โรงเรียนดังเชียงใหม่ สั่งปิดเรียน… หลังพบเด็กป่วยไข้หวัดใหญ่เกิน 10% เร่งทำความสะอาดฆ่าเชื้อ เพื่อลดความเสี่ยงทำคนป่วยเพิ่ม

อากาศเปลี่ยนไข่หวัดใหญ่ เริ่มระบาดหนัก ล่าสุดช่วง 8 เดือน เชียงใหม่มียอดผู้ป่วยรวมแล้วกว่า 4,500 ราย แต่ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ล่าสุดโรงเรียนดังสั่งปิดเรียนบางชั้น เนื่องจากพบเด็กนักเรียนป่วยเกิน 10% เพื่อทำความสะอาดฆ่าเชื้อและลดความเสี่ยงทำคนป่วยเพิ่ม ย้ำมาตรการ“ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” ลดการแพร่ระบาด

วันที่ 24 ส.ค.60 ร.อ.ภูรีวรรธน์ โชคเกิด นายแพทย์ สสจ.เชียงใหม่ เปิดเผยสถานการณ์ของโรคไข้หวัดใหญ่ของจ.เชียงใหม่ ว่า จากข้อมูลของงานระบาดวิทยา กลุ่มงานควบคุมโรค สสจ.เชียงใหม่ ตั้งแต่ 1 ม.ค.-12 ส.ค.60 พบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ทั้งสิ้น 4,541 ราย อัตราป่วย 283.33 ต่อแสนประชากร ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต อำเภอที่มีอัตราป่วยสูงสุด 3 อันดับได้แก่ คือ อ.สันทราย อ.เมือง และ อ.ดอยสะเก็ด ตามลำดับ ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้ปกติจะพบมากในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. และ ส.ค.-ต.ค. ของทุกปี และลดลงในช่วงฤดูร้อน

สำหรับการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ ของ จ.เชียงใหม่ ในปี 2560 นั้น มีจำนวน 8 เหตุการณ์ พบในโรงเรียน ค่ายทหาร และชุมชน ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ พบเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B จำนวน 7 เหตุการณ์ และสายพันธุ์ A H3N2 จำนวน 1 เหตุการณ์ สำหรับสายพันธุ์ A H3N2 ที่ระบาดในฮ่องกงและสายพันธุ์ H1N1 ที่ระบาดแถวชาย แดนพม่า ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีอยู่ในวัคซีน และพบได้ในประเทศไทยเช่นกัน โดยขณะนี้ จ.เชียงใหม่ มีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในโรงเรียนในเขตเมือง ซึ่งทำให้บางโรงเรียน ได้ประกาศปิดห้องเรียนบางห้อง หรือบางชั้นเรียน

โดยโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย ที่มีการปิดเรียนชั้น ม.1-ม.3 วันที่ 23-25 ส.ค.60 ต่อเนื่องวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ รวมเป็น 5 วัน เนื่องจากพบนักเรียนป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่นั้น การปิดเรียนดังกล่าวเป็นไปตามข้อแนะนำของทาง สสจ. เชียงใหม่ เนื่องจากพบว่ามีจำนวนนักเรียนป่วยมากถึง ร้อยละ 10 ของจำนวนนักเรียนในแต่ละชั้น โดยจำนวนนักเรียนที่ป่วยและมีลักษณะอาการเข้าข่ายว่า อาจจะป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่นั้น มีทั้งสิ้นเกือบ 100 คน ทั้งนี้การปิดเรียนดังกล่าว เพื่อทำความสะอาดและฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ ลดความเสี่ยงที่จะมีการแพร่ระบาด และทำให้มีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น พร้อมกันนี้เน้นย้ำโรงเรียนในการคัดกรองนักเรียน หากพบมีอาการป่วยเข้าข่ายต้องสงสัย ควรให้นักเรียนกลับบ้าน

 

 

ทั้งนี้อาการสำคัญของโรคไข้หวัดใหญ่ที่พบบ่อย ได้แก่ มีไข้สูง บางครั้งสูงมาก 38 – 41 องศา โดยไข้ขึ้นสูงภายใน 1 วัน ปวดศีรษะมาก ปวดกระบอกตาเวลาตาเคลื่อนไหว มีน้ำตาไหลเมื่อมีแสงสว่าง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อยเนื้อตัว อ่อนเพลียมาก ไอแห้ง ๆ เจ็บคอ คัดจมูก เบื่ออาหาร ทั้งหมดเป็นอาการที่พบได้บ่อย แต่อาจพบรุนแรงได้ เช่น หายใจเหนื่อย หอบ ไอรุนแรง หนาวสั่น คลื่นไส้ ท้องเสีย มึนงง ซึม และ/หรือหัวใจล้มเหลว ในกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง อาจมีความรุนแรงเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้ เช่น ปอดบวม ผู้ป่วยโรคหืด จะมีอาการรุนแรงขึ้นมาก กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และ/หรือ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ สมองอักเสบ และ/หรือ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เกิดอัมพาต ชัก แขน/ขาอ่อนแรง และโคม่า

ส่วนการติดต่อ สามารถติดต่อได้โดยวิธีเช่นเดียวกับโรคหวัด ติดต่อทางการหายใจ ไอ จามของผู้ป่วย จากเชื้อที่มีอยู่ในละอองอากาศเข้าสู่จมูกจากการหายใจ หรือสัมผัสเยื่อตา หรือ เยื่อเมือกช่องปาก และจากการสัมผัสเชื้อโดยตรง เช่น จากมือสัมผัสเชื้อ แล้วใช้มือเช็ดปาก ขยี้ตา เป็นต้น ซึ่งการแพร่กระจายเชื้อเกิดได้สูงในสัปดาห์แรกของอาการ โรคไข้หวัดใหญ่จะรักษาตามอาการ อาจรักษาโดยยาต้านไวรัสตั้งแต่เริ่มมีอาการ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง

ขณะเดียวกัน นายแพทย์ สสจ.เชียงใหม่ แนะนำแนวทางการปฏิบัติของประชาชน เพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคว่า ต้องใช้มาตรการ “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” ได้แก่ 1. ปิด คือ ปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม ไม่ควรไอจามใส่มือ ควรใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือไอจามใส่วงแขนของตนเอง และสวมใส่หน้ากากอนามัยปิดปาก จมูก เมื่อเป็นไข้หวัด , 2. ล้าง คือ ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่เมื่อสัมผัสสิ่งของ , 3. เลี่ยง คือ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย การใช้ของส่วนตัวร่วมกัน และ 4. หยุด คือ เมื่อป่วยควรหยุดเรียน หยุดงาน หยุดกิจกรรมในสถานที่แออัด แม้ผู้ป่วยจะมีอาการไม่มากก็ควรหยุดพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านเป็นเวลา 7 วัน  นับจากวันเริ่มป่วยหรือหลังจากหายเป็นปกติแล้วอย่างน้อย 1 วัน

นอกจากนี้ต้องควรพักผ่อนให้มากๆ กินอาหารที่มีประโยชน์ 5 หมู่ในทุกวัน ดื่มน้ำสะอาดให้มากๆ ฉีดวัคซีนป้องกันโรค โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ควรรีบพบแพทย์เมื่อไข้ขึ้นสูงเกิน 39-40 องศา หรือไข้ไม่ลดลงหลังได้ยาลดไข้ภายใน 1-2 วัน หรือ เมื่อมีอาการหอบเหนื่อยร่วมกับไอมาก อาจนอนราบไม่ได้ และเจ็บหน้าอกหายใจขัด เป็นต้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น