ศก.ภาคเหนืออิงปัจจัย ช่วยปรับตัวดีต่อเนื่อง

แบงก์ชาติเผยเศรษฐกิจภาคเหนือไตรมาส 2 ปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อนจากภาคเกษตรกรรม แต่ภาพรวมทั้งการลงทุนภาคเอกชนไม่ชัดเจน ในส่วนของการใช้จ่ายลงทุนภาครัฐยังต่ำกว่าเป้าหมาย และการส่งออกหลักของภาคเหนือ คือ การค้าผ่านด่านชายแดนไปสหภาพเมียนมา และ สปป.ลาว หดตัว ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจภาคเหนือในระยะต่อไป ต้องดูจากปัจจัยทั้งเศรษฐกิจโลกและอุปสงค์ภายในประเทศ หากไม่มีปัจจัยมากระทบและภาคการส่งออกปรับตัวดีขึ้นรวมถึงการท่องเที่ยวมีกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนทะลักมาต่อเนื่อง ภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจภาคเหนือจะปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 3 และ 4 อย่างแน่นอน

นายสิงห์ชัย บุณยโยธิน ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักงานภาคเหนือ ธนาคารแห่งประเทศไทย แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือไตรมาส 2 ปี 2560 ว่า ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยภาคเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้น ได้แก่ ภาคเกษตรกรรม โดยเฉพาะผลผลิตข้าวนาปรับดีขึ้นมากและอ้อยโรงงานเลื่อนการเก็บเกี่ยวในไตรมาสนี้ ผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเช่นกัน จากวัตถุดิบการเกษตรเพิ่มขึ้นข้างต้น ทำให้ปริมาณการสีข้าวและผลผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้น รวมถึงการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวได้ต่อเนื่อง ด้านการลงทุนภาคเอกชนแม้ปรับดีขึ้นแต่ยังไม่ชัดเจน โดยส่วนที่เพิ่มขึ้นเป็นการนำเข้าเครื่องจักรของธุรกิจผลิตเพื่อส่งออกเป็นสำคัญ ด้านการใช้จ่ายภาคเอกชนยังไม่เข้มแข็ง แม้มีการเพิ่มขึ้นของสินค้าคงทน จากยอดจดทะเบียนยานพาหนะเพิ่มขึ้น แต่ยอดขายสินค้าในชีวิตประจำวันยังฟื้นตัวช้า อย่างไรก็ดี ในส่วนของการใช้จ่ายลงทุนภาครัฐยังต่ำกว่าเป้าหมาย และการส่งออกหลักของภาคเหนือ ได้แก่ การค้าผ่านด่านชายแดนไปสหภาพเมียนมา และ สปป.ลาว หดตัว

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยทั่วไปของภาคเหนือยังอยู่ในเกณฑ์ดี พิจารณาจากอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ เงินเฟ้อลดลงจากราคาผักผลไม้ เนื้อสัตว์ ข้าวและแป้งลดลง รวมถึงน้ำมันเชื้อเพลิงชะลอตัว ยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อของสาขาธนาคารพาณิชย์ภาคเหนือหดตัวเล็กน้อย ขณะที่ยอดคงค้างเงินฝากชะลอตัว รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือ มีดังนี้

รายได้เกษตรกร เพิ่มขึ้นมากร้อยละ 64.0 จากระยะเดียวกันกับปีก่อน ส่วนสำคัญมาจากการผลผลิตสินค้าเกษตร เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 72.9 เนื่องจากผลผลิตข้าวนาปรังเพิ่มขึ้นกลับสู่ระดับปรกติจากฐานต่ำในปีก่อน และอ้อยโรงงานส่วนหนึ่งเลื่อนเก็บเกี่ยวช่วงปลายฤดูมาช่วงไตรมาสนี้ รวมถึงผลผลิตปศุสัตว์ทั้งไก่เนื้อและไข่ไก่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ราคาสินค้าเกษตร ส่วนใหญ่ต่ำกว่าปีก่อน ทำให้ดัชนีราคาสินค้าเกษตรหดตัวร้อยละ 5.3 ตามราคาข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และลำไย ปรับลดลงจากผลผลิตเพิ่มขึ้น ยกเว้นราคาอ้อยปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำตาลในตลาดโลก

ผลผลิตอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ10.9 จากระยะเดียวกันกับปีก่อน โดยเป็นการเพิ่มของผลผลิตหมวดอาหารเป็นสำคัญ ได้แก่ ผลผลิตการสีข้าวและสินค้าเกษตรแปรรูปสอดคล้องกับผลผลิตเกษตรที่ใช้เป็นวัตถุดิบเพิ่มขึ้น ผลผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้นจากปีนี้โรงงานเปิดหีบล่าช้า ทำให้ผลผลิตบางส่วนเลื่อนมาผลิตในไตรมาสนี้ ในส่วนผลผลิตอุตสาหกรรมอื่น ได้แก่ ผลผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเลนส์เพื่อส่งออกปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะประเภทแผงวงจรรวมที่ใช้ใน smartphone ชิ้นส่วนอุปกรณ์เซ็นเซอร์ในรถยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน โดยได้อานิสงค์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเซรามิกยังปรับตัว ลดลง

ภาคการท่องเที่ยว ขยายดีกว่าที่คาดไว้ แม้อยู่นอกฤดูกาลท่องเที่ยว ส่วนสำคัญจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนและภูมิภาคอื่นเพิ่มขึ้น โดยเครื่องชี้การท่องเที่ยวสำคัญ สูงกว่าระยะเดียวกันกับปีก่อน ได้แก่ จำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานในภาคเหนือ จำนวนเที่ยวบินตรงสู่ท่าอากาศภาคเหนือ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองเชียงใหม่ อัตราการเข้าพักของที่พักแรม ภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดโรงแรมและภัตตาคาร สอดคล้องกับยอดสินเชื่อที่ให้แก่ธุรกิจโรงแรมและภัตตาคารเพิ่มขึ้น
การลงทุนภาคเอกชน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 โดยปรับดีขึ้นในบางกลุ่มธุรกิจ ได้แก่ การลงทุนในภาคการผลิตเพิ่มขึ้นพิจารณาจากการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และแปรรูปเกษตรเพื่อส่งออก ยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์เพื่อใช้ในธุรกิจขนส่งและการค้า ขณะที่เครื่องชี้นำภาคการก่อสร้างขยายตัวในหมวดพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างประเภทอพาร์ทเม้นท์ อาคารพาณิชย์ และโรงแรม อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้ภาวะอสังหาริมทรัพย์ยังซบเซา โดยยอดคงค้างสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ที่แก่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ยังหดตัว สะท้อนจากการเปิดโครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่มีน้อยลง ขณะที่ยอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยชะลอลงจากไตรมาสก่อน

การบริโภคภาคเอกชน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ0.8 จากระยะเดียวกันปีก่อน ส่วนสำคัญมาจากการเพิ่มขึ้นของสินค้าคงทน โดยเฉพาะในหมวดยานพาหนะ ที่ผู้จำหน่ายเร่งส่งเสริมการขายในกลุ่มหลักๆ ได้แก่ผู้มีรายได้ประจำและภาคธุรกิจ ขณะที่ยอดขายสินค้าในชีวิตประจำวันยังหดตัว โดยเฉพาะหมวดเครื่องดื่มหดตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี สินค้าหมวดของใช้ในครัวเรือน เครื่องใช้ส่วนตัว และขนมขบเคี้ยว ปรับดีขึ้นเล็กน้อยในช่วงปลายไตรมาส ทั้งนี้การบริโภคโดยรวมยังฟื้นตัวช้า สะท้อนถึงกำลังซื้อครัวเรือนยังมีไม่ต่อเนื่อง ผลของรายได้ภาคเกษตรแม้ดีขึ้นแต่ยังไม่เพียงพอ เนื่องจากค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ทั้งด้านการศึกษาบุตร และภาระการชำระหนี้ยังสูง รวมถึงสินเชื่อในหมวดอุปโภคทั่วไปจากสถาบันการเงินมีความระมัดระวังขึ้น

การใช้จ่ายของภาครัฐแผ่วลงการคาด โดยการใช้จ่ายงบลงทุนภาครัฐ ลดลงร้อยละ 25.5 จากการใช้จ่ายเงินอุดหนุน รวมถึงโครงการก่อสร้างระบบถนนของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทเบิกจ่ายน้อยลง หลังจากเร่งเบิกจ่ายไปมากช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ นอกจากนี้โครงการของกลุ่มจังหวัดส่วนใหญ่อยู่ระหว่างขั้นตอนการจัดซื้อ    จัดจ้าง

มูลค่าการส่งออก ลดลงร้อยละ 1.1 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยมูลค่าหลักๆมาจากลดลงของยอดส่งออกสินค้าชายแดนไปสหภาพเมียนมา ในหมวดสินค้าประเภทโทรศัพท์พร้อมอุปกรณ์ เครื่องจักรกลการเกษตร และน้ำตาลทราย ประกอบกับการส่งออกสินอุปโภคบริโภค สุกรมีชีวิต และรถยนต์บรรทุก ไป สปป.ลาวก็ลดลงเช่นกัน เนื่องจากทางการจีนเข้มงวดการนำเข้าสินค้าผ่านช่องทางนี้มากขึ้น อย่างไรก็ดี การส่งออกชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไปตลาดเอเชียและเยอรมนีขยายตัวดี จากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญปรับดีขึ้น ด้านมูลค่าการนำเข้า เพิ่มขึ้นร้อยละ30.1 จาการนำเข้ากระแสไฟฟ้าจากสปป.ลาว และการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเพิ่มขึ้นเพื่อนำไปผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ส่งออก

เสถียรภาพเศรษฐกิจภาคเหนือโดยทั่วไป ยังอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราการว่างงาน ขยับขึ้นเล็กน้อยแต่ยังอยู่ในระดับต่ำ เพียงร้อยละ 1.14 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.3 จากราคาผักผลไม้ เนื้อสัตว์ ข้าว และแป้งปรับลดลง จากภาวะอากาศเอื้ออำนวยทำให้ปริมาณผลผลิตเกษตรเพิ่มขึ้น ประกอบกับผลของฐานสูงจากภาวะแล้งในปีก่อน รวมถึงราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชะลอตัว

ภาคการเงิน ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2560 สาขาธนาคารพาณิชย์ ในภาคเหนือมียอดคงค้างเงินให้สินเชื่อ 579,822 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 0.2 โดยมากหดตัวในภาคเหนือตอนล่าง ภาคธุรกิจที่สินเชื่อหดตัว ได้แก่อสังหาริมทรัพย์ ขนส่ง ธุรกิจการเงิน และภาคเกษตรกรรม ขณะที่สินเชื่อค้าปลีกค้าส่ง ก่อสร้าง อุตสาหกรรม และสินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัวเล็กน้อย อย่างไรก็ดี สินเชื่อธุรกิจโรงแรม และบริการสุขภาพขยายตัวดีใกล้เคียงไตรมาสก่อน สอดคล้องกับกิจกรรมท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวดี ด้านยอดเงินคงค้างเงินฝากมี 647,452 ล้านบาท ชะลอลงเหลือร้อยละ 1.2 ทั้งนี้ สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากเท่ากับร้อยละ 88.6 ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน

“แนวโน้มเศรษฐกิจภาคเหนือในระยะต่อไป ต้องดูจากปัจจัยหลายตัวที่ยังบอกได้ยาก โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจโลก และดีมานต์จากต่างประเทศ ซึ่งอุปสงค์ภายในประเทศต้องพิจารณาจากแนวโน้มการบริโภคของภาคเอกชน รวมถึงการลงทุน อย่างไรก็ตาม

หากไม่มีปัจจัยมากระทบและภาคการส่งออกปรับตัวดีขึ้นรวมถึงการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาต่อเนื่อง ภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจภาคเหนือจะปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 3 และ 4 อย่างแน่นอน” ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักงานภาคเหนือ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวสรุป.

ร่วมแสดงความคิดเห็น