เครื่องสำอาง ปรับกลยุทธ์ หลังยอดซื้อหด

เผยค่านิยมคนไทย ใช้จ่ายซื้อเครื่องสำอางลดลงเหตุโดนปัจจัยค่าครองชีพ ส่งผลให้ต้องหันมารัดเข็ดขัด แต่ในกลุ่มชั้นกลางแม้ภาพรวมซบเซา แต่ส่วนใหญ่ไม่ลดการใช้ หันมาปรับพฤติกรรมการซื้อแทน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ค่าใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ในการเลือกซื้อเครื่องสำอางปี 2560 มีแนวโน้มลดลง อันเป็นผลมาจากปัจจัยเรื่องค่าครองชีพและหนี้ครัวเรือน ที่ทำให้การวางแผนงบประมาณใช้จ่ายเครื่องสำอางในปีนี้มีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ค่อนข้างน้อย (รายได้ต่ำกว่า 20,000 บาท)
แต่อย่างไรก็ดี ในกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางขึ้นไป (รายได้ต่อเดือน 20,000 บาทขึ้นไป ) กลับพบว่า มีแนวโน้มใช้จ่ายเลือกซื้อเครื่องสำอางใกล้เคียงกับปีก่อน และจะใช้งบประมาณมากขึ้นเรื่อยๆ ตามระดับรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้น
สำหรับตัวเลขเม็ดเงินค่าใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ในการเลือกซื้อเครื่องสำอางปี 2560
คนกรุงฯ ที่มีรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาท ค่าใช้จ่ายปี’60 = 23,220 ล้านบาท
คนกรุงฯ ที่มีรายได้ 20,000 บาทขึ้นไป ค่าใช้จ่ายปี’60 = 10,080 ล้านบาท
โดยในภาพรวมคนกรุงฯ ค่อนข้างให้ความสำคัญกับสินค้าเครื่องสำอาง สะท้อนจากผลการสำรวจที่ระบุว่า ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่การฟื้นตัวยังไม่ชัดเจน
แต่คนกรุงฯ กว่าร้อยละ 70.5 ยังเลือกที่จะจับจ่ายสินค้าในกลุ่มเครื่องสำอางอยู่ แต่จะหันมาปรับพฤติกรรมในการเลือกซื้อ เช่น ประหยัดค่าใช้จ่ายส่วนอื่นๆ แทน อาทิ ค่าท่องเที่ยวและนันทนาการ (ดูหนัง/ฟังเพลง) หรือหากจำเป็นต้องลดงบประมาณในส่วนนี้ลง ก็จะยังคงซื้อเหมือนเดิมแต่จะเลือกเครื่องสำอางที่มีราคาถูกลงหรือแบรนด์ที่มีตำแหน่งทางการตลาดต่ำลงมาจากที่เคยใช้ โดยส่วนใหญ่ยังเลือกซื้อจับจ่ายจากดิสเคาน์สโตร์มากที่สุด แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ ร้านค้าปลีกเฉพาะกลุ่มความงามที่หันมารุกตลาดเครื่องสำอางมากขึ้นสามารถทำตลาดได้ดีกับกลุ่มผู้บริโภควัยรุ่น-วัยทำงาน จากการนำเสนอเครื่องสำอางที่มีความแปลกใหม่ หลากหลาย และอยู่ในกระแสความนิยม
สำหรับในปีนี้ธุรกิจเครื่องสำอาง อาจจะต้องเผชิญกับความท้าทายด้านกำลังซื้อของผู้บริโภคและการแข่งขันที่ดุเดือดในตลาด แต่การมองหาโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ น่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเพิ่มยอดขายเหนือคู่แข่งได้ เช่น การใช้กลยุทธ์ด้านราคา ที่ทำให้ลูกค้าเห็นว่าหากเลือกสินค้าแล้วจะรู้สึกถึงความคุ้มค่าคุ้มราคา การขยายช่องทางในการสื่อสารไปยังผู้บริโภคเป้าหมายให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะสื่อออนไลน์/โซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นสื่อหรือช่องทางที่มีบทบาทมากขึ้นในสายตาของผู้บริโภค และการสร้างความประทับใจหรือประสบการณ์ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นกับผู้บริโภค ทั้งการนำเสนอสินค้าที่ผลิตจากวัตถุดิบจากธรรมชาติหรือออร์แกนิค ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคยุคใหม่ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ในรูปแบบของ DIY หรือ Special and Unique รวมถึงการสรรหานวัตกรรมหรือวัตถุดิบที่มีความแปลกใหม่/ หายากหรือไม่เคยมีมาก่อนในตลาดเข้ามาเป็นส่วนประกอบ เป็นต้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น