เผยกฎเหล็ก บัตรเครดิต ล้อมคอกหนี้ใหม่

เผยกฎเหล็กบัตรเครดิต หวังล้อมคอกคนรุ่นใหม่สร้างหนี้เกินตัว และปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยที่ตัวเลขยังอยู่ในระดับสูง แต่มั่นใจไม่กระทบกับภาพรวมมากนักเนื่องจากมีผลกับลูกค้าใหม่เท่านั้น
ธปท. เปิดเผยรายละเอียดของมาตรการการดูแลสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ โดยปรับวงเงินสินเชื่อบัตรเครดิตจากเดิมไม่เกิน 5 เท่าของรายได้ต่อเดือน เป็นลักษณะขั้นบันไดตั้งแต่ 1.5-5 เท่าต่อสถาบันการเงิน นอกจากนี้ยังมีการปรับลดเพดานดอกเบี้ยจากเดิม 20% เป็น 18% ขณะที่ในส่วนของสินเชื่อส่วนบุคคลได้มีการเพิ่มข้อกำหนดสำหรับกลุ่มลูกค้ารายได้ไม่เกิน 30,000 บาท ที่จะได้รับวงเงินสินเชื่อส่วนบุคคล 1.5 เท่าของรายได้จากผู้ประกอบการไม่เกิน 3 ราย หรือคิดเป็นเพดานวงเงินจากผู้ประกอบการทุกรายรวมกันไม่เกิน 4.5 เท่า
ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทย โดยเฉพาะกลุ่มเจนวาย ซึ่งกลุ่มเจนวายส่วนใหญ่เห็นด้วยกับมาตรการนี้ที่จะช่วยจัดการปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนได้ สะท้อนจากผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย นอกจากนี้กลุ่มเจนวายส่วนใหญ่ระบุว่าไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ อย่างไรก็ดี กลุ่มที่จะได้รับผลกระทบส่วนใหญ่มีแนวทางการปรับตัวด้วยการลดการใช้จ่าย 
ซึ่งสามารถสะท้อนความมีวินัยทางการเงินในระดับหนึ่ง
สำหรับผลกระทบต่อผู้ประกอบการในระยะสั้น 
จากการปรับอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตลง 2% อาจ
ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยของผู้ประกอบการในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ลดลงประมาณ 750-900 ล้านบาท สำหรับเฉพาะส่วนของธนาคารพาณิชย์ จะคิดเป็นประมาณ 0.3% ของรายได้ดอกเบี้ยรวม ขณะที่ผลกระทบในทางปฏิบัติอื่นๆ คาดว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่น่าจะสามารถบริหารจัดการได้ เนื่องจากเกณฑ์จะบังคับใช้เฉพาะกับลูกค้าใหม่ และให้ระยะเวลาในการปรับตัว อีกทั้งในปัจจุบัน ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีการอนุมัติเพดานสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลในกรอบที่ไม่หนีไปจากเกณฑ์ใหม่ของธปท. อยู่แล้ว
ดังนั้น มุมมองต่อแนวโน้มสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลสำหรับทั้งปี 2560 ที่ระมัดระวัง แต่ก็สะท้อนภาพนโยบายเครดิตที่รัดกุมจากฝั่งผู้ประกอบการและการใช้จ่ายที่ระมัดระวังมากขึ้นของผู้บริโภค มากกว่าที่จะเป็นผลจากมาตรการในครั้งนี้ โดยยังมองประมาณการอัตราการเติบโตของสินเชื่อส่วนบุคคลของระบบไว้ที่ 
4.0% (กรอบ 3.0-5.0%) ซึ่งใกล้เคียงกับอัตราการขยายตัวของปี 2559 ที่ 4.6% ขณะที่ ให้ประมาณการการขยายตัวของสินเชื่อบัตรเครดิตของระบบไว้ที่ 6.0% (กรอบ 5.0-7.0%) เทียบกับตัวเลขทบทวนใหม่ของปี 2559 ที่ 8.0%

ร่วมแสดงความคิดเห็น