ชาวบ้านร่วมกันเยียวยา ต้นยางนาอายุนับร้อยปี ถ.เชียงใหม่-ลำพูน ให้คงไว้

ที่ จ.เชียงใหม่ ภายในวัดกู่เสือ บ้านกู่เสือ ต.ยางเนิ้ง อ.สารภี กลุ่มชาวบ้านในหมู่บ้านและชุมชนช่วยกันผสมปุ๋ยและสารอาหารสำหรับต้นไม้ ตามสูตรของนักวิชาการมหาวิทยาลัยแม่โจ้  แล้วบรรจุลงในท่อพีวีซีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 นิ้ว ความยาว 50 ซม. ที่มีการเจาะรูเป็นช่วงตลอดความยาวของท่อ จากนั้นนำไปฝังลงตามแนวตั้งในหลุมที่ขุดอยู่ห่างจากโคนต้นยางนาไม่ต่ำกว่า 2 เมตร เพื่อเป็นการให้สารอาหารและเพิ่มช่องว่างให้อากาศและน้ำ สามารถระบายได้ เป็นการบำรุงส่วนรากของต้นยางนาให้แข็งแรง และสามารถทำการเติมปุ๋ยและสารอาหารสำหรับต้นไม้ได้เป็นระยะๆ ด้วย ซึ่งเป็นวิธีการอย่างง่ายๆ ที่ชาวบ้านในชุมชนสามารถช่วยกันทำได้ เพื่ออนุรักษ์ต้นยางนาที่ยืนต้นเรียงรายอยู่ตลอดสองข้างทางถนนเชียงใหม่-ลำพูน

โดยการดำเนินการดังกล่าวนี้ เป็นความร่วมมือกันของ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.เชียงใหม่, อบจ.เชียงใหม่, มหาวิทยาลัยแม่โจ้, เครือข่ายเขียว สวย หอม,อปท. และ 10 ชุมชน ตลอดเส้นทางถนนเชียงใหม่-ลำพูน ที่มีต้นยางนายืนต้นเรียงรายอยู่ ตั้งแต่เขต อ.เมืองเชียงใหม่ ผ่าน อ.สารภี ไปจนสุดเขตติดต่อกับ ต.อุโมงค์ อ.เมือง จ.ลำพูน วัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ต้นยางนาอายุกว่าร้อยปี ที่ปัจจุบันกำลังเผชิญปัญหาวิกฤติในการอยู่รอดจากการที่ชุมชนขยายตัวและปัญหาที่เกิดขึ้นกับชุมชน ทั้งนี้เพื่อให้ทั้งชุมชนและต้นยางนาดังกล่าว สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืนที่สุด

ทั้งนี้ทางด้าน อ.บรรจง สมบูรณ์ชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านรุกขกร และหัวหน้าทีมหมอต้นไม้อาสา คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดเผยว่า ตลอดสองข้างทางถนนเชียงใหม่-ลำพูน ตั้งแต่เขต อ.เมืองเชียงใหม่ ผ่าน อ.สารภี ไปจนสุดเขตติดต่อกับ จ.ลำพูน มีต้นยางนาสูงใหญ่หลายสิบเมตรรวมทั้งสิ้นกว่า 900 ต้น

โดยจากการสำรวจพบว่าในจำนวนนี้มีประมาณ 340 ต้น ที่กำลังเผชิญวิกฤติอย่างรุนแรงและมีความเสี่ยงสูงที่จะล้มตาย ทั้งนี้มีสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งมาจากการที่ระบบรากของต้นยางนา ไม่สามารถหาอาหารได้และดินบริเวณโคนต้นถูกอัดแน่นหรือมีการเทคอนกรีตทับจนอากาศและน้ำ ไม่สามารถถ่ายเทหรือไหลผ่านได้ ซึ่งส่งผลให้ต้นยางนามีปัญหาเปรียบเสมือนคนที่ป่วยหนัก และเป็นต้นเหตุที่ทำให้กิ่งหักหล่นหรือโค่นล้ม สร้างความเสียหายเหมือนที่ผ่าน

ดังนั้นจึงได้มีการคิดค้นวิธีการที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อเยียวยาและบำรุงฟื้นฟูต้นยางนาให้กลับมาแข็งแรงสม บูรณ์ ด้วยการใส่ปุ๋ยด้วยระบบท่อตามหลักวิชาการ เพื่อรักษาฟื้นฟูระบบราก โดยมีการสร้างความร่วมมือกับ อปท.และชาวบ้านในชุมชน ในการดำเนินการร่วมกัน เพื่อให้ชุมชนเกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและจะได้ช่วยกันดูแลรักษาต้นยางนาอย่างยั่งยืน เพราะชุมชนมีความใกล้ชิดและต้องอยู่ร่วมกับต้นยางนาเหล่านี้ ทั้งนี้การเยียวยาและฟื้นฟูต้นยางนาที่กำลังเผชิญปัญหาอยู่นั้น คาดว่าแต่ละต้นจะต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูประมาณ 2 ปี และสามารถดำเนินการได้ปีละประมาณ 100 ต้น โดยที่ระหว่างนั้น อาจจะต้องมีการดูแลรักษาในด้านอื่นๆควบคู่กันไปด้วย ซึ่งยอมรับว่าการดำเนินการนี้ จำเป็นต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก แต่เมื่อในที่สุดแล้วเชื่อว่าจะได้ผลเป็นที่น่าพอใจดังกล่าวนี้ด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น