ลดทำนา-ปลูกข้าวโพด รายได้ดี-เตือนระวังโรค

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานผลประเมินโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อลดพื้นที่และผลผลิตข้าว โดยให้เกษตรกรเรียนรู้การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้งในพื้นที่นาหลังการเก็บเกี่ยวข้าวนาปี ในพื้นที่ 29 จังหวัด
จากการลงพื้นที่พบว่าปริมาณการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในโครงการเฉลี่ย 1,095 กิโลกรัมต่อไร่ รวม 163,094 ตัน มูลค่า 827.20 ล้านบาท ซึ่งเกษตรกร ร้อยละ 57.39 ขายผลผลิตให้ภาคเอกชนที่ร่วมโครงการ เฉลี่ย 9,437 กิโลกรัม/ราย จำหน่ายได้เฉลี่ย 5.18 บาท/กิโลกรัม

ภาคเหนือ โดยเฉพาะที่เชียงใหม่ น่าน แม่ฮ่องสอน ปลูกข้าวโพดกันมาก
นอกจากนั้นยังพบว่า มีกลุ่มเกษตรกรบางส่วนกว่าร้อยละ 42.61 ขายผลผลิตให้แหล่งอื่นๆ ได้แก่ ร้านค้า ตลาดทั่วไป พ่อค้าคนกลาง เฉลี่ย 13,780 กิโลกรัม/ราย ในราคาเฉลี่ย 4.97 บาท/กิโลกรัมเกษตรกรที่ร่วมโครงการมีรายได้เพิ่มขึ้นรวม 279.25 ล้านบาท
ทั้งนี้เกษตรกรที่ขอสินเชื่อ ธ.ก.ส. ในโครงการ พบว่า94.92 % ผ่านการพิจารณาและได้รับอนุมัติสินเชื่อ ที่ไม่ผ่านเงื่อนไข ก็เพราะอายุมาก วงเงินเต็ม บางรายไม่อยากเป็นหนี้เพิ่มใช้ทุนตัวเอง มีพื้นที่ปลูกข้าวโพดน้อยไม่คุ้มที่จะกู้ ส่วนที่กู้ได้ก็นำเงินไปซื้อปัจจัยผลิตไปเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ใช้หนี้เดิม ธ.ก.ส. เป็นต้น


ข้าวโพดราคาดีขึ้น ทำให้เกษตรกรแห่ปลูกกันเพิ่มขึ้น..
อย่างไรก็ตามศูนย์พืชไร่ เชียงใหม่ กรมวิชาการเกษตร แนะนำว่าระยะนี้เริ่มเข้าสู่ช่วงปลูกข้าวโพดฝักสด อาทิ ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดเทียน และข้าวโพดข้าวเหนียว แนะนำว่าเกษตรกรควรหมั่นสังเกตอาการของโรคราน้ำค้าง มักพบอาการในระยะเริ่มปลูก จะพบบริเวณยอดมีใบข้าวโพดสีเหลืองซีด หรือใบลายเป็นทางสีเขียวอ่อนสลับเขียวแก่ บางครั้งพบยอดข้าวโพดแตกเป็นพุ่ม ต้นแคระแกร็น เตี้ย ข้อถี่ ไม่มีฝักหรือมีฝักขนาดเล็ก ก้านฝักมีความยาวมาก หรือมีจำนวนฝักมากกว่าปกติ แต่ฝักจะไม่สมบูรณ์ เช่น มีจำนวนเมล็ดน้อย หรือไม่มีเมล็ดเลย
แหล่งที่เคยมีการระบาดของโรค หากสภาพแวดล้อมเหมาะสม คือ มีอุณหภูมิต่ำ และมีความชื้นในอากาศสูง เมื่อข้าวโพดมีอายุ 5-7 วัน ควรพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชไดเมโทมอร์ฟ 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 20-30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารเมทาแลกซิล 25% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นทุก 7 วัน และพ่นติดต่อกัน 3-4 ครั้ง
ในฤดูเพาะปลูกถัดไป เกษตรกรควรเลือกใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดที่ปลอดโรค และคลุกเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูกด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชเมทาแลกซิล 35% ดีเอส อัตรา 7-10 กรัมต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม หรือสารเมทาแลกซิล-เอ็ม 35% อีเอส อัตรา 3.5 มิลลิลิตรต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม หลีกเลี่ยงการเพาะปลูกข้าวโพดในฤดูที่มีการระบาดของโรครุนแรง
กรณีพบเริ่มระบาด ให้ถอนต้นกล้าข้าวโพดที่เป็นโรคไปเผาทำลายนอกแปลงทันที ระยะที่ข้าวโพดเริ่มงอก มักจะพบว่าเป็นโรคง่าย ซึ่งการพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชหลังจากต้นข้าวโพดอายุ 20 วันขึ้นไป จะไม่สามารถป้องกันกำจัดโรคราน้ำค้างได้

ร่วมแสดงความคิดเห็น