สดร. จัดเวิร์คช็อป “ดาราศาสตร์เพื่อสะเต็มศึกษา”

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดสัมมนาและเวิร์คช็อป “ดาราศาสตร์เพื่อสะเต็มศึกษา” ดึงนักดาราศาสตร์ทั่วโลกถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการจัดการเรียนการสอนและกิจกรรมดาราศาสตร์ นำไปสู่การบูรณาการความรู้ “สะเต็มศึกษา” การศึกษารูปแบบใหม่ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ระหว่างวันที่ 7-11 สิงหาคม 2560 โดยมีดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุมในวันที่ 7 สิงหาคม 2560 ณ โรงแรมพูลแมน จี กรุงเทพฯ
ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่าศูนย์ฝึกอบรมดาราศาสตร์นานาชาติภายใต้ยูเนสโก – International Training Centre in Astronomy under the auspices of UNESCO (ITCA) โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) จัดสัมมนา “ดาราศาสตร์เพื่อสะเต็มศึกษา” (ITCA Colloquium – Astronomy for STEM Education) ระหว่างวันที่ 7-11 สิงหาคม 2560 ณ กรุงเทพฯ และหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นครั้งแรกของการจัดประชุมสัมมนาครั้งใหญ่ของศูนย์ฝึกอบรมดาราศาสตร์นานาชาติภายใต้ยูเนสโก
โดยได้รับเกียรติจาก นางซาตู ซุยก์การี-เคลฟเวน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฟินแลนด์ประจำประเทศไทย คุณยุน ฮี ลี ผู้แทนจากสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพมหานคร คุณซิลเวีย ทอร์เรส เพ็มเบิร์ก ประธานสมาพันธ์ดาราศาสตร์สากล นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รศ. บุญรักษา สุนทรธรรม ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เข้าร่วมในงานดังกล่าวด้วย
เชิญผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ ในหน่วยงานชั้นนำจากทั่วโลก มาร่วมปาฐกถาและบรรยาย “การสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพสู่ประชาคมโลก” พร้อมจัดประชุมเชิงปฏิบัติการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะดาราศาสตร์ เพื่อกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมอบรมพัฒนากระบวนการทางความคิด วิเคราะห์ และวางแผนกลยุทธ์การจัดการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ได้ด้วยตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถนำไปใช้ในหน่วยงาน สังคม และชุมชน
ดร. ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การสัมมนาดังกล่าวมุ่งหวังให้เกิดการตื่นตัวในกลุ่มบุคลากรผู้มีบทบาทในการขับเคลื่อนสังคมอุดมปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรทางการศึกษา ด้านวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ ได้นำองค์ความรู้ สื่อการเรียนรู้ และโครงสร้างพื้นฐานดาราศาสตร์มาใช้เป็นเครื่องมือสร้างแรงบันดาลใจในการจัดการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์แก่เยาวชน สู่การบูรณาการความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การศึกษา และคณิตศาสตร์ (STEM) เข้าด้วยกัน ส่งเสริมให้เยาวชนสนใจและประกอบอาชีพด้าน STEM เพื่อการพัฒนาประเทศในอนาคต การสัมมนาครั้งนี้มีคณะครู อาจารย์ บุคลากรด้านการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ และดาราศาสตร์จากทั่วทุกทวีปของโลก อาทิ ยุโรป เอเชีย แอฟริกา เป็นต้น เข้าร่วมจำนวน 120 คน

ร่วมแสดงความคิดเห็น