่งสามารถเพาะลูกกบได้ 2 ครั้งคือช่วงต้นฝน(มิถุนายน-กรกฎาคม) และช่วงปลายฝน(สิงหาคม)
ว่าที่ร้อยตรี ดร.สมสวย ปัญญาสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จ.เชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่าแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและการเกษตรผสมผสาน เป็นพื้นฐานการสร้างคุณภาพชีวิตของเกษตรกร สามารถลดรายจ่าย เพิ่มรายได้และสามารถทำได้จริง เกษตรกรที่สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่นายบุญหย่วน ดีคำวงศ์ 107 ม.4 ต.น้ำเกี๋ยน อ.ภูเพียง จ.น่าน โทร.094-9722252

…..กุณฑล เทพจิตรา สสก.6 / ข้อมูล…..

ร่วมแสดงความคิดเห็น