เชียงใหม่ ได้อานิสงค์จากฝน แม่งัดรับเต็มยอด เก็บรวมได้เกือบครึ่งอ่างฯ สั่งจับตา 3 อ่างขนาดกลาง ยอดเก็บน้ำเกินร้อยละ 80

พายุเข้าเชียงใหม่ที่ผ่านมาได้ผล อ่างเก็บน้ำทุกขนาดรับอานิสงค์ถ้วนหน้า เขื่อนแม่งัดรอบ 7 วันที่ผ่านมา รับน้ำเข้าอ่างกว่า 12.6 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำกักเก็บแล้วเกือบครึ่งอ่างราว ร้อยละ 48 ส่วนเขื่อนแม่กวงรับเข้ากว่า 8 ล้าน ลบ.ม. แต่ยอดน้ำกักเก็บรวม ยังต่ำกว่าเกณฑ์ระดับน้ำต่ำสุด พร้อมสั่งจับตา 3 อ่างเก็บน้ำขนาดกลางมีน้ำเกินกว่า ร้อยละ 80 ที่อ่างแม่ข้อน เชียงดาว มียอดน้ำกักเก็บสูงกวา ร้อยละ 83 รวมทั้งอ่างแม่ตะไคร้ และอ่างสันหนอง ชป.1 ชี้ในเขตบริการพื้นที่ 3 จังหวัดเพาะปลูกแล้วแค่ ร้อยละ 44 เท่านั้น เฉพาะพื้นที่เชียงใหม่ ปลูกข้าวไปแล้ว 12,258 ไร่

ที่ศูนย์ประมวลและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ สำนักงานชลประทานที่ 1 นายจานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผอ.สำนักงานชลประทานที่ 1 หรือ ผส.ชป.1 กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ว่า จากข้อมูลสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่า วันที่ 31 ก.ค.60 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทย ยังมีกำลังแรง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบน การกระจายของฝนลดน้อยลง ภาคเหนือตอนบนมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ สำหรับ จ.เชียงใหม่ มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่

ทั้งนี้ในช่วงวันที่ 1–5 ส.ค.60 นี้ จะมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พัดปกคลุมทะเลอันดามันมีกำลังปานกลาง จะทำให้ประเทศไทยมีฝนกระจาย  และมีฝนตกหนักบางแห่งในบริเวณภาคเหนือ ที่ผ่านมาพายุไต้ฝุ่นเนสาท หรือ NESAT บริเวณชายฝั่งตอนใต้ของประเทศจีน และพายุโซนร้อน“ไห่ถาง” ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะไต้หวัน โดยพายุทั้งสองไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย

“สำหรับฝนสะสมระหว่าง วันที่ 1 เม.ย. ถึงวันที่ 31 ก.ค.60 มีปริมาณสะสมรวม 816 มม. สูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ยที่มีปริมาณที่ 511 มม. ส่วนปริมาณและสภาพน้ำท่า พบว่าระดับแม่น้ำปิงวัดที่วงแหวนรอบ 3 อยู่ที่ระดับ 54.0 ลบ. ม.ต่อวินาที (ความจุลำน้ำ 490 ลบ.ม./วินาที) ส่วนปริมาณน้ำแม่แตงที่ฝายแม่แตง วัดได้ที่ 15.189 ลบ.ม./วินาที สำหรับปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดให้ทั้ง 2 แห่งมีน้ำเพิ่มขึ้นมากพอสมควร ที่เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ขณะนี้มีปริ มาณน้ำ 126 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 48 ของความจุอ่าง มากกว่าปี 2559 ถึง 67 ล้าน ลบ.ม. ยังสามารถรับน้ำได้อีก 139 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 52 ได้น้ำเพิ่มจากสัปดาห์ที่แล้ว 10.943 ล้าน ลบ.ม. น้ำไหลเข้าอ่างแม่งัดฯ ในรอบ 7 วันที่ผ่านมา 12.687 ล้าน ลบ.ม.

ส่วนที่เขื่อนแม่กวงอุดมธารา มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 54 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 20 ของความจุอ่าง มีปริมาณน้ำมาก กว่าปีที่แล้ว 6 ล้าน ลบ.ม. แต่ระดับน้ำยังต่ำกว่าเกณฑ์ระดับน้ำต่ำสุด หรือ Lower Rule Curve ซึ่งอยู่ที่ระดับ 63 ล้าน ลบ.ม. ที่เขื่อนแม่กวงฯ ยังรับน้ำได้อีกมากถึง 209 ล้าน ลบ.ม. และจากข้อมูลพบว่าน้ำเพิ่มจากสัปดาห์ที่แล้ว 6.144 ล้าน ลบ.ม. โดยมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างแม่กวงฯ ช่วง 7 วันที่ผ่านมาราว 8.814 ล้าน ลบ.ม.” ผส.ชป.1 กล่าว


นายจานุวัตรฯ กล่าวต่อว่า สำหรับปริมาณทั้ง 12 แห่งของ จ.เชียงใหม่ ภาพรวมมีปริมาณน้ำอยู่ที่ ร้อยละ 53 มี 3 แห่งที่มีปริมาณน้ำมากกว่า ร้อยละ 80 ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่ข้อน ต.เมืองงาย อ.เชียงดาว มีน้ำร้อยละ 83 อ่างฯ สันหนอง ต.ช่างเคิ่ง อ.แม่แจ่ม มีน้ำร้อยละ 81 และอ่างฯ แม่ตะไคร้ ต.ทาเหนือ อ.แม่ออน มีน้ำร้อยละ 80 ซึ่งอ่างเก็บน้ำทั้ง 3 แห่งนี้ได้ปรับให้เป็นอ่างฯ ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ มีการติดตามการเพิ่มขึ้นของปริมาณน้ำอย่างใกล้ชิด ส่วนอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำกับเก็บน้อยที่สุด ยังคงเป็นอ่างเก็บน้ำห้วยมะนาว อ.แม่วาง มีปริมาณน้ำเพียงแค่ร้อยละ 32 เท่านั้น ข้อมูลโดยสรุปแล้วในภาพรวมพบว่า อ่างฯ ที่มีปริมาณน้ำร้อยละ 30 ถึงร้อยละ 50 จำนวน 3 แห่ง มีระหว่างร้อยละ 50 ถึงร้อยละ 80 จำนวน 6 แห่ง และมากกว่าร้อยละ 80 มี 3 แห่ง

ผส.ชป.1 กล่าวอีกว่า ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กในพื้นที่ทั้ง 25 อำเภอของ จ.เชียงใหม่ทั้ง 115 แห่ง ที่มีปริมาณน้ำมากที่สุดอยู่ในพื้นที่ อ.กัลยานิวัฒนา มีมากถึงร้อยละ 89 และเป็นพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวัง โดยมีอ่างฯ ที่มีปริมาณมาก     กว่าร้อยละ 80 จำนวน 3 อำเภอ มีปริมาณน้ำร้อยละ 50 ถึงร้อยละ 80 จำนวน 13 อำเภอ ปริมาณร้อยละ 30 ถึงร้อยละ 50 มี 5 อำเภอ และปริมาณน้ำน้อยกว่า ร้อยละ 30 จำนวน 4 อำเภอ
“ขณะนี้ในเขตโครงการชลประทานขนาดใหญ่และกลาง ในเขตสำนักงานชลประทานที่ 1 ซึ่งรับชอบพื้นที่ จ.เชียง ใหม่ ลำพูน และแม่ฮ่องสอน เกษตรกรทำการเพาะปลูกแล้ว 221,404 ไร่ แยกเป็นข้าว 31,398 ไร่ พืชไร่-พืชผัก 9,483 ไร่ ไม้ผล 175,781 ไร่ บ่อปลา 4,413 ไร่ และพืชอื่นๆ อีก 329 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 44 ของแผนการเพาะปลูกในปี 2560 ซึ่งคาดจะมีการเพาะปลูกราว 501,183 ไร่ เฉพาะในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ มีการเพาะปลูกแล้ว 51, 276 ไร่ แยกเป็นปลูกข้าวแล้ว 12,258 ไร่ ปลูกพืชไร่-พืชผัก 2,200 ไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้น 36,461 บ่อปลา 333 ไร่ เพาะปลูกอื่นๆ อีก 24 ไร่” นายจานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผส.ชป.1 กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น