พลังงานเดินหน้าหนุน ผลิตก๊าซจากมูลสัตว์

กระทรวงพลังงานเดินหน้าส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์ทดแทนก๊าซหุงต้มในครัวเรือน เลือกบ้านอัมพวัน จ.แพร่ นำร่องก่อน หวังช่วยลดรายจ่ายด้านพลังงานให้กับครัวเรือน เพิ่มทางเลือกใหม่ในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร พร้อมแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจากน้ำเสียและมูลสุกรในชุมชนอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ผ่านมานายนพดล สรวงประดิษฐ์ พลังงานจังหวัดแพร่ นำทีมเข้าเยี่ยมชมโครงการส่งเสริมการผลิตก๊าชชีวภาพจากฟาร์มสุกร ณ บ้านอัมพวัน หมู่ 8 ต.เตาปูน อ.สอง จ.แพร่

นายนพดล สรวงประดิษฐ์ พลังงานจังหวัดแพร่ เปิดเผยว่า สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สป.พน. กระทรวงพลังงานจัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจร (Press Tour) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมโครงการส่งเสริมการผลิต ก๊าซชีวภาพจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์ เพื่อส่งเสริมการผลิตพลังงานทดแทน โดยโครงการส่งเสริมการผลิตก๊าชชีวภาพจากฟาร์มสุกร ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการผลิตก๊าชชีวภาพจากมูลสัตว์ในฟาร์มปศุสัตว์ขนาดเล็ก และลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจากน้ำเสียมูลสัตว์ของฟาร์มสุกร ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในพื้นที่และส่งผลกระทบต่อชุมชน โดยดำเนินการอยู่ในฟาร์มสุกร จำลองฟาร์ม ที่มีสุกรจำนวน 2,600 ตัว และมีกลุ่มนำร่องใช้ประโยชน์จากก๊าชชีวภาพที่ผลิตได้ จำนวน 50 ครัวเรือน ต่อมามีจำนวนสมาชิกเพิ่มอีก 48 ครัวเรือน รวมทั้งสิ้น 98 ครัวเรือน ก่อนจะขึ้นทะเบียนเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนก๊าชชีวภาพบ้านอัมพวัน หมู่ 8 ต.เตาปูน อ.สอง จ.แพร่ ซึ่งมีหน้าที่ในการบริหารจัดการเรื่องการจ่ายก๊าช และการจำหน่ายกากมูลสุกรที่ผ่านกระบวนการหมักก๊าชให้กับเกษตรกรที่นำไปใช้เป็นปุ๋ยชีวภาพสำหรับการทำเกษตรกรรม

พลังงานจังหวัดแพร่ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการฯ ดังกล่าว จะสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับครัวเรือนได้อย่างยั่งยืน จากการผลิตก๊าชชีวภาพที่สามารถทดแทนก๊าชหุงต้มที่ใช้ภายในครัวเรือน ขณะที่ชุมชนจะมีทางเลือกใหม่ในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร โดยเป็นการพัฒนาโครงการภายใต้แนวคิดประชารัฐ จากกระบวนการมีส่วนร่วมระหว่าง รัฐ เอกชน และชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม จากน้ำเสียและมูลสุกร ให้กับชุมชน และจะมีการจัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชนเพื่อดูแลและบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น