สดร. เผย 2 ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์น่าติดตามช่วงต้นเดือนสิงหาคม

สดร. เผย 2 ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์น่าติดตามช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2560 ลุ้นฝนชม “จันทรุปราคาบางส่วน” วันที่ 8 สิงหาคม เวลาประมาณ 00:23-02:19 น. และ “ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์” หรือ ฝนดาวตกวันแม่ คืนวันที่ 12 จนถึงรุ่งเช้าวันที่ 13 สิงหาคม แต่แสงจันทร์รบกวนค่อนข้างมาก หากฟ้าใสไร้เมฆฝน ชมทั้ง 2 ปรากฏการณ์ได้ด้วยตาเปล่าทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

วันที่ 5 ส.ค.60 นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. เปิดเผยว่า ช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2560 มีปราฏการณ์ดาราศาสตร์ที่น่าติดตาม ได้แก่ ปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วน เช้ามืดวันที่ 8 สิงหาคม ตั้งแต่เวลาประมาณ 00:23-02:18 น. (ตามเวลาประเทศไทย) เกิดจากดวงจันทร์เคลื่อนผ่านเข้าไปในเงามืดของโลกบางส่วนทำให้มองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงมีลักษณะเว้าแหว่ง สามารถสังเกตได้ในยุโรป เอเชีย

ออสเตรเลีย แอฟริกา ทางตะวันออกในอเมริกาใต้ มหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรอินเดีย และแอนตาร์กติกา สำหรับประเทศไทยสามารถสังเกตเห็นได้ทั่วประเทศ ปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วนในครั้งนี้ เริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 22:51 น. ของวันที่ 7 สิงหาคม ดวงจันทร์เข้าสู่เงามัวของโลก เกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัว แสงสว่างของดวงจันทร์จะลดลงเล็กน้อย สังเกตด้วยตาเปล่าได้ค่อนข้างยาก จนกระทั่งเวลาประมาณ 00:23 น. ของวันที่ 8 สิงหาคม ดวงจันทร์เข้าสู่เงามืดของโลก เกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วน จะสังเกตเห็นดวงจันทร์เต็มดวง เว้าแหว่งไปทีละน้อย เงาโลกบังมากที่สุดประมาณร้อยละ 25 ของเส้นผ่านศูนย์กลางดวงจันทร์ ในเวลาประมาณ 01:21 น. จนสิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วนในเวลาประมาณ 02:19 น. ดวงจันทร์จะกลับมาปรากฏเต็มดวง รวมเกิดจันทรุปราคาบางส่วนนานเกือบ 2 ชั่วโมง จากนั้นดวงจันทร์เข้าสู่เงามัวของโลกอีกครั้ง และสิ้นสุดปรากฏการณ์โดยสมบูรณ์ในเวลาประมาณ 03:52 น.
สำหรับปรากฏการณ์จันทรุปราคาเกิดจากดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์โคจรมาอยู่ในแนวเดียวกัน มีโลกอยู่กลางระหว่างดวงดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ หากดวงจันทร์โคจรเข้าไปในเงามืดของโลกแค่บางส่วน เรียกว่า “จันทรุปราคาบางส่วน” หากดวงจันทร์โคจรเข้าไปอยู่ในเงามืดของโลกทั้งดวง เรียกว่า “จันทร์ทรุปราคาเต็มดวง” และปรากฏการณ์จันทรุปราคาครั้งต่อไป จะเกิดขึ้นในวันที่ 31 มกราคม 2561 ซึ่งเป็นจันทรุปราคาแบบเต็มดวงและสามารถสังเกตเห็นได้ในประเทศไทยและนอกจากนี้แล้ว อีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่น่าติดตาม คือ ปรากฏการณ์ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ หรือมักเรียกว่า ฝนดาวตกวันแม่ ในคืนวันที่ 12 สิงหาคม จนถึงรุ่งเช้าวันที่ 13 สิงหาคม คาดการณ์ว่าจะมีอัตราการตกสูงสุดประมาณ 100 ดวงต่อชั่วโมง มีศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณกลุ่มดาวเพอร์เซอุส บนท้องฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ สังเกตได้ด้วยตาเปล่า แต่เนื่องจากในวันดังกล่าวมีแสงจันทร์รบกวน ประกอบกับประเทศไทยอยู่ในช่วงฤดูฝนอาจทำให้สภาพท้องฟ้าไม่เอื้อต่อการสังเกตการณ์ฝนดาวตกมากนัก
ทั้งนี้ สำหรับฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์เกิดจากเศษฝุ่นละอองที่ดาวหางสวิฟท์-ทัตเทิล (109P/Swift-Tuttle) เหลือทิ้งไว้ในวงโคจรเมื่อ 25 ปีก่อน เมื่อโลกโคจรตัดผ่านเข้าไปในบริเวณที่มีเศษฝุ่นดังกล่าว จะดึงดูดเศษฝุ่นเหล่านี้เข้ามาในชั้นบรรยากาศ เกิดการลุกไหม้ เป็นแสงสว่างวาบบนท้องฟ้า ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์เป็นฝนดาวตกที่มีความสว่างเป็นอันดับสองรองจากฝนดาวตกลีโอนิดส์ มีสีสันสวยงาม สามารถสังเกตเห็นได้ในช่วงระหว่างวันที่ 17 กรกฏาคม – 24 สิงหาคมของทุกปี ประมาณวันที่ 12 – 13 สิงหาคม จะเป็นช่วงที่เกิดฝนดาวตกมากที่สุด และเนื่องจากในช่วงนี้พื้นประเทศไทยส่วนใหญ่อยู่ในช่วงฤดูฝน จึงต้องลุ้นกับสภาพอากาศซึ่งไม่เอื้ออำนวยต่อการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ ยกเว้นบริเวณภาคใต้ตอนล่างซึ่งฝนตกค่อนข้างน้อย จึงนับเป็นโอกาสดีสำหรับของชาวใต้ที่จะได้ชื่นชมความสวยงามของฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ได้ดีกว่าภูมิภาคอื่น

ร่วมแสดงความคิดเห็น