สาธาณสุขเตือน! กินอาหาร “สุกๆดิบๆ” ถึงตายได้

      สาธารณสุขเผย พฤติกรรมการกินเนื้อดิบหรือ “อาหารสุกๆดิบๆ” ยังพบได้ต่อเนื่องและมีความเสี่ยงอันตรายมากโดยเฉพาะบริโภคเนื้อสัตว์ ที่มีการฆ่าไม่ถูกต้องตามมาตรฐาน

 

วันที่ 8 ส.ค.60 ในการแถลงข่าวสื่อมวลชนประจำสัปดาห์ ที่อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นางวิภารัศมิ์ ทิพย์ปัญญา นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบันการเจ็บป่วยจากการกิน อาหารไม่สะอาด ปนเปื้อนเชื้อโรคนับเป็นสาเหตุการเจ็บป่วยที่สำคัญ โดยเฉพาะการรับประทานอาหารดิบ หรือกึ่งดิบเป็นเรื่องที่นำอันตรายเข้ามาใกล้ตัวที่สุด ทั้งจากเชื้อโรคพวกแบคทีเรียที่มองไม่เห็น และจากพยาธิที่อยู่ในเนื้อสัตว์ ทั้งนี้ พฤติกรรมการกินอาหารดิบๆ ยังพบได้ต่อเนื่อง การกินอาหารประเภทเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อสุกร โค หรือกระบือแบบดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบดิบ ลาบแดง หลู้ดิบ แหนมดิบ มีความเสี่ยงอันตรายมากโดยเฉพาะหมูหรือสุกรที่มีการฆ่าไม่ถูกต้องตามมาตรฐานไม่ได้รับการตรวจจากสัตวแพทย์ เพราะอาจพบพยาธิได้หลายชนิด การกินเนื้อหมูที่มีตัวอ่อนพยาธิตัวนี้เข้าไปจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง จากนั้นราว 1 สัปดาห์จะมีอาการไข้สูง ปวดกล้ามเนื้อ หายใจลำบาก กล้ามเนื้ออ่อนแรง เนื่องจากพยาธิกระจายไปตามอวัยวะต่างๆทำให้เสียชีวิตได้

      สำหรับสถานการณ์โรคติดเชื้อ Streptococcus Suis จังหวัดเชียงใหม่ (ข้อมูล ณ วันที่ 7 สิงหาคม 2560) พบผู้ป่วยจำนวน 9 ราย(อ.เมือง 1 ราย, อ.ดอยสะเก็ด 2 ราย, อ.สันกำแพง 1 ราย, อ.หางดง 1 ราย, อ.แม่วาง 3 ราย, อ.ฮอด 1 ราย) และมีรายงานผู้เสียชีวิต 2 ราย ที่อำเภอแม่วาง ข้อมูลย้อนหลัง 2 ปี ปี พ.ศ. 2558 ผู้ป่วยจำนวน 29 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต และปี พ.ศ. 2559 พบผู้ป่วยจำนวน 15 ราย เสียชีวิต 2 ราย

โรคติดเชื้อ Streptococcus Suis (ไข้หูดับ) เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus Suis เป็นเชื้อที่อยู่ในโพรงจมูกและต่อมน้ำลายของหมู เชื้อดังกล่าวพบในหมูทั่วไปจนกลายเป็นเชื้อประจำถิ่น เมื่อหมูอยู่ในภาวะเครียด เช่น อยู่ในที่แออัด อากาศชื้นหรือหนาว จากฝนตกหนัก ภูมิคุ้มกันของหมูจะลดลง เชื้อดังกล่าวจึงฉวยโอกาสเข้าสู่กระแสเลือดทำให้หมูป่วยหรือตาย ส่วนเชื้อดังกล่าวเข้าสู่คนได้ 2 วิธี คือ เมื่อร่างกายคนมีแผลไปจับต้องหมูและกินเนื้อหมูหรือเลือดสด

นางวิภารัศมิ์ ทิพย์ปัญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากเชื้อนี้มีสุกรเป็นสัตว์พาหนะนำโรค ซึ่งมักไม่แสดงอาการป่วย ดังนั้นการเลี้ยงดูสุกรให้อยู่ในสภาวะสุขาภิบาลที่ดี เช่น ไม่เลี้ยงให้อยู่ด้วยกันอย่างแออัด อากาศในโรงเรือนถ่ายเทอากาศได้ดี สามารถป้องกันความหนาวเย็นขณะที่มีอากาศเปลี่ยนแปลงกะทันหันได้ สุกรจะมีร่างกายแข็งแรง เชื้อ Streptococcus suis ที่มีอยู่ในช่องปากและโพรงจมูกก็ไม่สามารถเพิ่มจำนวนและฉวยโอกาสก่อให้เกิดโรคในสุกรได้ คนสามารถติดเชื้อจากการสัมผัสกับสุกรที่ติดโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกร ผู้เลี้ยงสุกร คนทำงานในโรงฆ่าสัตว์ คนชำแหละเนื้อสุกร สัตวบาล และสัตวแพทย์ เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางบาดแผล รอยถลอก หรือเยื่อบุตา รวมทั้งการบริโภคเนื้อสุกรที่ไม่ผ่านการปรุงสุกก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อระยะฟักตัวและอาการในคน ระยะฟักตัวของโรคประมาณ 1 – 3 วัน อาการที่พบได้แก่ มีไข้ คลื่นเวียน ปวดศีรษะ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ข้ออักเสบ ม่านตาอักเสบ ผู้ป่วยอาจสูญเสียการได้ยิน จนถึงขั้นหูหนวก ภายหลังที่หายจากอาการป่วยแล้วอาจจะมีความผิดปกติในการทรงตัว ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตเนื่องมาจากการติดเชื้อในกระแสโลหิต

สำหรับการป้องกันโรคในคน
1. กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานโรงฆ่าสัตว์ ควรป้องกันตนเองในการเลี้ยงหรือชำแหละหมู เช่น สวมถุงมือ สวมรองเท้าบูท

2. กลุ่มผู้บริโภค ควรเลือกซื้อเนื้อหมูที่สด สะอาด และถูกชำแหละโดยโรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับมาตรฐาน และปรุงเนื้อหมู เลือดหมู และอวัยวะภายใน ให้สุก ไม่ควรรับประทานสุกๆ ดิบๆ เช่นลาบดิบ หลู้ เป็นต้น

3. ล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้งหลังสัมผัสเนื้อหมูดิบ ถ้าหากมือมีบาดแผลให้ทำความสะอาดแผล และใส่น้ำยาล้างแผลโพวิดิน

 

ทีมข่าว Social Chiang Mai News รายงาน

อ่านข่าวเชียงใหม่นิวส์ออนไลน์ คลิกที่นี่!

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น