ออมสินแจงความมั่นใจเศรษฐกิจ

ธนาคารออมสิน” เผยผลสำรวจดัชนีเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานรากไตรมาสสอง พบผู้มีรายได้น้อยเชื่อมั่นเศรษฐกิจลดลงอยู่ที่ 46.1 จาก 47.2 จากไตรมาสหนึ่ง ระบุ เศรษฐกิจยังไม่ฟื้น ค่าครองชีพสูง

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานราก(GSI) ประจำไตรมาส 2 ปี 2560 ซึ่งธนาคารได้ดำเนินการสำรวจกลุ่มตัวอย่างประชาชนที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท ทั่วประเทศจำนวน 1,903 ตัวอย่าง โดยพบว่า ดัชนี GSI ดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 46.3 ปรับลดลงจากไตรมาส 1 ที่อยู่ระดับ 47.2 แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ปี 2559 ที่อยู่ระดับ 44.1 เนื่องจากประชาชนระดับฐานรากรู้สึกว่าภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมของไทยในปัจจุบันยังไม่ฟื้นตัว ราคาสินค้าและค่าครองชีพสูง ทำให้ระมัดระวังการใช้จ่าย
นอกจากนี้ ยังมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงเปิดเทอม สำหรับ GSI ในอนาคตอีก 6 เดือนข้างหน้าประชาชนระดับฐานรากมีมุมมองที่ดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 47.4 เนื่องจากความคาดหวังว่ารัฐบาลจะมีมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นในด้านต่างๆ เทียบกับไตรมาสก่อน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นด้านการออม และโอกาสในการหางานทำ ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนด้านความสามารถจับจ่ายใช้สอย ความสามารถในการชำระหนี้สิน การหารายได้ และภาวะเศรษฐกิจปรับตัวลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนพบว่า ประชาชนระดับฐานราก มีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น ส่วนด้านการหารายได้ และภาวะเศรษฐกิจนั้นทรงตัว
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยฯ คาดการณ์ว่าดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานรากจะฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากมาตรการจากภาครัฐที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ผู้มีรายได้น้อย รวมถึงสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศที่มีการขยายตัว และแนวโน้มปริมาณผลผลิตทางการเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้น
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยฯ ยังได้สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้บริการทางการเงิน รูปแบบดิจิทัล แบงก์กิ้ง ของประชาชนฐานราก ทั่วประเทศจำนวน 1,768 ตัวอย่าง โดยเมื่อสอบถามถึงลักษณะการใช้บริการทางการเงินของประชาชนระดับฐานรากพบว่า กลุ่มตัวอย่างเกือบทั้งหมด หรือ 96.9 % ใช้บริการธุรกรรมทางการเงินด้วยตนเอง มีเพียง 3.1% ที่ใช้บริการธุรกรรมทางการเงินผ่านบุคคลอื่น โดยเป็นบุคคลในครอบครัว 86.4% และเพื่อน 13.6%
ส่วนช่องทางหลักในการทำธุรกรรมทางการเงินของประชาชนระดับฐานราก พบว่า 3 อันดับแรก ใช้บริการผ่านเครื่องถอนเงินสดอัตโนมัติ (เอทีเอ็ม) 68.8% ผ่านสาขาธนาคาร 59.0% และผ่านเครื่องฝากเงินสดอัตโนมัติ 38.0% โดยธุรกรรมทางการเงินที่ประชาชนระดับฐานรากส่วนใหญ่ใช้บริการ คือ การถอนเงิน การฝากเงิน/ฝากสลากฯ/ฝากเช็ค และบริการโอนเงินระหว่างบัญชี มีเพียงส่วนน้อยที่ใช้บริการชำระสินค้า/ค่าบริการต่างๆ และสอบถามยอดเงินในบัญชี
เมื่อถามเหตุผลที่ประชาชนระดับฐานรากเลือกใช้บริการทางการเงินผ่านช่องทางการให้บริการต่างๆ พบว่า กลุ่มที่ใช้มือถือ(โมบายล์) และอินเตอร์เน็ต แบงก์กิ้ง เนื่องจาก สามารถทำธุรกรรมและตรวจสอบได้ทุกที่ ทุกเวลา 59.1% มีความง่ายในการใช้งาน 33.3%และมีความสะดวก ประหยัดเวลา 5.3% ส่วนกลุ่มที่ใช้ผ่านเอทีเอ็ม เครื่องฝากเงินสดอัตโนมัติ และ ตู้เติมเงิน เพราะมีความง่ายในการใช้งาน 35.3% มีความปลอดภัยในการใช้บริการ 22.8%และสะดวก ประหยัดเวลา 13.4% สำหรับกลุ่มที่ใช้บริการกับบุคคลผ่านสาขาธนาคาร สถาบันการเงินชุมชุน ตัวแทนรับชำระ และพนักงานนอกสถานที่ เนื่องจากมีความน่าเชื่อถือ 25.8% สะดวก ประหยัดเวลา 24.0% และมีความปลอดภัยในการใช้บริการ 18.2%
เมื่อสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้งานมือถือ และ อินเตอร์เน็ต แบงก์กิ่ง ในอนาคตกับกลุ่มที่ปัจจุบันยังไม่ได้ใช้บริการ พบว่า 40.0% ไม่สนใจที่จะใช้ เนื่องจาก คิดว่าไม่มีความจำเป็น ไม่มีความรู้ในการใช้งาน และเห็นว่าการใช้งานยุ่งยาก มีเพียง 25.6%ที่จะเลือกใช้บริการในอนาคต โดยส่วนใหญ่จะเลือกใช้งานผ่านโมบายล์ แบงก์กิ้ง
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่าประชาชนระดับฐานรากส่วนใหญ่ยังไม่ใช้บริการมือถือ และอินเตอร์เน็ต แบงก์กิ้ง และบางส่วนยังนิยมใช้บริการผ่านสาขา ซึ่งไม่สอดคล้องกับแนวโน้มของโลกที่เปลี่ยนไป ดังนั้น หากจะส่งเสริมให้ คนกลุ่มนี้เปลี่ยนไปใช้บริการผ่านมือถือ และอินเตอร์เน็ต แบงก์กิ้ง ต้องมีการให้ความรู้ความเข้าใจ และชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของการใช้งาน

ร่วมแสดงความคิดเห็น