สายบุญห้ามพลาด….ทำบุญ 9 วัดเมืองเชียงใหม่

วัด…ศาสนสถานที่สะท้อนถึงอารยธรรม และวิถีชีวิตชุมชนในแต่ละท้องถิ่น อันเป็นแหล่งรวมองค์ความรู้ประวัติศาสตร์ การศึกษา ศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ปรัชญา เชื่อมโยงวัฒนธรรมชุมชน มาร่วมธรรมทัศนาในวัดที่สำคัญทั้ง 9 วัดใน อ.เมืองเชียงใหม่ เสริมความเป็นสิริมงคล ทำจิตใจให้ใสสะอาด เบิกบานแจ่มใสแห่งมรรคผล

1.วัดชัยพระเกียรติ เดิมชื่อ “วัดชัยผาเกียรติ” เป็นอารามของนครเชียงใหม่ มาตั้งแต่โบราณกาล ในรัชสมัยพระเจ้าเมกุฏิ วิสุทธิวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ส่วนพระประธานในวิหาร ขุนนางพม่าได้มีศรัทธาสร้างไว้ โดยใช้ศิลปะล้านนา ในช่วงล้านนาอยู่ในปกครอง วัดชัยพระเกียติถือว่าเป็นหนึ่งในวัดนามมงคลของเชียงใหม่ ที่ผู้คนนิยมมาสักการะจะทำให้เสริมสร้างเกียรติยศและศักดิ์ศรี ให้แก่ตัวเราและครอบครัว มีพระพุทธรูปห้าตื้อ เพราะน้ำหนักทองที่หล่อ พระ พุทธรูปองค์นี้มีอยู่ 5 ตื้อ 1 ตื้อ เท่ากับ 10 โกฏิ น้ำหนักทอง 5 ตื้อ จึงเท่ากับ 50 โกฏิ ซึ่งผู้ที่มากราบไหว้จะได้มีชื่อเสียง เกียรติยศ และมีชัยชนะ

สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด อาทิ พระวิหาร ภายในประดิษฐานพระประธาน “พระพุทธรูปเมืองราย” รู้จักกันทั่วไปในชื่อ “พระเจ้าห้าตื้อ” , พระเจดีย์ , พระอุโบสถ
ที่ตั้ง : วัดชัยพระเกียรติ ถนนราชดำเนิน ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

2.วัดชัยมงคล แต่เดิมเป็นวัดมอญมีชื่อว่า วัดมะเล่อ หรือ มะเลิ่ง ซึ่งมีความหมายว่า รุ่งแจ้ง หรือ รุ่งอรุณ ในภายหลังได้มีการเรียกชื่อกันใหม่ว่า วัดอุปาเพ็ง หรือ วัดอุปาพอก จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อวัดนี้เป็นวัดชัยมงคล เป็นวัดที่มีอายุราว 600 ปี วัดชัยมงคลเดิมเป็นวัดมอญ ครูบาดวงแก้ว ขอพระราชทานวิสุงคามสีมา มี“พระพุทธชัยมงคล” อยู่คู่วัด วัดชัยมงคล ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำปิง บนถนนเจริญประเทศ ถูกสร้างขึ้นราวสมัยพระเจ้าติโลกราชกษัตริย์นครเชียงใหม่ ภายในวัดมีพระพุทธชัยมงคล รูปปางมารวิชัยก่ออิฐหรือลงรักปิดทอง เป็นพระประธานภายในวิหาร ซึ่งจำลองแบบมาจากฝาผนังหลังด้านพระประธาน มีธรรมมาสน์ไม้สักแกะสลักรูปนาค 7 เศียร สร้างในปี พ.ศ.2476 มีพระพุทธรูปไม้สักปางเปิดโลก มีอายุประมาณ 500 ปี ซึ่งได้มาจากวัดกิติ

สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด อาทิ พระวิหาร , พระอุโบสถ ถูกสร้างซ้อนพระวิหาร ทำให้พระอุโบสถและพระวิหารกลายเป็นหลังเดียวกัน , พระเจดีย์
ที่ตั้ง : วัดชัยมงคล ถ.เจริญประเทศ ต. ช้างคลาน อ.เมือง จ.เชียงใหม่

3.วัดดับภัย เดิมชื่อว่า “วัดตุงกระด้าง” สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๑๒๐ ในรัชสมัยพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์พระองค์ที่ ๙ แห่งราชวงศ์มังราย มาวัดแห่งนี้ ก็ต้องไม่พลาดการสักการพระเจ้าดับภัย พระพุทธรูปตามตำนาน พระเจ้าดับภัยเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อขึ้นด้วยทองสัมฤทธิ์ แบบศิลปะล้านนาเชียงแสนยุคแรกๆ การมาไหว้พระเจ้าดับภัยเพื่อหวังให้ท่านช่วยดับภัยต่างๆ ที่เข้ามาเป็นมรสุมรุมเร้าชีวิต เพื่อดับโรคภัยไข้เจ็บและทุกข์ภัยทั้งที่กำลังจะเข้ามาในชีวิตและที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ มีพระเจ้าดับภัย อยู่คู่วัดซึ่งมีประวัติความเป็นมาที่น่าอัศจรรย์มากมายให้เข้าไปค้นหา

สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด อาทิ พระวิหาร ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะเชียงแสน ด้านหน้าพระประธานเป็นที่ประดิษฐาน “พระเจ้าดับภัย” ด้านหน้าวิหารมีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ , พระเจดีย์ , พระอุโบสถ
ที่ตั้ง : วัดดับภัย ถ.สิงหราช ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

4.วัดลอยเคราะห์ เดิมชื่อว่า “วัดร้อยข้อ” (วัดฮ้อยข้อ) สร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. 1910 ในสมัยพญากือนา กษัตริย์องค์ที่ 6 แห่งราชวงศ์มังราย ช่วงปลายรัชสมัยพม่ายกทัพมาตีล้านนา และยึดครองล้านนาได้สำเร็จ วัดต่างๆ ในเชียง ใหม่จึงถูกทิ้งร้างไป แล้วได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2545 มีหน้าบันโดดเด่นด้วยลายปูนปั้นพระพุทธรูปปางสมาธิ สัตว์ในวรรณคดี และลายพรรณพฤกษา ที่ละเอียดอ่อนช้อยสวยงามมาก ซุ้มประตูโขงทางเข้าพระวิหารประดับด้วยลายปูนปั้นรูปต่างๆ และกระจกสี วัดลอยเคราะห์เป็นที่พึ่งทางใจที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง ของคนมีความทุกข์ เพื่อลอยเคราะห์ ลอยโศกให้หมดไปหมดทุกข์หมดโศก จะได้เหลือแต่สิ่งที่ดีๆ

สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด อาทิ พระวิหารภายในประดิษฐาน “พระพุทธศุภโชคศรีลอยเคราะห์มิ่งมงคล” เป็นที่เคารพของชาวบ้าน และประชาชนทั่วไป เนื่องด้วยความศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อกันว่า หากผู้ใดมาสักการะจะหมดทุกข์โศกทั้งปวง , พระเจดีย์ , พระอุโบสถ
ที่ตั้ง : วัดลอยเคราะห์ ถ.ลอยเคราะห์ ต.ช้างคลาน อ.เมือง จ.เชียงใหม่

5.วัดเชียงยืน เป็นวัดโบราณแห่งหนึ่ง ที่มีมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า คือ พระมหาธาตุเจดีย์ นอกจากนี้ยังมีโบสถ์แปดเหลี่ยม ที่เก่าแก่ด้วยรูปแบบศิลปะพม่า ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปพม่า ที่มีความเชื่อว่าสถานที่ประกอบ พิธีทางศาสนาหรือพิธีสำคัญ ๆ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่ต้องการความสะอาดบริสุทธิ์ ตำนานกล่าวไว้ว่า หากกษัตริย์องค์ใดจะขึ้นครองราชย์ ต้องมานมัสการพระประธานที่วัดนี้ก่อน จนเป็นธรรมเนียมประเพณี สำหรับ พระบรมธาตุเชียงยืน   มีปรากฏจารึกว่า พระเจ้าปนัดดาธิราช พร้อมด้วย พระเทวีราชมารดา ทรงทำการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุบรรจุพระสถูปเจดีย์ใหญ่ ณ วัดฑีฆชีววัสสาราม (ฑีฆายวิสาราม)

สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด อาทิ เจดีย์,วิหาร,หอพระรูปแปดเหลี่ยม,พระสัพพัญญเจ้า
ที่ตั้ง : วัดเชียงยืน ถ.มณีนพรัตน์ ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

6.วัดเชียงมั่น เป็นวัดแรกที่สร้างขึ้นใน จ.เชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.1840 ศิลาจารึกวัดเชียงมั่น กล่าวว่า หลังจากที่พญางำเมือง พญาร่วง และพญามังราย สร้างเมืองเชียงใหม่เสร็จสมบูรณ์แล้ว ทั้งสามพระองค์ทรงโปรดให้ก่อเจดีย์ที่หอนอนบ้านเชียงมั่น ซึ่งใช้เป็นที่ประทับชั่วคราว เพื่อควบคุมการสร้างเมืองเชียงใหม่ ต่อมา พระองค์ทรงยกพระตำ หนักที่ประทับถวายเป็นพระอาราม ให้ชื่อว่า “วัดเชียงมั่น” เป็นที่ประดิษฐานพระเสตังคมณี หรือพระแก้วขาว เป็นพระพุทธรูปแก้วผลึกสีขาวปางมารวิชัย เป็นที่เคารพสักการะของชาวเชียงใหม่ ที่สามารถปกป้องภัยอันตราย

สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด อาทิ เจดีย์,วิหาร,หอไตร,พระอุโบสถ์,พระพุทธรูปและพระพุทธรูปศิลา
ที่ตั้ง : วัดเชียงมั่น ถ.ราชภาคิไนย ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

7.วัดหมื่นเงินกอง สร้างขึ้นในรัชสมัยราชวงค์มังราย พระเจ้ากือนา หรือ ท้าวสองแสนนา กษัตริย์นครพิงค์เชียงใหม่ หมื่นเงินกอง เป็นชื่อของมหาอำมาตย์ตำแหน่ง “ขุนคลัง” ท่านหนึ่ง ในรัชกาลพระเจ้ากือนา เป็นที่เข้าใจกันว่า มหาอำมาตย์หมื่นเงินกอง หรือ ทิดเมธัง ผู้สร้างวัดเมธัง และ วัดช่างลาน เป็นผู้สร้างวัด “หมื่นเงินกอง” เพื่อเป็นอนุสรณ์ยศถาบรรดาศักดิ์ที่ตนเองได้รับ ต่อมาชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า “วัดมะยมกอง” แต่ก็มีชื่อที่รู้จักกันทั่วไปว่า “วัดหมื่นเงินกอง” ตราบเท่าทุกวันนี้ ลักษณะพระวิหารวิหารหลังนี้เป็นอาคารครึ่งปูนครึ่งไม้ศิลปะแบบล้านนา หน้าบันเป็นไม้แกะสลักรูปพรรณพฤกษาประดับด้วยกระจกสี ภายในประดิษฐานพระประธานศิลปะล้านนา ผนังและเสาทาสีแดงชาดทั้งหลัง เขียนลวดลายด้วยสีทอง ดูแลวิจิตรแปลกตามาก

สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด อาทิ เจดีย์สีทององค์ใหญ่รูปแบบศิลปะศรีสัชนาลัย และเจดีย์ทรงกลมแบบล้านนา มีเรือนธาตุสี่เหลี่ยมย่อมุมทั้งสี่ทิศ,วิหารพระพุทธไสยาสน์(พระนอน) พระเจ้าทันใจ ศาลาบ่อน้ำ ต้นโพธิ์ ฤๅษีทันอก ฤๅษีทันตา ฤๅษีทันใจ
ที่ตั้ง : วัดหมื่นเงินกอง ถ.สามล้าน ต.พระสิงห์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

8.วัดหมื่นล้าน หรือ มีชื่อเดิมว่า “วัดหมื่นสามล้าน” ตามหลักฐานได้มีการกล่าวไว้ว่า วัดหมื่นล้าน ได้ถูกสร้างขึ้นในช่วงราวปี พ.ศ. 2002ในสมัยพระเจ้าติโลกราช โดย “หมื่นโลกสามล้านขุนพลแก้ว” มีพระวิหารเป็นสถาปัตยกรรมล้านนาผสมผสานพม่า หน้าบันโดดเด่นด้วยลวดลายแกะสลักไม้ รูปนกยูงรำแพนประดับกระจกสี ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะพม่า รายล้อมด้วยพรรณพฤกษา

สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด อาทิ พระวิหาร , หอไตร , พระเจดีย์ , พระอุโบสถ
ที่ตั้ง : วัดหมื่นล้าน ถ.ราชดำเนิน ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

9.วัดดวงดี เดิมชื่อ “วัดต้นหมากเหนือ” ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นหลังจากพญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่แล้ว และมีเจ้านายเมืองเชียงใหม่องค์หนึ่ง เป็นผู้คิดค้นการสร้าง ลักษณะของวิหารและโบสถ์เป็นแบบพื้นเมืองล้านนา มีลวดลายแกะสลักไม้ ประดับสถาปัตยกรรมที่สวยงาม สร้างวัดไว้ประจำตระกูล เพื่อเป็นพุทธบูชาและไถ่บาปให้กับทหารที่ไปทำสงคราม สถานที่สำคัญที่น่าสนใจของวัดดวงดี ซึ่งเป็นมรดกล้ำค่าแห่งล้านนาไทยโดยกรมศิลปกรได้ประกาศขึ้นทะเบียน เป็นโบราณสถานแห่งชาติ

สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด อาทิ พระวิหาร ,พระอุโบสถ ,หอธรรม (หอไตร),พระเจดีย์
ที่ตั้ง : วัดดวงดี ถ.พระปกเกล้า ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น