เกษตรปูพรมแผนส่งเสริม สืบสานเกษตรทฤษฎีใหม่ฯ

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงสื่อฯว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้จัดทำโครงการ “5 ประสาน สืบสานเกษตรทฤษฎีใหม่ ถวายในหลวง” เพื่อรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ และเผยแพร่พระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เป็นการเผยแพร่แนวพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่ไปสู่สาธารณชน โดยส่งเสริมให้เกษตรกรที่มีความสมัครใจจาก 882 อำเภอ รวม70,000 ราย น้อมนำหลักเกษตรทฤษฎีใหม่มาปรับใช้ในพื้นที่อย่างเหมาะสม

โดยแนวทางดำเนินงานกำหนดกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม คือ เกษตรกรกลุ่มพร้อมมาก 21,000 ราย ดำเนินการช่วงก.พ. – เม.ย. 60กลุ่มพร้อมปานกลาง 42,000 ราย ดำเนินการช่วงเดือน พ.ค. – ก.ย. 60 และกลุ่มเตรียมพร้อม 7,000 ราย ดำเนินการช่วง ต.ค. – ธ.ค. 60
ปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการแล้ว 70,000 ราย (ข้อมูล ณ พ.ค. 60) แบ่งเป็นการส่งเสริมความรู้เชิงปฏิบัติการ 70,000 ราย ด้านสนับสนุนปัจจัยการผลิต 70,000 ราย กิจกรรมจัดพบปะ 5 ประสาน ในพื้นที่ 77 จังหวัด และการปรับแนวคิด สร้างแรงบันดาลใจ 62,296 ราย จัดทำแผนการผลิตอย่างง่าย 44,918 ราย และ การติดตามเยี่ยมเยียนเกษตรกร โดยหน่วยงานภาครัฐ 39,961 ราย


“จากการติดตามเยี่ยมเยียนเกษตรกรพบว่า เกษตรกรนำเกษตรทฤษฎีใหม่มาปรับใช้ และเกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน เช่น การบริหารจัดการดินและน้ำเพื่อประโยชน์สูงสุดในการผลิตที่พออยู่พอกิน สามารถพึ่งตนเองได้ โดยวิเคราะห์ปรับปรุงบำรุงดินให้เหมาะสมกับการผลิต วิเคราะห์ปริมาณน้ำให้เหมาะสมกับพืชที่ปลูก วางแผนการผลิตพืช ปศุสัตว์ เพื่อบริโภคในครัวเรือนและประหยัดค่าใช้จ่ายด้านอาหารรวมถึงวางแผนรายรับและรายจ่ายเพื่อให้เกิดความสมดุล พอเพียง และมีเงิน ตลอดจนการรวมพลังในรูปแบบกลุ่มหรือสหกรณ์ โดยสร้างความเข้มแข็งส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่ม เพื่อรวบรวมผลผลิตประเภทต่าง ๆ มาจำหน่าย และภาคเอกชนจะเข้ามาประสานต่อยอดนำผลผลิตไปกระจายสู่ท้องตลาดอีกทางหนึ่ง


ทั้งนี้ กลไกการทำงานของ 5 ประสาน ประกอบด้วย 1. เกษตรกร (Cell ต้นกำเนิด) พบปะปราชญ์/เกษตรกรต้น
แบบ/ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เพื่อสร้างแรงบันดาลใจจากภายในและวางแผนการผลิต เกษตรกรลงมือทำในพื้นที่ของตนเองเก็บเกี่ยวผลผลิตกิน เหลือจำหน่าย เก็บรายได้ พร้อมทำบัญชีฟาร์ม ขยายผลสู่เกษตรทฤษฎีใหม่เต็มรูปแบบ 2. ปราชญ์เกษตรหรือเกษตรกรต้นแบบหรือประธาน ศพก. สร้างแรงบันดาลใจ แนะนำ ช่วยเหลือ สร้างเกษตรกรต้นกำเนิด และสร้างทายาทเกษตรกร
3.เจ้าหน้าที่เกษตร จัดกลุ่มเกษตรกรตามความพร้อม คัดเลือกปราชญ์เกษตรหรือเกษตรกรต้นแบบ เพื่อเป็นเพื่อนช่วยเพื่อน เพิ่มพูนองค์ความรู้แก่เกษตรกร แนะนำเกษตรกรทำบัญชีครัวเรือน/บัญชีฟาร์ม ประสานขอรับการสนับสนุนตามแผนการผลิตของเกษตรกรติดตาม ประมวลผล และรายงานความก้าวหน้าจัดหาตลาด 4. ภาคเอกชน สนับสนุนให้เทคนิค/วิชาการ ปัจจัยการผลิต ทุนทรัพย์สำหรับตอบแทนปราชญ์/ทุนเริ่มต้นสำหรับเกษตรกรตามความจำเป็นจัดหาตลาดเพื่อเกษตรกร และ 5. ภาคการศึกษา สนับสนุนให้เทคนิค/วิชาการ นักศึกษาเป็นลูกมือปราชญ์ฝึกงานในแปลงเกษตรกร

ขอบคุณ: กระทรวงเกษตรฯ-ข้อมูล/ภาพ

ร่วมแสดงความคิดเห็น