พาณิชย์ปลื้มผลงาน ปั้นเครือข่ายธุรกิจ

ก.พาณิชย์ โชว์ผลงานยอดเยี่ยม ปั้นเครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club จนแข็งแกร่ง ครึ่งปีแรกของปี ’60 สร้างมูลค่าทางการค้ารวมกว่า 470 ล้านบาท และคาดว่าจะสร้างมูลค่าทางการค้าได้ไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ในอีก 1 ปีข้างหน้า ทำให้เกิดการเชื่อมโยงสินค้า บริการ การตลาด และทรัพยากรทางธุรกิจระหว่างเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง พร้อมจับมือส่งต่อการค้าเจรจาธุรกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน จ้างงานคนในพื้นที่ สร้างฐานที่มั่นให้เศรษฐกิจท้องถิ่นระยะยาว

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงพาณิชย์ได้สนับสนุนและส่งเสริมให้เครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นหรือภูมิภาค (Local Economy) ในแต่ละพื้นที่ โดยการทำงานในรูปแบบ “ประชารัฐ” ตามแนวทางของรัฐบาล และใช้กลไกเครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club ทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ ในการเชื่อมโยงการค้า ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาศักยภาพทางการค้า และสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้แก่ผู้ประกอบการฐานราก ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศมีเสถียรภาพและเกิดการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้เครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club ทั่วประเทศ ทั้งที่เป็นผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชนและผู้ประกอบการรายย่อยที่อยู่ในท้องถิ่นมีความมั่นคงแข็งแกร่งมากขึ้น โดยได้ร่วมกันดำเนินกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ ส่งผลให้ครึ่งปีแรกของปี 2560 สมาชิกเครือข่ายฯ สามารถสร้างมูลค่าทางการค้าได้กว่า 470 ล้านบาท เช่น การจัดกิจกรรมจำหน่ายสินค้า การร่วมออกบูธงานแสดงสินค้า การเข้าร่วมเจรจาธุรกิจ (Business Matching) กับผู้ประกอบการทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมกว่า 600 ครั้ง โดยมีผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกเครือข่าย MOC Biz Club เข้าร่วมกว่า 4,000 ราย ทำให้มีการเชื่อมโยงสินค้า บริการ การตลาด และทรัพยากรทางธุรกิจระหว่างกัน สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาธุรกิจสู่มาตรฐานสากล สร้างสัมพันธ์อันดีและกิจกรรมทางการตลาดกับเครือข่ายทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน

นางอภิรดี กล่าวต่อว่า ซึ่งการเจรจาจับคู่ธุรกิจการค้าระหว่างผู้ประกอบการ MOC Biz Club ในภูมิภาคต่างๆ กับผู้ประกอบการต่างประเทศได้มีการทำบันทึกความร่วมมือ (MOU) ด้านการค้า การลงทุน การจำหน่ายสินค้าของสมาชิกฯ ไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญ (เมียนมาร์ เวียดนาม มาเลเซีย และจีน) เช่น งานแสดงและจำหน่ายสินค้าตลาดนัดชายแดนเชื่อมโยงการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน Amnatcharoen Asean Trade Link 2017 เกิดการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) คิดเป็นมูลค่า 175,451,000 ล้านบาท และการเชื่อมโยงการค้าผลไม้ไทยภาคตะวันออก ผ่านเครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club จันทบุรี ที่กระทรวงพาณิชย์ขับเคลื่อนให้เป็น “มหานครแห่งผลไม้” ไปยังต่างประเทศ โดยได้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายผลไม้กับผู้ประกอบการกัมพูชาและเวียดนาม จำนวน 5,000 ตัน มูลค่ารวมกว่า 150 ล้านบาท จำหน่ายทุเรียนแช่แข็งและลำไยอบแห้งไปยังประเทศจีน มูลค่า 20 ล้านบาท พร้อมนี้จะเปิดเป็นจุดรับซื้อส่งออกผลไม้ไทยเพื่อส่งออกเป็นการถาวร ซึ่งจะเป็นการช่วยระบายผลไม้ไทยในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดได้เป็นอย่างดี และขณะนี้กำลังให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนมังคุดในช่วงที่ราคาตกต่ำ โดยการเปิดจุดรับซื้อมังคุดเพื่อส่งออกไปกัมพูชาและเวียดนาม เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวสวนมังคุด

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ กระทรวงฯ จะมีการขยายผลและดำเนินกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้มแข็งและมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ผู้ประกอบการฐานรากในพื้นที่ โดยเฉพาะการส่งออกสินค้า ผลิตภัณฑ์ชุมชน ผลไม้ไทย ทั้งสดและแปรรูปไปยังต่างประเทศ และเน้นการจัดกิจกรรมการค้าชายแดนในภาคต่างๆ เพิ่มมากขึ้น คาดว่าภายใน 1 ปี จะสามารถสร้างมูลค่าทางการค้าได้ไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท และมีมูลค่าทางการค้าเพิ่มขึ้นในทุกปี โดยปัจจุบันเครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club มีสมาชิกทั้งสิ้นรวม 9,215 ราย โดยกลุ่มธุรกิจที่เป็นสมาชิกใน 5 อันดับแรกคือ อาหารและเครื่องดื่ม สุขภาพและความงาม เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง และกลุ่มวิชาชีพเฉพาะด้าน

จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาสะท้อนได้ถึงความสำเร็จของเครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club เป็นอย่างดี ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นหรือภูมิภาค มีการสร้างงานให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น สร้างโอกาสในการช่วยกันหาทางออกเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นร่วมกับผู้ประกอบธุรกิจและหน่วยงานของภาครัฐในรูปแบบ ‘ประชารัฐ’ ตามแนวทางของนโยบายรัฐบาล โดยกระทรวงฯ จะมีการบูรณาการระหว่างภาครัฐและเอกชนให้มากยิ่งขึ้น โดยพาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัดจะเป็นแกนกลางในการเชื่อมโยง ประสานงาน อำนวยความสะดวก ให้คำปรึกษาแก่เครือข่ายธุรกิจฯ รวมถึงผลักดันให้ผู้ประกอบการในเครือข่ายฯ เป็น ‘ผู้ประกอบการ 4.0 ในรูปแบบของ Smart Enterprise โดยใช้นวัตกรรมพัฒนาต่อยอดสินค้าให้ตรงใจผู้บริโภค ซึ่งถือเป็นกลไกหลักในการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการฐานราก และความเข้มแข็งให้ท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศต่อไป นางอภิรดี กล่าวปิดท้าย

ร่วมแสดงความคิดเห็น