ไฟเขียวท้องถิ่น สรรหาผู้บริหาร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายดุษฎี สุวัฒวิตยากร รองอธิบดีปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ลงนามในเอกสารที่มท.0809.2/ว 1667 แจ้งเรื่องการสรรหาตำแหน่งสายงานผู้บริหารที่ว่างตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ที่ 8/2560 ไปทุกจังหวัด โดยระบุถึงคำสั่งดังกล่าวที่หัวหน้าคสช.กำหนดให้คณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น( ก.จ.ก.ท.และ ก.อบต.) เข้ามาทำหน้าที่เกี่ยวกับการคัดเลือกและสอบคัดเลือกข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นให้มาตรฐาน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ บนพื้นฐานระบบคุณธรรมนั้น

เพื่อให้การสรรหาผู้บริหาร เป็นไปตามประกาศ ดังนั้นกรณี อบจ.,เทศบาล,อบต. ประสงค์จะดำเนินการด้วยวิธีการโอนข้าราชการท้องถิ่นประเภทเดียวกัน หรือ รับโอนประเภทอื่นในตำแหน่ง ระดับเดียวกัน แทนตำแหน่งที่ว่าง ให้เป็นอำนาจผู้บริหารท้องถิ่นที่สามารถดำเนินการได้ภายใน 150 วันนับตั้งแต่ 28 กรกฎาคม 2560


กรณีไม่ดำเนินการตามข้อแรกให้เป็นอำนาจของ กจ.ก.ท.และ ก.อบต.ก็ได้ ให้ทั้ง อบจ.,เทศบาล,อบต.ที่ประสงค์ดำเนินการ แจ้งข้อมูลตำแหน่งสายงานผู้บริหารพร้อมระบุเลขตำแหน่ง ความประสงค์ในการสรรหาตามกำหนดแจ้งต่อจังหวัด ตามแบบที่กำหนดไว้เพื่อ ให้จังหวัดจัดทำทะเบียนข้อมูลต่อไป

ทั้งนี้การดำเนินการสรรหาผู้บริหารในอปท.ตามตำแหน่งที่ว่าง ให้ยึดหลักความโปร่งใส ระบบคุณธรรม ซึ่งจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องยึดตามประกาศที่กำหนดไว้อย่างรอบคอบ ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ต้องแจ้งข้อมูลสายงานผู้บริหารที่ว่างแล้วเร่งส่งให้จังหวัดเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนภายใน 31 สิงหาคมนี้
ทั้งนี้ท้องถิ่นจังหวัดต้องกำชับ อปท.ให้ตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับตำแหน่ง สายงาน ระดับตำแหน่ง เลขตำแหน่งให้ถูกต้องตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นด้วย

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากกรรมการปฏิรูปท้องถิ่นว่า เท่าที่พูดคุย หารือกับผู้บริหารท้องถิ่น ส่วนใหญ่ มักจะมอบให้คณะกรรมกลางฯ(ก.จ.ก.ท.และก.อบต.) ดำเนินการ เช่นเดียวกับการเปิดสอบข้าราชการท้องถิ่นและพนักงานส่วนท้องถิ่นที่เปิดรับสมัครในขณะนี้ ที่คสช.ผ่าทางตัน ระบุรายละเอียด แนวทางชัดเจน ซึ่งต้องพร้อมจะเริ่มปฏิบัติงานกัน 1 ตุลาฯนี้จากจำนวนที่เปิดรับ 2 หมื่นกว่าตำแหน่ง ต้องมีคำสั่งแบบนี้ ทุกๆอปท.ถึงจะเร่งรีบ
เนื่องจากส่วนใหญ่จะกังวลถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น หากมีกรณีร้องเรียน ตรวจสอบ ยิ่งติดบัญชีตามคำสั่ง ม.44 ขั้นตอน การรวบรวมเอกสาร หลักฐานชี้แจงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

อดีต ผู้บริหาร อปท.ใหญ่ในเชียงใหม่ที่เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ถูกคำสั่งระงับปฏิบัติงาน ตามคำสั่ง คสช.ด้วย ม.44 ยอมรับว่า การรวบรวม เอกสาร หลักฐานชี้แจง เป็นที่ทราบกัน แค่ขอข้อมูลเพิ่มเติมเป็นระยะๆขนาด ระดับ อบจ. ก็เกือบปีแล้ว ไม่นับรวมในกลุ่มที่ทยอยขึ้นบัญชีด้วย ม.44 ค่อนข้างจะยากที่จะสรุปผลตามกำหนด 30 วันตามคำสั่ง เนื่องจากแต่ละรายมีเอกสาร หลักฐาน ประกอบกับ มีกลุ่มผู้บริหารท้องถิ่นอีกมากที่ต้องพิจารณา ดังนั้นประเด็นที่จะจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นปีนี้คงไม่น่าจะทัน ยกเว้นใช้ ม.44 แบบเดียวกับฝ่ายประจำ

ร่วมแสดงความคิดเห็น