“เขมรัฐเชียงตุง” เมืองแห่งพุทธศาสนา ท่ามกลางไฟสงคราม

“เขมรัฐเชียงตุง”  ศิลปวัฒนธรรมและขนบประเพณีของชนกลุ่มตระกูล “ไท” หรือ “ไต” นั้นมีความละม้ายใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะเป็นไตลื้อ ไตใหญ่ ไตขึน ไตยอง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าบนแผ่นดินเมืองไต หรือ “เมิงไต” ในเขตรัฐฉานของพม่านั้น ในอดีตก่อนที่จะถูกพม่ายึดครองมีความร่มเย็นไพบูลย์เพียงใด

ความมั่งคั่งของรัฐเมิงไต ที่มีป่าไม้สีเขียว ภูเขาสีนํ้าเงิน เมื่อรวมเข้ากับศรัทธาอันแรงกล้าในพุทธศาสนาแล้ว ทำให้เกิดภาษิตเชิงอุปมาอุปมัยว่า  “อย่ากินอย่างม่าน (พม่า) ตานอย่างไต” เพราะพวกไตนั้น หามาได้สี่สตางค์ ทำบุญเสียแปดสตางค์

ภาษิตนี้อาจไม่เกินเลยความจริงนัก เมื่อผมได้เดินทางมาเยือนเมืองเชียงตุงในช่วงเวลาประเพณีเฉลิมฉลองงานบุญของชาวไทขึน ชนชาติที่มีคติความเชื่อว่า “เกิดมาชาติหนึ่งต้องทำบุญแก่ศาสนาตามลำดับให้ได้  คือ บวชเณร บวชพระ ถวายทานนํ้าอ้อยและทานเวสสันดร” งานบุญสำคัญเหล่านี้จะจัดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป อันทำให้นครรัฐเชียงตุงไม่เคยเงียบเหงาจากเสียงฆ้องกลอง รวมถึงผู้คนที่พร้อมใจกันออกมาร่วมงานอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง และนี่เป็นเพียงกิจกรรมหนึ่งที่พวกเขาจะได้แสดงออกถึงแรงศรัทธาต่อพุทธศาสนา โดยเฉพาะในวันสำคัญทางพุทธศาสนา เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา หรือแม้แต่งานประเพณีสำคัญๆ อย่าง ประเพณีตานนํ้าอ้อย ประเพณีบวชลูกแก้ว ที่ไม่ว่าจะเหลียวแลไปทางไหนก็มักจะพบเห็นใบหน้าผู้คนชาวไทขึนแห่งเขมรัฐเชียงตุง อิ่มเอิบด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใสทั้งสิ้น

 

ท่ามกลางแสงแดดอ่อนยามเช้า ขบวนแห่ลูกแก้วหรือส่างลองของชาวบ้านหนองตุงได้ปลุกให้เมืองทั้งเมืองคึกคักมีชีวิตชีวาอีกครั้ง ขบวนแห่ที่ยาวเหยียดเกือบหนึ่งกิโลเมตรทำให้การจราจรในตัวเมืองหยุดชะงักพอสมควร เพราะเมืองเชียงตุงเป็นเมืองเล็กๆ เมื่อมีขบวนแห่คราใด ก็ดูเหมือนว่าชาวบ้านจะออกมาร่วมขบวนกันเกือบทั้งเมือง นี่จึงมิใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด หากแต่คือวิถีชีวิตปกติที่พวกเขายึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน

ประเพณีบวชลูกแก้วหรือปอยส่างลองของชาวไทขึนเชียงตุงนั้นจัดขึ้นอย่างใหญ่โตมโหฬาร โดยขบวนแห่ลูกแก้วจะแห่ไปรอบเมืองเพื่อให้ชาวบ้านจากหมู่บ้านอื่นเข้ามาร่วมกันทำบุญ แต่ด้วยเงื่อนไขที่สิทธิ์และเสียงในบางด้านถูกปิดกั้น ประกอบกับแรงศรัทธาในศาสนาที่มีอยู่เต็มเปี่ยม การทำบุญสำคัญของพวกเขา จึงเป็นเรื่องที่ต้องเฉลิมฉลองแห่แหนกันอย่างเอิกเกริกเสมอ ดังนั้นงานบุญของเชียงตุงจึงคล้ายเป็นงานบุญชุมนุมเผ่าไท                ขบวนแห่ลูกแก้วที่แห่ไปรอบเมืองจะนำหน้าด้วยผู้เฒ่าผู้แก่ที่ในมือแต่ละคนถือเครื่องอัฐบริขาร จากนั้นตามหลังด้วยขบวนต้นเงินที่ให้หญิงสาวชาวไทขึนเป็นผู้ถือก่อนจะปิดท้ายด้วยขบวนของลูกแก้วหรือส่างลอง                  กิจกรรมที่เกื้อกูลต่อพระพุทธศาสนาของชาวไทขึนที่สำคัญและกลายเป็นเอกลักษณ์ของเชียงตุงอีกอย่างหนึ่งก็คือ ประเพณี “ตานนํ้าอ้อย” ซึ่งมีเพียงชาวไทขึนแห่งเชียงตุงที่ได้สืบทอดกันมาอย่างจริงจัง กล่าวกันว่านํ้าอ้อยบริสุทธิ์คือตัวแทนของความรักที่สดชื่นหอมหวานและการมีชีวิตคู่ที่ยืนยาว ดังนั้นเมื่อหนุ่มสาวคู่ใดแต่งงานกันแล้วก็จะต้องหาโอกาสทำทานถวายนํ้าอ้อยให้ได้

 

นอกเหนือจากวัฒนธรรมประเพณีที่โดดเด่นของชาวไทขึนแล้ว ความมั่งคั่งของวัดวาอารามชนิด “วัดชนวัด” กลายเป็นสิ่งดึงดูดให้ผู้คนจากต่างถิ่นเดินทางมาเยือนเมืองเชียงตุงอย่างไม่ขาดสาย พระอารามหลวงที่เนืองแน่นกว่า 20 แห่งรวมไปถึงวัดต่างๆ ที่กระจายอยู่ในเขตชานเมืองอีกกว่า 50 วัด ยืนยันความเป็นแว่นแคว้นดินแดนแห่งพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดี

ทุกๆ เช้าในตลาด (กาดหลวง) เมืองเชียงตุงจะคราครํ่าไปด้วยผู้คนจำนวนมากหลายเผ่าพันธุ์ ทั้งแม่ค้าชาวไทใหญ่ ไทขึน ไทลื้อ ปะปนกัน นับเป็นภาพที่มีการชุมนุมชนเผ่า “ไต” มากที่สุดแห่งหนึ่ง สินค้าพื้นเมืองถูกนำมาวางขายปะปนกับเครื่องใช้อุปโภคบริโภค ในจำนวนนี้มีสินค้านำเข้าทั้งจากประเทศไทย จีนและเวียดนาม อีกด้านหนึ่งของตลาดจะเป็นสินค้าประเภทผัก ปลาและสินค้าพื้นเมืองจำพวกยาสูบ รวมถึงของป่าหายากอีกหลายชนิด

กาดหลวงของเชียงตุงจะเริ่มตั้งแต่เช้ามืดเรื่อยไปจนถึงสายก่อนเที่ยง ที่นี่นอกจากจะมีสินค้าประเภทต่างๆ วางจำหน่ายแล้วยังมีร้านค้าขายอาหารพื้นเมืองหลายร้านอย่างเช่น นํ้าเงี้ยว ข้าวฟืนรวมถึงโรตีจากอินเดียที่ขายคู่พร้อมกับกาแฟ เครื่องดื่มจากต่างประเทศ

เชียงตุงในวันนี้ดูไม่แตกต่างไปจากเมืองเชียงใหม่เมื่อราว 50-60 ปีก่อน สภาพบ้านเรือนยังคงสภาพดั้งเดิมเอาไว้ วิถีชีวิตผู้คนยังคงได้รับการอนุรักษ์รักษา แม้ว่าสังคมในเชียงตุงบางส่วนได้เปลี่ยนแปลงไปรับเอาวัฒนธรรมจากตะวันตกเข้ามา สังเกตได้จากมีอาคารบ้านเรือนที่สร้างขึ้นตามแบบสมัยนิยม แต่ด้วยการดำรงชีวิตที่อิงแอบกับหลักธรรมคำสอนพุทธศาสนาเป็นเสมือนเกราะป้องกันอันเข้มแข็งต่อการเปลี่ยนแปลงจากสังคมภายนอก

 

10 ปีมาแล้วที่ผมมีโอกาสเดินทางมาเยือนเมืองเล็กๆ อันสงบเงียบกลางขุนเขาในเขตรัฐฉานของประเทศพม่า ซึ่งก่อนหน้านั้นมีนักเดินทางด้านศิลปวัฒนธรรมหลายท่านไม่ว่าจะเป็น บุญช่วย ศรีสวัสดิ์  นักเขียนสารคดีเกี่ยวกับวัฒนธรรมของชนเผ่าที่เคยมาเยือนเมืองแห่งนี้ครั้งแรกเมื่อราว 50 ปีก่อน  อาจารย์ทวี สว่างปัญญางกูร ผู้เชี่ยวชาญพงศาวดารเมืองเชียงตุง รวมถึงธีรภาพ โลหิตกุล นักเขียนสารคดีอิสระ ต่างลงความเห็นว่า นี่คือแว่นแคว้นอันไพบูลย์ของชนเผ่า “ไท” ที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น

เมืองเชียงตุง มีชื่อเรียกอยู่หลายชื่อทั้งเมืองเขิน เมืองขึน เมืองเขมรัฐ มีตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับเมืองนี้เมื่อราว 800 ปีก่อนว่า เกิดเหตุการณ์นํ้าท่วมทั้งใหญ่ขึ้น ณ ริมฝั่งลำนํ้าขึน แต่มีพระดาบสรูปหนึ่งนามว่า “ตุงคฤาษี” ได้แสดงอภินิหารให้นํ้าไหลออกไปเหลือไว้เพียงแค่หนองนํ้าใหญ่กลางใจเมือง ซึ่งกาลต่อมาได้ถูกขนานนามตามชื่อฤาษีรูปนั้นว่า “หนองตุง” และเป็นที่มาของชื่อเมืองที่มีความรุ่งเรืองเฟืองฟูริมหนองนํ้าแห่งนี้ว่า “เชียงตุง” หรือ “เขมรัฐตุงคบุรี”

เขมรัฐตุงคบุรี หรือ เชียงตุง แว่นแคว้นแห่งนี้มีตำนานการก่อกำเนิดมานานเกือบพันปี เป็นถิ่นที่อยู่ของชนกลุ่มตระกูลไทหรือไตกลุ่มหนึ่ง ที่เรียกตนเองว่า “ไทขึน” หรือ “ไทเขิน” ตามชื่อแม่นํ้าขึนที่ไหลหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนชาวเมืองมานานชั่วนาตาปี อีกทั้งใจกลางเมืองยังมีหนองนํ้าใหญ่ที่เรียกสืบต่อกันมาว่า “หนองตุง” หรือ “หนองตุ๋ง”

ด้วยความที่เมืองเชียงตุงเคยเป็นหัวเมืองเก่าแก่ของอาณาจักรล้านนาและมีประวัติการก่อตั้งเมืองในยุคสมัยใกล้เคียงกัน ทั้งยังมีเจ้าผู้ครองนครปกครองที่มาจากต้นตระกูลเดียวกันคือราชวงศ์มังราย จึงทำให้สองเมืองนี้มีความสัมพันธ์อันดีต่อกันจนแยกไม่ออก ยิ่งในระยะหลังราชสำนักเชียงใหม่กับเชียงตุงก็ยิ่งแน่นแฟ้นกันมากขึ้น เมื่อมีราชตระกูลของทั้งสองฝ่ายอภิเษกสมรสกัน เช่น เจ้าอินท นนท์ ราชบุตรของเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้ายสมรสกับเจ้านางสุคันธา ราชธิดาของเจ้าฟ้าเชียงตุง เจ้าทิพวรรณ ธิดาของเจ้าหลวงเมืองลำปาง อภิเษกสมรสกับเจ้าพรหมลือ ราชบุตรแห่งเจ้าก้อนแก้วอินแถลง เจ้าหลวงเมืองเชียงตุงและยังมีเจ้านายของทั้งสองราชตระกูลเกี่ยวดองกันอีกหลายท่าน

ยุคแห่งความรุ่งเรืองของราชสำนักเชียงตุงอยู่ในรัชสมัยของเจ้าก้อนแก้วอินแถลง ซึ่งทรงครองราชสมบัติในช่วงที่มหาอำนาจทางยุโรปกำลังขยายอำนาจในฐานะเจ้าอาณานิคม เมื่อราว 150 ปีก่อน เจ้าฟ้าของชาวไทเขินเชียงตุงพระองค์นี้ ทรงพระปรีชาสามารถและสร้างความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นในปี พ.ศ.2450 หลังจากที่เสด็จกลับจากการประชุมร่วมกับอังกฤษที่ประเทศอินเดียแล้ว พระองค์ยังได้สร้างพระราชวังหลวง หรือ  “หอหลวง” ด้วยรูปทรงสถาปัตยกรรมแบบอินเดียประยุกต์ผสมกับศิลปกรรมแบบยุโรปขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับ

ปี 2534 รัฐบาลทหารเผด็จการพม่าภายใต้การนำของนายพลเนวิน สมัยนั้นได้ทำการทุบรื้อทำลาย “หอหลวง” สถานที่อันเป็นศูนย์รวมใจของชาวไทขึนแห่งเขมรัฐเชียงตุง เพียงเพราะทหารพม่าต้องการพื้นที่เพื่อใช้สร้างโรงแรมในการโปรโมทการท่องเที่ยวของพม่า Visit Myanmar Year 1996  (พ.ศ.2539) ทว่าสิ่งที่สูญหายไปคืองานสถาปัตยกรรมชิ้นเยี่ยมที่ทรงคุณค่าทั้งทางประวัติศาสตร์ โบราณคดีและแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญ ซึ่งน่าจะก่อประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจได้ดีกว่าโรงแรมเล็กๆ ขนาดไม่กี่ห้องพัก ที่วันนี้ดูเงียบเหงาวังเวงปราศจากนักท่องเที่ยวผู้มาเข้าพักเป็นไหนๆ

กล่าวกันว่าหาก “หอหลวง” ของเมืองเชียงตุงไม่ถูกทุบทิ้ง จะเป็นแหล่งดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเยือนนครรัฐแห่งนี้เป็นจำนวนมากและยังเป็นสถานที่เชิดหน้าชูตาของบรรดารัฐไทในแถบนี้ได้ดีพอๆ กับ “พระราชวังเชียงทอง” ในเมืองหลวงพระบาง

เกือบ 10 ปีเต็มผมมีโอกาสเดินทางเข้าออกเมืองนี้ไม่ตํ่ากว่า  5  ครั้งมายังนครเขมรัฐ ท่ามกลางความรู้สึกรันทดเสียใจหลังจากที่ภาพสะท้อนเงานํ้าของ “หอหลวง” เจ้าฟ้าเชียงตุงที่เคยปรากฏเป็นร่มโพธิ์ของชาวไทขึน มาวันนี้เหลือเพียงความทรงอันปวดร้าวที่ไม่มีวันหวนคืน ไม่มีหอหลวง ไม่มีเจ้าฟ้าเชียงตุง หากมีเพียงสิ่งก่อสร้างสมัยใหม่ในฐานะของโรงแรมผุดขึ้นมาแทนที่

เจ้าแม่สุคันธา ณ เชียงใหม่ ในฐานะราชธิดาของเจ้าก้อนแก้วอินแถลง เจ้าฟ้าเชียงตุงผู้ซึ่งเติบโตมาใน “หอหลวง” ได้เล่าย้อนความทรงจำในอดีตไว้ในบทสัมภาษณ์ตีพิมพ์ในนิตยสารแพรว ฉบับเดือนตุลาคม 2536 ตอนหนึ่งว่า

“…ตำหนักของเจ้าพ่อเป็นตึกสามชั้นแบบแขก บนตำหนักมีห้องถึงเก้าห้อง แต่ละห้องใหญ่โตมากแบ่งออกเป็นสามปีก ปีกซ้ายคือห้องของเจ้าพ่อ ส่วนห้องโถงใหญ่ตรงปีกกลางเอาไว้สำหรับออกขุนนางเวลาที่มีงานใหญ่โต ถัดไปทางด้านหลังเป็นห้องเก็บเงินท้องพระคลัง ปีกขวาเป็นห้องของเจ้าจอมสามห้องและห้องมหาดเล็ก ส่วนชั้นล่างแบ่งไว้สำหรับต้อนรับเวลามีงานปีใหม่ หรืองานจัดเลี้ยงพวกเจ้าเมืองที่ขึ้นกับเมืองเชียงตุง เมื่อเขามาคารวะเจ้าพ่อในพิธีคารวะ ซึ่งจะจัดขึ้นปีละสองครั้ง คือวันปีใหม่กับออกพรรษา…”

อย่างไรก็ตามภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ความขัดแย้งและความสับสนในการเจรจาเรื่องเอกราชกับอังกฤษทำให้เชียงตุงและรัฐฉาน กลายเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพพม่า ราชสำนักเชียงตุงที่มีกษัตริย์สืบทอดราชบังลังค์ต่อเนื่องมาถึง 48 พระองค์นานกว่า 800 ปีก็ถึงกาลล่มสลาย ชาวไทขึนเชียงตุงและชาวไทใหญ่ในรัฐฉานจึงมีฐานะเป็นชนกลุ่มน้อยและพลเมืองชั้นสอง ถูกปิดกั้นเสรีภาพทางการเมือง ทั้งๆ ที่รัฐฉานมีพื้นที่กว้างใหญ่ถึง 1 ใน 3 ของพม่าและมีชาวไทใหญ่ ไทขึนเป็นพลเมืองข้างมาก

 

ปัจจุบันรัฐบาลพม่าได้เปิดเชียงตุงออกสู่สายตาโลกภายนอกอีกครั้ง หลังจากปิดตายดินแดนแห่งนี้มานานกว่า 50 ปี ทำให้โลกได้ประจักษ์ชัดว่า แม้ชาวไทขึนเชียงตุงจะอยู่ในฐานะของพลเมืองชั้นสองที่แทบจะถูกจำกัดสิทธิทางการเมืองโดยสิ้นเชิง และยังถูกรุมล้อมด้วยวิถีวัฒนธรรมแบบพม่า แต่ชาวไทขึนเชียงตุงก็ยังดำรงรักษาความเป็นตัวเองเอาไว้อย่างเหนียวแน่น โดยเฉพาะศรัทธาที่พวกเขามีต่อพระพุทธศาสนาที่แน่นแฟ้นเกินกว่าชนชาติใดในโลกจะเสมอเหมือน

ด้วยความที่เป็นเมืองเล็กๆ สงบเงียบ วิถีชีวิตของผู้คนที่มีศรัทธาต่อพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ทำให้เชียงตุงในวันนี้ กลายเป็นดินแดนแห่งสวรรค์ที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปเยือนอยู่ไม่ขาดสาย

อ่านร้อยเรื่องเมืองล้านนาอื่นๆ

ร่วมแสดงความคิดเห็น