อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ลงพื้นที่เชียงใหม่ เก็บข้อมูลเครื่องบดย่อย ต้นแบบจังหวัดเชียงใหม่

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ลงพื้นที่เชียงใหม่ เก็บข้อมูลเครื่องบดย่อยต้นแบบจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อผลิตเชื้อเพลิงชีวมวล และทำปุ๋ยอินทรีย์ นำเทคโนโลยีไปปรับใช้ในพื้นที่อื่น เพื่อบริหารจัดการปัญหาขยะที่เป็นวาระแห่งชาติ
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อดูการจัดการขยะอินทรีย์ ลดการเผา โดยใช้กระบวนการทำปุ๋ยอินทรีย์ จากเครื่องบด ที่ร้านโอ้กะจู๋ ตำบลหนองจ๊อม อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมาซึ่งเป็นต้นแบบที่จังหวัดเชียงใหม่ได้ดำเนินการจัดซื้อเครื่องผลิตเชื้อเพลิงชีวมวล จำนวน 3 เครื่อง ในโครงการตามแนวทางการสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้เศรษฐกิจภายในประเทศ ประจำปีงบประมาณรายจ่าย พ.ศ.2560 นำไปทดลองบดย่อยซังข้าวโพดที่อำเภอแม่แจ่ม เพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าในฤดูที่ผ่านมา
นายจตุพร กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาขยะเป็นปัญหาระดับประเทศ รัฐบาลถือเป็นวาระแห่งชาติ โดยการจัดการขยะจะเน้นตั้งแต่ต้นทาง การกำจัดขยะที่ไม่ถูกต้องอาจก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมส่งกลิ่นเหม็นจากการย่อยสลายของขยะ น้ำชะขยะปนสู่สิ่งแวดล้อม กองขยะกลายเป็นแหล่งกำเนิดพาหะนำโรคต่างๆ การเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ก่อให้เกิดฝุ่นและหมอกควัน กลายเป็นปัญหามลพิษทางอากาศ
ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษได้สรุปแนวทางการจัดการขยะอย่างยั่งยืน โดยการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน ควรมี ระบบกำจัดแบบผสมผสานที่รวบรวมเทคโนโลยีด้านต่างๆไว้ด้วยกัน เพื่อให้การจัดการขยะมูลฝอยดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ ในส่วนของขยะอินทรีย์จากชุมชนและวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่เหมาะสม โดยการแปรรูปเป็นปุ๋ยหมัก หรือสารปรับปรุงดินเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตร
รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า การจัดการขยะอินทรีย์ในปริมาณมากจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพในการเร่งกระบวนการ ซึ่งเครื่อง Ecologic Waste หรือ EWA มีความสามารถแปรรูปอินทรีย์สารจากขยะ เศษวัชพืช ผักตบชวา เปลือกและซังข้าวโพด ฟางข้าว ให้เป็นสารตั้งต้นของปุ๋ยอินทรีย์ได้อย่างรวดเร็ว ด้วยเวลาเพียง 24-72 ชั่วโมง โดยจะเร่งเร้าจุลินทรีย์ที่มีอยู่ให้เจริญเติบโตและทำปฏิกิริยาอย่างรวดเร็ว และบ่มตัวอีกระยะหนึ่ง ทำให้จุลินทรีย์ต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายถูกทำลายไป ทำให้ได้ปุ๋ยอินทรีย์ที่มีคุณภาพสูง ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกร การเดินทางมาดูเครื่องต้นแบบครั้งนี้ เพื่อนำแนวคิดการใช้เทคโนโลยีกำจัดขยะทั่วไปด้วยเครื่องบดย่อยไปปรับใช้ในพื้นที่อื่นต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น