พิพิธภัณฑ์วัดร้องเม็ง แหล่งรวบรวมเครื่องใช้โบราณของคนล้านนา

ในระยะแรกข้าวของที่เก็บไว้ยังมีอยู่ไม่มาก จนชาวบ้านที่ทราบข่าวให้ความสนใจเข้ามาชมและบางส่วนก็ได้รับการบริจาคจากชาวบ้านนั่นเอง เมื่อจำนวนของมีมากขึ้นสถานที่เก็บรักษาก็ไม่เพียงพอ ท่านพระครูโกวิทธรรมโสภณจึงได้เริ่มสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นหลังปัจจุบันนี้ขึ้น เป็นอาคารคอนกรีตชั้นเดียวทรงไทยประยุกต์ ปัจจุบันภายในพิพิธภัณฑ์มีข้าวของเครื่องใช้สมัยก่อนจัดแสดงประมาณกว่า 3,000 ชิ้น

ชุมชนชาวล้านนาในอดีต มีการคิดค้นเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการเกษตร เครื่องมือที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งทำขึ้นด้วยวิธีการอย่างง่ายๆ โดยใช้วัสดุพื้นบ้านที่สามารถหาได้ไม่ยากนัก
เครื่องใช้ที่ชาวล้านนาในอดีตได้ประดิษฐ์ขึ้นก็เพื่ออำนวยประโยชน์ในการดำเนินชีวิตประจำวัน จนเป็นแบบอย่างที่คนในปัจจุบันได้นำมาประยุกต์ใช้

เมื่อกาลเวลาล่วงเลย เครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้านเหล่านั้นก็ไม่ได้รับความนิยม คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันน้อยคนนักที่จะได้เห็นได้สัมผัส ซึ่งถ้าปล่อยให้นานไปโดยที่ยังไม่มีการอนุรักษ์มรดกอันลํ้าค่านี้แล้ว คนรุ่นหลังก็จะไม่มีโอกาสได้รู้จักหรือพบเห็นอีกเลย
ที่บ้านร้องเม็ง ตำบลหนองแหย่ง อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ มีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านที่เก็บรวบรวมเครื่องใช้ของคนล้านนาไว้มากมาย บางชิ้นหาดูยากมาก ซึ่งจุดเริ่มต้นของการสร้างพิพิธภัณฑ์วัดร้องเม็งขึ้นนั้น เกิดจากแนวคิดของพระครูโกวิทธรรมโสภณ (ศรีผ่อง โกวิโท) เจ้าอาวาสวัดร้องเม็ง ซึ่งท่านได้แรงบันดาลใจมาจากไม้แบบ ที่บรรพบุรุษของท่านเคยใช้ปั้นทำอิฐ ท่านมีความคิดว่าข้าวของโบราณที่ปู่ย่าตายายเคยใช้ทำมาหากินเช่นนี้ ถ้าไม่มีคนรุ่นหลังเก็บรักษาไว้ก็จะสูญหายไปหมด ท่านจึงได้นำเอาแม่พิมพ์อิฐชิ้นนั้นมาเก็บไว้ที่กุฏิของท่าน และนั่นก็นับเป็นจุดเริ่มต้นในการเก็บรวบรวมบรรดาของเก่าต่างๆ กระทั่งปัจจุบันพิพิธภัณฑ์บ้านร้องเม็ง ก่อตั้งขึ้นกว่า 20 ปีมาแล้ว ถือเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านท้องถิ่นที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่ง
ในระยะแรกข้าวของที่เก็บไว้ยังมีอยู่ไม่มาก จนชาวบ้านที่ทราบข่าวให้ความสนใจเข้ามาชมและบางส่วนก็ได้รับการบริจาคจากชาวบ้านนั่นเอง เมื่อจำนวนของมีมากขึ้นสถานที่เก็บรักษาก็ไม่เพียงพอ ท่านพระครูโกวิทธรรมโสภณจึงได้เริ่มสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นหลังปัจจุบันนี้ขึ้น เป็นอาคารคอนกรีตชั้นเดียวทรงไทยประยุกต์ ปัจจุบันภายในพิพิธภัณฑ์มีข้าวของเครื่องใช้สมัยก่อนจัดแสดงประมาณกว่า 5,000 ชิ้น
ตามปกติพิพิธภัณฑ์โดยทั่วไปนั้น มักจะจัดแสดงเรื่องราวของอดีตหรืออย่างน้อยก็ให้นํ้าหนักกับเรื่องราวที่ผ่านมาเป็นหลัก พิพิธภัณฑ์วัดร้องเม็งก็เช่นกัน ข้าวของที่นำมาจัดแสดงตั้งแต่ด้านนอกของอาคารไปจนถึงบรรดาของเก่าที่จัดเรียงกันในตู้ ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องของอดีตที่ผ่านมาทั้งสิ้น ตั้งแต่ด้านหน้ามีบรรดาพาหนะของชาวบ้านในอดีต ตั้งแต่เกวียนยุคโบราณจนถึงรถจักรยานสองล้อร่วมสมัย จอดเรียงรายกันเป็นแถวรวมกับเครื่องมือทำนาอย่าง “คุตีข้าว”

ภายในพิพิธภัณฑ์วัดร้องเม็ง ยังได้แบ่งหมวดการจัดแสดงไว้เป็นส่วนต่างๆ เช่น ถ้วยชาม หม้อไห ครก ปิ่นโต กระต่ายขูดมะพร้าว เชี่ยนหมาก ถาด กระติ๊บข้าว เตา โต๊ะ ตู้ เก้าอี้ ธรรมมาสน์ พัดลม ตะเกียง กล้องถ่ายรูป ทีวี วิทยุ เครื่องเล่นแผ่นเสียง นาฬิกา จักรเย็บผ้า พระเครื่อง ฯลฯ นอกจากนั้นยังมีการจำลองห้องครัวของคนล้านนาสมัยก่อน ว่าภายในห้องครัวนั้นประกอบด้วยอุปกรณ์อะไรบ้าง ที่น่าสนใจเห็นจะได้แก่ “หนังควายแห้งสำหรับใส่ แกงบอน”
นอกจากนั้นยังมีอุปกรณ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันของคนสมัยโบราณจัดแสดงไว้อย่างน่าสนใจ อาทิ แอ๊บบุหรี่ขี้โย หรือที่เก็บยาสูบ อายุร้อยกว่าปี มีฝาเปิดปิดด้วยการเลื่อนไปมา นิยมใช้พกพาหรือจะนำมาต้อนรับแขกที่มาเยือนบ้านก็ได้ ที่สำคัญคือกล่องใส่บุหรี่ของเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้าย ที่ปรากฏอักษรย่อว่า “อกน” ซึ่งแปลว่าอิ่นแก้วนวรัฐ ที่ระลึกครบรอบอายุครบ 6 รอบ (พ.ศ.2477) โดย เจ้าวงศ์สักก์ ณ เชียงใหม่ หลานของเจ้าแก้วนวรัฐ บริจาคให้กับพิพิธภัณฑ์วัดร้องเม็ง เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2546 รวมถึงใบสำคัญการสมรสของคนยุคเมื่อ 60 ปีก่อน ที่สมัยนั้นเขียนชื่ออำเภอสันทรายว่า “สันซาย” และมีก๊อบแก๊บไม้ หรือรองเท้าที่ทำมาจากไม้ทั้งแผ่น ใช้เชือกทำเป็นสายรองเท้ามีอายุประมาณ 50 ปี กระเป๋าเดินทางที่ทำจากหวาย สำหรับให้เจ้าบ่าวใส่เสื้อผ้าเมื่อจะย้ายเข้าสู่บ้านเจ้าสาว สำหรับกระเป๋าหวายใบนี้เป็นของผู้มีฐานะ ไม่มีหลักฐานปรากฏว่าเป็นของผู้ใด
สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็คือ ภาพเขียนสีนํ้ามันบริเวณผนังเหนือหน้าต่าง เป็นภาพวิถีชีวิตของชาวล้านนา มีทั้งหัตถกรรมพื้นบ้าน เช่น การจักสาน งานบุญประเพณีต่างๆ รวมถึงภาพขบวนเกวียนวัว ซึ่งภาพเหล่านี้เป็นงานศิลปประเภทลายเส้นของศิลปินพื้นบ้านร้องเม็งคือ คุณเจริญ มานิตย์ ที่ดูมีเสน่ห์ตามแบบฉบับพื้นบ้าน
พิพิธภัณฑ์วัดร้องเม็งจึงเป็นเสมือนตัวแทนของประวัติศาสตร์ บันทึกเรื่องราวในอดีตผ่านสิ่งของเครื่องใช้ที่นับวันจะหาดูหาชมได้ยากยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ก้าวรุดไปข้างหน้า แต่ไม่ได้หันหลังกลับมามองความเป็นตัวตนของตัวเองแม้แต่น้อย..
สำหรับผู้ที่ต้องการค้นหาอดีตรากเหง้าของตนเองและร่วมรำลึกถึงความไพบูลย์แห่งดินแดนล้านนาแล้วละก็ ลองแวะเข้าไปชมที่พิพิธภัณฑ์วัดร้องเม็ง ม.2 ต.หนองแหย่ง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ บางทีการได้เข้าไปค้นหาอดีตก็อาจเหมือนกับการได้ย้อนกาลเวลากลับไปสู่อดีตเมื่อราว 70 – 80 ปีก็ว่าได้

ร่วมแสดงความคิดเห็น