สดร.เผยภาพสุริยุปราคาเต็มดวง ครั้งยิ่งใหญ่ของสหรัฐอเมริกา

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยภาพปรากฏ การณ์สุริยุปราคาเต็มดวง ณ วัดพุทธโอเรกอน สหรัฐอเมริกา สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งนี้ มีชาวอเมริกัน นักดาราศาสตร์และนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก แห่ชมปรากฎการณ์อย่างคึกคัก คราสเต็มดวงพาดผ่านกลางสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ฝั่งตะวันตกจนถึงตะวันออก นับเป็นสุริยุปราคาเต็มดวงครั้งยิ่งใหญ่ ที่พาดผ่านแผ่นดินใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ในรอบ 38 ปี

ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการ สดร. นำทีมเจ้าหน้าที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เดินทางมาเก็บข้อมูลและศึกษาปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง ณ สหรัฐอเมริกา ในวันจันทร์ที่ 21 ส.ค.60 ตามเวลาประเทศสหรัฐอเมริ กา ตั้งจุดสังเกตการณ์บริเวณวัดพุทธโอเรกอน เมืองซาเลม รัฐโอเรกอน อยู่ทางทิศตะวันตกของสหรัฐอเมริกา อยู่ห่างจากจุดกึ่งกลางของแนวคราสเต็มดวง ประมาณ 2 กม.

ดร. ศรัณย์ เปิดเผยว่า สดร. ได้วางแผนเก็บข้อมูลเพื่อศึกษาปรากฎการณ์ สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งนี้ มีการนำกล้อง โทรทรรศน์ อุปกรณ์วัดความสว่างท้องฟ้า รวมทั้งอุปกรณ์สังเกตการณ์ ทั้งทางตรงและทางอ้อมชนิดต่าง ๆ และศึกษาพื้นที่บริเวณแนวคราสเต็มดวง เพื่อตั้งจุดสังเกตการณ์ รวมทั้งศึกษาสภาพอากาศ ที่มีความเป็นไปได้ที่สุด สำหรับการศึกษาปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงในครั้งนี้

บรรยากาศการเฝ้าสังเกตการณ์สุริยุปราคาบริเวณวัดพุทธโอเรกอน เต็มไปด้วยชาวไทยในโอเรกอนและใกล้เคียง ชาวอเมริกัน และนักท่องเที่ยว เดินทางมาจับจองพื้นที่เพื่อเฝ้าชมสุริยุปราคาเต็มดวงครั้งนี้ ตั้งแต่คืนก่อนวันเกิดปรากฎการณ์ 100 กว่าชีวิต มีทั้งครอบครัวที่เดินทางไกลมาจากรัฐต่าง ๆ ในอเมริกา เพื่อมาดูปรากฎการณ์นี้โดยเฉพาะ บางครอบครัวประดิษฐ์อุปกรณ์ดูดวงอาทิตย์ทางอ้อม มาใช้ดูสุริยุปราคา สำหรับวันนี้ ขณะเกิดสุริยุปราคา ทัศนวิสัยท้องฟ้าดีมาก ฟ้าใส ไร้เมฆ สามารถชมปรากฎการณ์ได้ตลอดตั้งแต่ต้น จนสิ้นสุดอย่างสมบูรณ์ ก่อนคราสเต็มดวง

สามารถสังเกตการณ์ปรากฏการณ์ข้างเคียงได้อย่างชัดเจน เช่น ปรากฎการณ์เงาเสี้ยว (Crescent Shadows) ปรากฏการณ์แถบเงา (Shadow Bands) ปรากฏการณ์แหวนเพชร (The Diamond Ring Effect) ปรากฏการณ์ลูกปัดเบลีย์ (Baily’s Beads) ขณะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง สามารถมองเห็นสุริยุปราคาเต็มดวงได้ด้วยตาเปล่า เห็นชั้นบรรยากาศและพวยแก๊สของดวงอาทิตย์ รวมถึงชั้นโคโรนาอีกด้วย นอกจากนี้ ขณะเงามืดของดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์จนมิด ท้องฟ้ามืดจนสามารถสังเกตเห็นดาวศุกร์ ดาวพุธ ดาวอังคาร และดาวฤกษ์หลายดวงสว่างอยู่กลางท้องฟ้าเป็นเวลานานเกือบ 2 นาที เป็นที่น่าประทับใจ สำหรับผู้ที่มาเฝ้าชมปรากฎการณ์เป็นอย่างมาก

ปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งนี้ เกิดขึ้นในช่วงเช้าของวันที่ 21 ส.ค.60 (ตามเวลาในสหรัฐอเมริกา) หรือคืนวันเดียวกันตามเวลาประเทศไทย แต่ช่วงที่คราสเต็มดวงจะล่วงเข้าสู่วันที่ 22 ส.ค.60 ตามเวลาประเทศไทย เป็นสุริยุปราคาลำดับที่ 22/77 ในชุดซารอสที่ 145 แนวคราสเต็มดวงพาดผ่านด้านตะวันออกเฉียงเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก ผ่านสหรัฐอเมริกา และมหาสมุทรแอตแลนติก คราสบางส่วนครอบคลุมด้านตะวันออกเฉียงเหนือของมหา สมุทรแปซิฟิก อเมริกาเหนือ อเมริกากลาง ตอนเหนือของอเมริกาใต้ ส่วนใหญ่ทางตอนเหนือของมหาสมุทรแอต แลนติก และด้านตะวันตกของยุโรปและแอฟริกา

แนวคราสเต็มดวงจะเริ่มจากตอนเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก เงามืดของดวงจันทร์เริ่มสัมผัสพื้นโลกทางทิศตะวันตกของสหรัฐอเมริกา บริเวณลินคอล์น บีช รัฐโอเรกอน เวลา 9:05 a.m. PDT (23:05 น. วันที่ 21 ส.ค.60 ตามเวลาในประเทศไทย) คราสเต็มดวงเริ่มตั้งแต่เวลา 10:16 น. a.m. PDT (00:16 น. วันที่ 22 ส.ค.60 ตามเวลาในประเทศไทย) หลังจากนั้นพาดผ่าน 14 รัฐ ได้แก่ โอเรกอน ไอดาโฮ มอนทานา ไวโอมิง เนบราสกา เคนซัส ไอโอวา มิสซูรี อิลลิ นอยส์ เคนตักกี เทนเนสซี นอร์ทแคโรไลนา จอร์เจีย และเซาท์แคโรไลนา และสิ้นสุดคราสเต็มดวงทางทิศตะวันออกของสหรัฐอเมริกา ที่เมืองชาร์ลสตัน รัฐเซาท์แคโรไลนา เวลา 2:48 p.m. EDT (01:48 น. วันที่ 22 ส.ค. ตามเวลาในประเทศไทย) และเงาของดวงจันทร์จะออกจาก ประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างสมบูรณ์ เวลา 4:09 p.m. EDT (03:09 น. วันที่ 22 ส.ค. ตามเวลาในประเทศไทย) คราสเต็มดวงกินเวลานานที่สุดบริเวณทางใต้ของเมืองคาร์บอนเดล รัฐอิลลินอยส์ ดวงจันทร์บดบังดวงอาทิตย์ทั้งดวงนานถึง 2 นาที 40.2 วินาที สำหรับประเทศไทยไม่สามารถสังเกตเห็นสุริยุปราคาเต็มดวงครั้งนี้ได้

สำหรับสุริยุปราคาเต็มดวงครั้งถัดไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 2 ก.ค.62 คราสเต็มดวงพาดผ่านบางส่วนของสาธารณรัฐชิลี และอาร์เจนตินา สุริยุปราคาเต็มดวงในสหรัฐอเมริกาครั้งถัดไปจะเกิดขึ้น ในวันที่ 8 เม.ย.67 ส่วนประทศไทยต้องรอไปอีก 53 ปี จึงจะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงในวันที่ 11 เม.ย.2613

คำอธิบายภาพ
ภาพ 1 ปรากฎการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง วันที่ 21 ส.ค.60 ณ รัฐโอเรกอน สหรัฐอเมริกา
ภาพ 2 ปรากฏการณ์แหวนเพชร (The Diamond Ring Effect)
ภาพ 3 ปรากฏการณ์ลูกปัดเบลีย์ (Baily’s Beads)
ภาพ 4 พวยแก๊สของดวงอาทิตย์ (Solar Prominence) ระหว่างเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง
การใช้อุปกรณ์ดูดวงอาทิตย์ทางอ้อม และปรากฎการณ์เงาเสี้ยว (Crescent Shadows)
สุริยุปราคาเต็มดวง วันที่ 21 ส.ค.60 ณ รัฐโอเรกอน สหรัฐอเมริกา
ภาพ ผู้อำนวยการฯ ทีมเจ้าหน้าที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และคณะผู้สังเกตการณ์
สุริยุปราคาเต็มดวง วันที่ 21 ส.ค.60 ณ รัฐโอเรกอน สหรัฐอเมริกา

ร่วมแสดงความคิดเห็น