ชาวบ้านลุ่มน้ำปิงตอนบนเฮ!!! กรมชลฯได้ฤกษ์เปิดโครงการ ประตูระบายน้ำแม่สอย

เกษตรกรลุ่มน้ำปิงตอนบนเฮ!!! นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานเปิดโครงการประตูระบายน้ำแม่สอย จ.เชียงใหม่ สนองพระราชดำริในหลวง รัชกาลที่ 9 และพระราชเสาวนีย์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เผยพื้นที่รับประโยชน์ กว่า 47,359 ไร่ เก็บกักน้ำได้ถึง 9.35 ล้าน ลบ.ม. พร้อมวางแผนป้องกันแก้ไขและติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างใกล้ชิด โดยมีนายสุรพล เกียรติไชยากร อดีตประธานคณะกรรมาธิ การการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา สภาผู้แทนราษฎร ร่วมเปิดงาน

เมื่อเวลา 10:00 น.วันนี้ 17 ส.ค.2560 ที่โครงการประตูระบายน้ำแม่สอย อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายจานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผอ.สำนักชลประทานที่ 1(เชียงใหม่) หน่วยงานราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง นอภ. อปท. ผู้นำชุมชน และกลุ่มผู้ใช้น้ำ จัดกิจกรรมถวายราชสดุดี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 85 พรรษา 12 สิงหาคม 2560 และทำพิธีเปิด “โครงการประตูระบายน้ำแม่สอย”

อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า โครงการประตูระบายน้ำแม่สอย นับเป็นโครงการเกิดจากสายพระเนตรอันยาวไกลของรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงห่วงใยประชาราษฎร์ โครงการดังกล่าวเชื่อมโยงอย่างลงตัวระหว่างสายน้ำของพ่อ(เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล) สู่โครงการชลประทานของแม่ (ประตูระบายน้ำแม่สอย) ที่เป็นประโยชน์มหาศาลต่อเกษตรกรลุ่มน้ำปิงตอนบน โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกลำไย

โดยโครงการประตูระบายน้ำแม่สอย เกิดจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ประทานพระราชปรารภเมื่อวันที่ 27 ก.พ.2543 ให้กรมชลประทานพิจารณา จัดหาแหล่งน้ำช่วยเหลือราษฎร ที่ได้ทูลเกล้าถวายฎีกา เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรบ้านห้วยสะแพท ม.9 ต.แม่สอย ซึ่งโครงการประตูระบายน้ำแม่สอย มีศักยภาพในการรองรับน้ำต้นทุนที่ระบาย และส่งมาจากเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล อ.แม่แตง ซึ่งเป็นโครงการภายใต้พะราชดำริของรัชกาลที่ 9

สำหรับพื้นที่ ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการ ครอบคลุมทั้งพื้นที่เพาะปลูกของโครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ที่อยู่ด้านเหนือตำแหน่งประตูระบายน้ำแม่สอย จำนวน 31 สถานี พื้นที่ส่งน้ำรวม 33,496 ไร่ และพื้นที่โครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าทางด้านท้ายน้ำของประตูระบายน้ำแม่สอย ตั้งแต่ด้านท้ายประตูระบายน้ำแม่สอย ไปจนถึงจุดบรรจบน้ำแม่แจ่ม จำนวน 13 สถานี รวมพื้นที่ส่งน้ำ 13,863 ไร่ รวมมีพื้นที่โครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการรวมทั้งสิ้น 44 สถานี คิดเป็นพื้นที่ส่งน้ำรวมทั้งสิ้น 47,359 ไร่ โดยใช้เวลาในการก่อสร้าง 6 ปี (พ.ศ.2554 – 2559)
โครงการประตูระบายน้ำแม่สอย ได้เริ่มเก็บกักน้ำเมื่อปลายปี 2559 ทำให้ สามารถช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงฝนทิ้งช่วงให้กับเกษตรกรสวนลำไย ซึ่งอยู่สองฝั่งแม่น้ำปิง ทั้งในส่วนของ จ.เชียงใหม่ และลำพูน ขณะเดียวกันยังทำให้ราษฎรในพื้นที่มีน้ำ เพื่ออุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ อนาคตคาดว่า สายน้ำแม่ปิงจะมีน้ำไหลต่อเนื่องตลอดทั้งปี ไปสะสมกับลำน้ำแม่แจ่ม ทำให้มีน้ำหล่อเลี้ยงระบบนิเวศทะเลสาบดอยเต่า อ.ดอยเต่า ไม่ให้แห้งขอดได้อีกทางหนึ่งด้วย

อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมากรมชลประทาน ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาแหล่งน้ำในเขตลุ่มน้ำแม่ปิงตอนบนอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก และโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า รวมทั้งสิ้นกว่า 600 โครงการ ความจุเก็บกักน้ำประมาณ 750 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่ชลประทานในเขตลุ่มน้ำแม่ปิงตอนบนประมาณ 1,270,000 ไร่

ซึ่งขณะนี้ มีการพัฒนาโครงการชลประทานขนาดใหญ่ดำเนินการแล้ว เสร็จหลายโครงการ ได้แก่ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนแม่กวงอุดมธารา โครงการชลประทานแม่แตง โครงการชลประทานขนาดกลาง ขนาดเล็ก และโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าอีกเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ได้มีการสร้างฝายบนลำน้ำแม่ปิง เพื่อเก็บกักและยกระดับน้ำเข้าสู่พื้นที่การ เกษตร เช่น ฝายเชียงดาว ฝายแม่ปิงเก่า ฝายหนองสลีก รวมทั้งฝายของราษฎรได้แก่ ฝายท่าศาลา ฝายหนองผึ้งฯลฯ

“นอกจากนี้แล้ว กรมชลประทานยังได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการป้อง กันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการก่อสร้างโครงการประตูระบายน้ำแม่สอยอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 เป็นต้นมา จนถึงปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 รวมระยะเวลา 10 ปี ” อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว.

ร่วมแสดงความคิดเห็น