เปิดประตูสู่แม่แจ่ม… ตำนานเมืองลึกลับที่ซ่อนเร้นมากว่า 700 ปี

เมื่อพูดถึงอำเภอแม่แจ่ม คนทั่วไปอาจไม่ค่อยคุ้นหู แม้แต่คนในจังหวัดเชียงใหม่เองบางท่านอาจไม้รู้ด้วยซ้ำว่าอำเภอนี้อยู่ส่วนไหน…อำเภอแม่แจ่มตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดเชียงใหม่ หลังดอยอินทนนท์ ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 150 กม. มีเขตติดต่อกับอำเภอสะเมิง แม่วาง จอมทอง ฮอด จังหวัดเชียงใหม่และอำเภอแม่สะเรียง ขุนยวม ปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ด้านภูมิศาสตร์พื้นที่ส่วนมากเป็นป่าดิบชื้น มีที่ราบระหว่างหุบเขาเหมาะกับการปลูกพืชผักทางการเกษตร ลักษณะภูมิประเทศมีภูเขา หุบเขาล้อมรอบตัวอำเภอแม่แจ่ม สันนิษฐานว่าแม่แจ่มมีผู้อยู่อาศัยมากว่า 2,000 ปีมาแล้ว เมื่อประมาณร้อยปีที่แล้วพื้นที่อำเภอแม่แจ่มยังคงเป็นถิ่นทุรกันดาร ซึ่งมีเจ้าหน้าที่จากอำเภอต้องออกไปสำรวจประชากรตามหมู่บ้านต่าง ๆ ต้องเดินทางด้วยเท้าหรือขี่ม้า ไปตามหมู่บ้าน ผู้คนส่วนมากไม่ได้เรียนหนังสือ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอำเภอแม่แจ่มเป็นอย่างมาก
ในอดีตอำเภอแม่แจ่มได้ชื่อว่าเป็นเมืองปิด ที่ไม่สามารถติดต่อสื่อสารกับภายนอกได้ วิถีชีวิตของคนในแม่แจ่มยังคงใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย มีวัฒนธรรมประเพณีที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษนับร้อยปี ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเสมือนกฏหมายจารีตให้กับคนแม่แจ่ม โดยผู้คนจะมีความละอายและมีจิตสำนึกในตนเอง การละเมิดจารีตประเพณีหรือการกระทำต่าง ๆ ที่ออกนอกลู่นอกทาง สังคมเมืองแม่แจ่มสมัยนั้นยึดมั่นอยู่ในหลักจารีตที่คนเฒ่าคนแก่ยึดถือปฏิบัติและปกครองคนเมืองแจ่มให้มีความสงบร่มเย็นให้อยู่ในหลักจริยธรรมและคุณธรรม

เรื่องเล่าของเมืองแม่แจ่มมีผู้ศึกษาประวัติศาสตร์เมืองแจ่มเล่าต่อ ๆ กันมาถึงสภาพความเป็นจริงของคนแม่แจ่มวันนี้ ป้าฝอยทอง สมวถา เจ้าของโรงเรียนเมืองเด็กวิทยา ในฐานะรองประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอแม่แจ่ม ซึ่งเป็นคนแม่แจ่มโดยกำเนิดเล่าว่า เมืองแจ่มเมื่อก่อนเป็นเมืองของลัวะ เมื่อพูดถึงชาวลัวะยังคงเป็นปริศนาในเรื่องราวของประวัติศาสตร์ เมื่อก่อนสันนิษฐานได้ว่าเป็นผู้ทรงอิทธพลต่อการปกครองในเมืองเชียงใหม่และมีความเจริญรุ่งเรืองในประเพณีวัฒนธรรมและภูมิปัญญา เครื่องประดับต่าง ๆ เป็นต้น
จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าคนหนึ่งว่า เมื่อก่อนชาวลัวะอยู่หัวเมืองต่าง ๆ ของจังหวัดเชียงใหม่ สร้างเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรือง ตอนหลังมีศึกสงครามกลางเมือง จึงหนีออกจากตัวเมืองต่าง ๆ โยกย้ายถิ่นฐานขึ้นไปอยู่ตามป่าตามเขา เอาเครื่งประดับของมีค่าฝังไว้ในดิน ซึ่งเรื่องบอกเล่ากันว่า มีสัตว์ประหลาดอยู่ตัวหนึ่ง ถ้าร้องขึ้นมาชาวลัวะที่ได้ยินเสียงสัตว์ประหลาดตัวนี้จะต้องเจ็บป่วยล้มตาย กระทั่งมีอยู่วันหนึ่งสัตว์ประหลาดตัวนี้ได้ร้องลั่นป่า ชาวลัวะได้ยินก็ล้มป่วย ตายสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้เมื่อราว 1,500 กว่าปีที่แล้ว ซึ่งปัจจุบันมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์หลงเหลือมากมาย เช่น หม้อดิน ถ้วยชาม เครื่องประดับต่าง ๆ เป็นต้น ปัจจุบันชาวลัวะถือเป็นชนกลุ่มน้อยที่ยังคงอยู่ในอำเภอแม่แจ่มแห่งนี้
แม่แจ่มในปัจจุบันมีวัฒนธรรมประเพณีของกลุ่มชนต่าง ๆ ที่หลากหลาย แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคในการอยู่ร่วมกัน ความแตกต่างดังกล่าวกลับเป็นจุดเด่นที่สร้างสีสันในวัฒนธรรมประเพณีที่หลากหลาย ผู้คนใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข มีควาเอื้ออาทร น้ำใจไมตรีที่ดีงามบนพื้นฐานของคุณธรรมและจริยธรรม คงต้องฝากอนาคตแม่แจ่มไว้กับคนรุ่นหลังที่จะรักษาสืบทอดขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงาม ให้คนรุ่นใหม่ได้สืบสานประเพณีดั้งเดิมของคนแม่แจ่ม ซึ่งนับวันก็เริ่มผสมผสานกับวัฒนธรรมภายนอกมากขึ้น แม่แจ่มวันนี้ค่อย ๆ เปลี่ยนไปจากวิถีชีวิตดั้งเดิม คนแม่แจ่มเท่านั้นที่จะปกป้องวิถีชีวิตที่ดีไว้ให้แม่แจ่มตราบนานเท่านั้น

เมืองแม่แจ่มในวันนี้อาจไม่ใช่เมืองปิดอีกต่อไป มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคโลกาภิวัฒน์ แต่ยังคงรักษาความเป็นเสน่ห์ของคนแม่แจ่มที่มีรอยยิ้มอันงดงาม อบอุ่นด้วยน้ำใจ ไม่มีการแข่งขัน มีแต่ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ภาพเช่นนี้อาจหาชมได้ไม่ง่ายนักในสังคมเมืองขนาดใหญ่ ทว่ากลับพบเห็นได้อย่างง่ายดายในยามที่คุณเดินทางมาเยือนเมืองในโอบล้อมของขุนเขานาม “แม่แจ่ม”

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
jakrapong@chiangmainews
26/12/59

เรื่องเล่าจากเมืองแจ๋ม เรียบเรียงโดยพระใบฏีกา วชิรญาโณ
ตามตำนานเล่าขานกันว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้ากับพระมหากิจจายนะ ได้จารึกผ่านมาทางที่ราบลุ่มน้ำแจ่ม (บริเวณวัดพระธาตุช่างเคิ่ง) ได้พบกับสิงห์สองพี่น้องกำลังต่อสู้กัน พระพุทธเจ้าจึงทรงหยุดแล้วไต่ถามได้ความว่า สิงห์สองพี่น้องต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่ เป็นผู้ปกครองในพื้นที่นี้ เมื่อได้ความเช่นนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงแบ่งพื้นที่การปกครองให้โดยถามพ่อค้าที่ผ่านมาทางนั้นว่าขุนน้ำกับสบน้ำครึ่งกันตรงไหน พ่อค้าบอกว่าตรงนี้แหละ พระพุทธเจ้าจึงเอาไม้ขีดเป็นรอยแล้วให้สิงห์ผู้พี่ปกครองเขตเหนือและสิงห์ผู้น้องปกครองเขตใต้
พระศาสดาได้ให้พระเกศาจำนวน 8 เส้น จึงได้สร้างสถูปบรรจุไว้ จากนั้นได้ทำการบูรณะจนกลายเป็นพระธาตุช่างเคิ่งและปั้นรูปพระกิจจายนะไว้ด้วย ต่อมารอยขีดที่พระพุทธเจ้าทรงขีดไว้นั้นกลายเป็นลำห้วยเล็ก ๆ ชาวบ้านเรียกชื่อว่า ห้วยชั่งเคิ่ง ซึ่งมีความหมายว่าลำน้ำแบ่งครึ่งที่ตรงนั้น กระทั่งต่อมามีการเรียกชื่อลำห้วยนี้เพี้ยนเป็น ห้วยช่างเคิ่ง
เช้าวันต่อมาพระพุทธเจ้าได้เสด็จออกบิณฑบาตโปรดสัตว์ มีย่าลัวะเฒ่าคนหนึ่ง นำปลาปิ้งครึ่งตัวมาใส่บาตร พระพุทธเจ้าจึงตรัสถามกลับไปว่า ปลาอีกครึ่งไปมีไหน ย่าลัวะจึงตอบว่า เก็บไว้ให้หลาน เมื่อพระพุทธเจ้าได้ยินเช่นนั้นจึงรำพึงว่า “บ้านนี้เมืองนี้มันแจ๋ม แต๊นอ” ต่อมาดินแดนแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า “เมืองแจ๋ม” (คำว่า “แจ๋ม” เป็นภาษาลัวะ แปลว่า มีน้อยไม่เพียงพอ ต่อมาคนไตญวน มาอยู่จึงเรียกชื่อตามสำนวนไตว่า “เมืองแจ๋ม” และเพี้ยนเป็น “แม่แจ่ม” ถือเป็นชื่อมงคลให้เมืองนี้มีความรุ่งเรืองแจ่มใส

ร่วมแสดงความคิดเห็น