กลุ่มผ้าทอบ้านเวียงยอง…เอกลักษณ์ของชาวยอง

“พิพิธภัณฑ์สูงค่า ผ้าทอสวยหรู เชิดชูคุณธรรม ลำน้ำกวงขัวมุง ผดุงประเพณี สามัคคีอบต.เวียงยอง” นี่เป็นคำขวัญประจำตำบลเวียงยอง ที่สะท้านภาพทุนทางสังคมของชุมชนท้องถิ่นเวียงยองได้ดีอย่างดีหนึ่ง โดยเฉพาะทุนด้านวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นของ “คนไตยอง” ซึ่งถือเป็นจุดเด่นที่คนภายนอกยากที่จะรับรู้

หากกล่าวเฉพาะคนยองนั้นมีภาษาพูดที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง มีสำเนียงคล้ายชาวไตลื้อในสิบสองปันนาและชาวไตเขินในเชียงตุง อันมีพื้นพำนักอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำเขินหรือขืน กระทั่ง พ.ศ.2348 ปลายสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ หลังจากที่พระเจ้ากาวิละได้ขับไล่พม่าออกไปจากอาณาจักรล้านนาได้สำเร็จ บ้านเมืองมีความรกร้างชาวบ้านอพยพหนีภัยจากสงคราม พระเจ้ากาวิละพร้อมด้วยพระมหาอุปราชบุญทวงศ์ (บุญมา)และพระยาคำฝั้น พระอนุชายกทัพไปกวาดต้อนผู้คนจากเมืองยอง พอใกล้จะถึงเมืองยองก็ได้ตั้งทัพอยู่นอกเมืองและส่งพระราชสาสน์ถึงเจ้าหลวงเมืองยองว่า “บัดนี้เราพระมหาอุปราชแห่งนครเชียงใหม่ ได้รับบัญชาจากพระเจ้ากาวิละ ได้ยกทัพมาถึงนอกเมืองแล้ว จะทำการรบหรือสวามิภักดิ์เสียโดยดี” ส่วนเจ้าหลวงเมืองยองคิดว่าตนเองมีกำลังน้อยหากเกิดการต่อสู้ไปจะทำให้เกิดการล้มตาย จึงได้ตอบพระราชสาสน์ไปว่า “เมิงยอง ไม่ประสงค์จะทำการฮบ ขอหื้อพระเจ้าเจียงใหม่ยกทัพเข้ามาในเมิงได้”
พระมหาอุปราชพักอยู่ในเมืองยองนานถึง 1 เดือน จึงได้ยพทัพไปตีเมืองยู้ เมืองหลวย เมืองลวง เมืองวะ เมืองเลน เมืองของและกวาดต้อนเอาผู้คนมา พอกลับมาถึงเมืองยองก็ประกาศว่า บัดนี้เราจะอาพวกท่านทั้งหลายไปอยู่เมืองลำพูน ถ้าใครไม่ไปให้โกนหัวเสีย ชาวยองกลัวว่าจะได้มาเมืองลำพูนจึงพากันโกนหัวเสียเป็นส่วนมาก คงเหลือเพียงเล็กน้อยที่สมัครใจมา ฝ่ายพระมหาอุปราชคิดว่า ถ้าเอาพวกที่ไม่โกนหัวไปคนพวกนี้หัวแข็ง จึงได้เปลี่ยนใจเอาคนที่โกนหัวทั้งหมดเพราะเป็นคนหัวอ่อนว่าง่าย
เมื่อกลับมาถึงเมืองลำพูน พระเจ้ากาวิละจึงได้ให้คนที่กวาดต้อนมาจากเมืองลวงไปอยู่ที่ดอยสะเก็ด ส่วนคนเมืองยู้ให้ไปอยู่ที่บ้านยู้ บ้านหลวย คนจากเมืองวะเมืองเลนให้ไปอยู่ที่เชียงใหม่ ส่วนคนยองให้กระจายไปอยู่ตามที่ต่าง ๆ ในเมืองลำพูน เช่น ป่าซาง สบทา ประตูป่า แม่ทา เป็นต้น พระเจ้ากาวิละทรงคิดว่าเจ้าหลวงเมืองยองนี้ดีที่ยอมสวามิภักดิ์แต่โดยดี จึงได้สร้างเวียงยองขึ้นบริเวณริมฝั่งตะวันออกแม่น้ำกวง ให้เจ้าเมืองยองไปอยู่ และหากจะกล่าวว่าลูกหลายชาวเวียงยองในปัจจุบันสืบเชื้อสายมาจากเจ้าหลวงเมืองยองก็คงไม่ผิดนัก
การเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวยองในเมืองลำพูน เมื่อปี พ.ศ.2348 นั้น ชาวยองกลุ่มแรกที่เข้ามาได้แยกย้ายกันออกไปตั้งถิ่นฐานในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำต่าง ๆ ในเมืองลำพูน จะมีเพียงผู้คนที่อพยพมาจากเมืองเชียงใหม่พร้อมกับเจ้าคำฝั้น ประมาณ 500 คนและมาจากเมืองลำปางพร้อมเจ้าบุญมาอีก 500 คนตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตกำแพงเมืองหรือใกล้ตัวเมือง ซึ่งกลุ่มคนที่มาจากเมืองยองประกอบด้วย เจ้าเมืองยอง บุตร ภรรยา ญาติพี่น้อง รวมถึงขุนนางต่าง ๆ
การแบ่งไพร่พลคนยองในการตั้งถิ่นฐานที่เมืองลำพูน เจ้าหลวงคำฝั้นเจ้าเมืองลำพูนให้พญามหิยังคบุรี เจ้าเมืองยองและน้องอีก 3 คนตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ริมฝั่งแม่น้ำกวงด้านทิศตะวันออกติดกับเมืองลำพูนที่บ้านเวียงยอง ให้ผู้คนที่อพยพมาจากเมืองยู้ เมืองหลวย ตั้งถิ่นฐานอยู่นอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อให้ชุมชนเหล่านี้มีหน้าที่ทอผ้าให้กับเจ้าเมืองลำพูน
อย่างไรก็ตามการตั้งถิ่นฐานของชาวยองจะเป็นการตั้งถิ่นฐานและขยายตัวของชุมชนตามแนวลำน้ำที่เหมาะสมในการเกษตรเป็นสำคัญ จากหมู่บ้านหลักในลุ่มแม่น้ำกวงบ้านเวียงยอง บ้านยู้ บ้านหลวย บ้านตองได้ขยายตัวออกไปเป็นบ้านหลิ่งห้า(ศรีบุญยืน) เขตลุ่มแม่น้ำปิงห่างจนถึงบ้านหนองหมู บ้านป่าลาน ป่าเห็ว เป็นต้น นอกจาการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวยองในลำพูน ซึ่งถือเป็นประชากรส่วนใหญ่ของเมืองลำพูนแล้ว ยังปรากฏมีชาวไตเขินจากเชียงตุงมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านสันดอนรอมในเขตนอกกำแพงเมืองด้านทิศใต้อีกด้วย
ปัจจุบันตำบลเวียงยองมีประชากรทั้งสิ้น 5,847 คน อาชีพที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของตำบลเวียงยองคือ การทอผ้าฝ้ายยกดอก ซึ่งได้รับการคัดสรรให้เป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP ) ระดับ 5 ดาว สร้างชื่อเสียงให้กับตำบลเวียงยองและจังหวัดลำพูนเป็นอย่างมาก
แต่เดิมการทอผ้าฝ้ายมักนิยมทำกันเฉพาะในคุ้มเจ้า เพราะผ้าฝ้ายเป็นผ้าที่มีเนื้อแวววาว ได้รับการยกย่องว่าเป็นแพรพรรณชั้นสูง สมัยโบราณบุคคลที่สวมผ้าฝ้ายจะต้องเป็นบุคคลในระดับสูงเช่น เจ้าเมืองหรือเจ้านายชั้นผู้ใหญ่เท่านั้น หลังจากที่มีการฝึกสอนการทอผ้าในคุ้มหลวงลำพูนขึ้น โดยเจ้าหญิงส่วนบุญ ชายาของเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าหลวงลำพูนและพระธิดาคือเจ้าหญิงลำเจียก การทอผ้าฝ้ายยกดอกจึงได้แพร่หลายออกไปในบริเวณใกล้เคียง ได้แก่ ชุมชนบ้านเวียงยอง
สำหรับการทอผ้าฝ้ายยกดอกของบ้านเวียงยอง (วัดต้นแก้ว) ได้รับการสนับสนุนจากท่านพระครูไพศาลธีรคุณ เจ้าอาวาสวัดต้นแก้ว ซึ่งเป็นเสมือนครูภูมิปัญญาท้องถิ่นอีกท่านหนึ่งที่ได้ให้ความสำคัญกับการทอผ้าของกลุ่มผู้สูงอายุ ท่านเห็นว่ากลุ่มผู้สูงอายุเหล่านี้ยามว่างจากการทำงานบ้านก็สามารถใช้เวลาว่างมารวมกลุ่มเพื่อทอผ้าฝ้ายยกดอก จำหน่ายให้กับผู้สนใจและนักท่องเที่ยว
พระครูไพศาลธีรคุณเล่าว่า ผ้าฝ้ายทอยกดอกของวัดต้นแก้วเคยนำไปถวายแด่พระองค์โสมสวลี พระวรราชาธินัดดามาตุ และยังเคยนำไปถวายหม่อมเจ้าหญิงจันทรยุคล เมื่อคราวเสด็จมาเยือนจังหวัดลำพูน จนทำให้ผ้าฝ้ายทอยกดอกของวัดต้นแก้วมีชื่อเสียงเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนั้นการดำเนินงานของกลุ่มทอผ้ายกดอกวัดต้นแก้วยังได้รับการสนับสนุนจากศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอเมืองลำพูน โดยให้กับสนับสนุนการเผยแพร่และจัดสอนให้กับกลุ่มอาชีพและผู้ที่สนใจศึกษาเกี่ยวกับผ้าฝ้ายยกดอก ปัจจุบันสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำพูนได้จัดตั้งให้ศูนย์ทอผ้าฝ้ายยกดอกวัดต้นแก้วเป็นคลังสมองท้องถิ่นของตำบลเวียงยอง ทั้งนี้เพื่อสืบทอดวัฒนธรรมการทอผ้าของชาวยองในจังหวัดลำพูนเอาไว้

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]
30/1/60

ร่วมแสดงความคิดเห็น