กำแพงเก่าเวียงป่าซาง…สมัยพระเจ้ากาวิละ

ในรายงานการสำรวจโบราณสถานซึ่งห้างหุ้นส่วนจำกัดเฌอกรีนร่วมกับเทศบาลตำบลป่าซางได้สำรวจแนวกำแพงโบราณของเวียงป่าซาง (เวียงเวฬุคาม) พบว่าเวียงป่าซางมีผังเมืองเป็นรูปวงรี ซากกำแพงจมอยู่ในชั้นดินก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่ สูงประมาณ 1 เมตร กว้าง 3 เมตร มีความสมบูรณ์ 50 % คันน้ำคูดินตามแนวเดิมนั้นเคยไหลเป็นวงโค้งโอบรอบกำแพงเวียงขึ้นมาจากทิศใต้สู่ทิศเหนือปัจจุบันเริ่มตีบตัน ส่วนบริเวณด้านทิศตะวันตกของคูเมืองซึ่งเป็นตำแหน่งท้องคูในสมัยโบราณได้ถูกถมทับเป็นถนนคอนกรีต นอกจากนั้นระหว่างแนวกำแพงด้านทิศตะวันตก พบร่องรอยของป้อมปราการก่อด้วยอิฐเป็นรูปเกือกม้า จำนวน 5 ป้อม

หากจะกล่าวถึงความสำคัญของเวียงป่าซาง พบว่าก่อนการใช้เวียงป่าซางเป็นที่ตั้งทัพในการขับไล่พม่าออกจากล้านนาของพระเจ้ากาวิละนั้น เวียงป่าซางเคยเป็นเมืองโบราณที่ถูกใช้เป็นยุทธภูมิการต่อสู้ระหว่างพม่าและล้านนามาตั้งแต่ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 23 นอกจากนั้นจากการสำรวจของนักโบราณคดียังพบว่าในเขตเวียงป่าซางและบริเวณโดยรอบมีร่องรอยของโบราณสถานที่มีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 – 22 มาก่อน

ชื่อของเวียงป่าซางปรากฏเป็นครั้งแรกในช่วง พ.ศ.2270 ครั้งที่เมืองเชียงใหม่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า ในช่วงเวลาดังกล่าวบ้านเมืองต่างในล้านนาเกิดการจราจลเนื่องจากการแก่งแย่งอำนาจของขุนนางพม่าและขุนนางล้านนา ช่วงเวลานั้นเทพสิงห์ได้ตั้งตนเป็นคนบุญซ่องสุ่มอำนาจขึ้นที่เมืองยวม มังแรนะร่าขุนนางพม่าซึ่งเวลานั้นครองเมืองเชียงใหม่ ได้วางอุบายเพื่อฆ่าเทพสิงห์จึงได้ให้คนไปเชิญเทพสิงห์เข้ามาเชียงใหม่ แต่เทพสิงห์รู้ความจริงเข้าจึงได้หลบหนีไป ต่อมาไม่นานเทพสิงห์ยกกำลังเข้ามาตีเมืองเชียงใหม่ทางทิศใต้ด้านประตูหายยาจนสามารถชนะพม่า เทพสิงห์เข้าเมืองเชียงใหม่ได้ไม่นานก็ถูกทัพของเจ้าองค์นก เชื้อสายลาวล้านช้างซึ่งสวามิภักดิ์ต่อพม่าเข้าขับไล่ ขุนนางพม่าทั้งหลายจึงยกให้เจ้าองค์นกขึ้นเป็นเจ้าองค์ดำครองเมืองเชียงใหม่

ช่วงเวลานี้อำนาจของพม่าที่ปกครองเมืองเชียงใหม่อยู่ในภาวะอ่อนแอ ก่อให้เกิดการจราจลในหัวเมืองต่าง ๆ ที่นครลำปางเกิดตนบุญวัดนายางขึ้น ท้าวมหายศเมืองลำพูนจึงยกทัพเข้ากวาดล้างและทำการกดขี่ข่มเหงชาวลำปาง ต่อมาได้ถูกหนานทิพช้างชาวบ้านปงยางคกรวบรวมชาวบ้านปราบปรามจนสำเร็จและได้รับการสถาปนาเป็นพระยาสุลวะฤาไชยสงคราม ครองเมืองลำปางใน พ.ศ.2275 ต่อมาได้เข้าสวามิภักดิ์กับพระเจ้าอังวะและได้รับพระราชทานนามว่า “เจ้าพระยาไชยสงคราม”

ปี พ.ศ.2312 พระเจ้าอังวะได้แต่งตั้งโป่มะยุง่วนขึ้นครองเมืองเชียงใหม่ โป่มะยุง่วนกระทำการกดขี่ชาวล้านนาเป็นอันมาก พระยาจ่าบ้านและเจ้ากาวิละจึงได้เข้าพึ่งพระบรมโพธิสมภารต่อพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงได้ร่วมกับทัพหลวงกรุงธนบุรีขับไล่พม่าออกจากเมืองเชียงใหม่ โดยท่านได้มาตั้งทัพอยู่ที่เวียงป่าซางเพื่อรวบรวมกำลังพล หลังที่ขับไล่พม่าอกจากเมืองเชียงใหม่ได้แล้ว พระยาจ่าบ้านได้รับการสถาปนาให้เป็น “พระยาวิเชียรปราการ” ขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองเมืองเชียงใหม่ ส่วนพระเจ้ากาวิละสถาปนาเป็น “พระยาวชิรปราการ”

หลังจากที่พระยาวิเชียรปราการถึงแก่พิราลัย พระยาวชิรปราการ (พระเจ้ากาวิละ) จึงได้รับโปรดเกล้าฯขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ในปี พ.ศ.2325 ในครั้งนั้นเมืองเชียงใหม่มีสภาพปรักหักพัง เป็นเมืองร้างไม่มีผู้คนอาศัยอยู่เนื่องจากผลสงครามที่มีต่อเนื่องยาวนานกว่า 200 ปี ท่านจึงได้นำไพร่พลมาตั้งมั่นที่เวียงป่าซางก่อนที่จะออกไปตีเมืองยอง เมืองสาด เมืองวะ เมืองพยาก เมืองเชียงตุงจนถึงสิบสองปันนา เกณฑ์ผู้คนมาไว้ที่เชียงใหม่ อันเป็นนโยบาย “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” หลังจากนั้นพระยาวชิรปราการจึงได้รวบรวมไพร่พลแล้วเสด็จเข้าประทับที่เมืองเชียงใหม่ ส่วนเมืองลำพูนได้รับการฟื้นฟูจัดตั้งเป็นบ้านเมืองขึ้นใหม่ในปี พ.ศ.2348 โดยมีพระยาบุรีรัตน์คำฝั้น นำชาวบ้านจากเชียงใหม่ 500 ลำปาง 500 และชาวยองที่ได้จากการกวาดต้อนเทครัวมาจากเมืองยองให้มาตั้งถิ่นฐานอยู่ในลำพูนและป่าซาง

จากบันทึกของ ดร.ริชาร์ดสัน พ่อค้าชาวอังกฤษที่เดินทางเข้ามาเมืองลำพูน เมื่อปี พ.ศ.2372 สมัยพระยาอุปราชน้อยอินทร์ เป็นเจ้าหลวงลำพูน พบว่าในขณะนั้นลำพูนมีประชากรราว 14,000 คน ขณะที่ในบันทึกของร้อยโท W.C.Mcleod ซึ่งนำพ่อค้าชาวอังกฤษมาสำรวจเส้นทางการค้าในเขตเชียงใหม่ – ลำพูน ราวพ.ศ.2379 – 2380 ระบุว่าผู้คนในแถบป่าซางนิยมตั้งบ้านเรือนในหมู่บ้านที่ทำนาในที่ลุ่มแม่น้ำทา ในหมู่บ้านเหล่านี้มีวัด มีระบบเหมืองฝาย มีลำเหมืองหลายสายแยกตัวออกจากน้ำแม่ทาเพื่อใช้ในการเพาะปลูก

ต่อมาในปี พ.ศ.2445 สมัยเจ้าอินทยงยศโชติ (เจ้าน้อยหมวก)รัฐบาลกลางได้จัดให้มีการบริหารราชการระดับเมืองให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการบริหาร หรือ เค้าสนามหลวง โดยให้แบ่งเขตการปกครองเมืองลำพูนออกเป็น 2 แขวงคือ แขวงลำพูนและแขวงเมืองลี้ โดยเวียงป่าซางขึ้นอยู่กับการปกครองของแขวงลำพูน ต่อมาท่านจึงได้ขออนุญาตจากกระทรวงมหาดไทยแยกแขวงใหม่ขึ้นอีก 1 แขวงคือแขวงปากบ่องริมฝั่งแม่น้ำปิงใกล้สบทา กระทั่งได้ย้ายที่ทำการแขวงไปยังเวียงป่าซางและเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอป่าซางในปี พ.ศ.2495

ข่าวการค้นพบแนวกำแพงโบราณของเวียงป่าซาง จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจนำไปสู่การย้อนรอยประวัติศาสตร์เมื่อครั้งที่พระเจ้ากาวิละเข้ามาตั้งทัพที่เวียงแห่งนี้เมื่อราว 200 กว่าปีที่ผ่าน การค้นพบครั้งนี้มิเพียงแต่เป็นการปลุกกระแสให้ชาวป่าซางเห็นความสำคัญในฐานะเมืองประวัติศาสตร์เก่าแก่แล้ว ยังเป็นจุดเริ่มต้นในการนำป่าซางให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญได้ดีพอ ๆ กับเวียงกุมกามก็เป็นได้

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น