เปิดเกมรุก บุกตลาดมาเลย์-พม่า-สิงคโปร์

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เปิดผลศึกษาศักยภาพการบริหารจัดการสินค้าเกษตรระหว่างไทยกับภูมิภาคอาเซียน เจาะแนวทาง 3 ตลาดคู่ค้าสำคัญ “มาเลเซีย สิงคโปร์ และเมียนมา” เล็งช่องรุกโอกาสสินค้าเกษตร ระบุตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ไทยยังเจ๋งได้เปรียบดุลการค้ากับอาเซียนมาโดยตลอด มั่นใจสินค้า เกษตรไทยยังผงาดในอาเซียน
นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากที่สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations : ASEAN) ได้ครบรอบการก่อตั้ง 50 ปี เมื่อวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา ปัจจุบันอาเซียนมีความแข็งแกร่ง จนทั่วโลกต้องจับตามอง โดยมูลค่าการค้าระหว่างกันขยายตัวมาโดยตลอด สัดส่วนการค้า ของไทยกับอาเซียนขยายตัวมากขึ้นจากร้อยละ 20 ในปี 2550 เพิ่มเป็นร้อยละ 22 ในปี 2559 และ
ไทยเกินดุลการค้ากับอาเซียนมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนา มีสภาพภูมิศาสตร์ที่ใกล้เคียงกัน ผลิตผลทางการเกษตรส่วนใหญ่เป็นชนิดเดียวกัน จึงนับเป็นคู่แข่งทางการค้ากันด้วย
นางสาวจริยา กล่าวต่อว่า สศก. จึงได้ได้เล็งเห็นความสำคัญแนวทางการพัฒนาและอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกัน จึงได้ศึกษาถึงศักยภาพการบริหารจัดการสินค้าเกษตรระหว่างไทยและภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเน้นการบริหารจัดการสินค้าไทยกับมาเลเซีย สิงคโปร์ และเมียนมา พบผลการศึกษาที่น่าสนใจในประเด็นต่างๆ คือ 1.การบริหารจัดการสินค้าเกษตรระหว่างไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ จากปี 2559 ด้านสภาพเส้นทางการขนส่งมีความสะดวกสามารถขนส่งทางรถบรรทุกจากด่านสะเดา จังหวัดสงขลา ถึงกรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย ใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมง และถึงสิงคโปร์ ใช้เวลาประมาณ 14 ชั่วโมง โดยเส้นทาง AH2 ด่านสะเดา กัวลาลัมเปอร์ ยะโฮบารู สิงคโปร์ เป็นเส้นทางที่มีศักยภาพในการขนส่งสินค้าเนื่องจากมีความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน และท่าเรือที่สำคัญ ได้แก่ ท่าเรือปีนัง และสามารถขนส่งสินค้าไปยังสิงคโปร์ได้ ทั้งนี้ สินค้าเกษตรนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ผัก ผลไม้สด สินค้าประมง ส่วนสินค้าส่งออกได้แก่ ยางพารา 2.การบริหารจัดการสินค้าเกษตรระหว่างไทย สหภาพเมียนมา การค้าสินค้าเกษตรส่วนใหญ่
เป็น การนำเข้าสินค้าเกษตรที่ไทยขาดแคลนเพื่อใช้บริโภคภายในประเทศ และเป็นวัตถุดิบในการแปรรูป เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วต่างๆ อาหารทะเล สัตว์มีชีวิต สำหรับสินค้าที่ไทยส่งออกไปยังเมียนมาส่วนใหญ่เป็นอาหารแปรรูป เช่น อาหารกระป๋อง อาหารกึ่งสำเร็จรูป เครื่องดื่มน้ำอัดลม เป็นต้น มีด่านสินค้าที่สำคัญ คือ 1.ด่านระนอง เกาะสอง มะริด ทวาย ด่านบ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี เป็นจุดสำคัญในการนำเข้าสินค้าประมงจากทางเมียนมา รวมถึงนำเข้าปลาป่นเพื่อนำมาทำอาหารสัตว์ 2.ด่านแม่สอด เมาะละแหม่ง ย่างกุ้ง เป็นจุดที่สำคัญในการนำเข้าสินค้าปศุสัตว์ ได้แก่ โคมีชีวิต สินค้าพืช เช่น ถั่วต่างๆ พริก
หอมใหญ่ รวมถึงสินค้าประมงทะเลสดที่รวบรวมจากท่าเรือย่างกุ้ง เช่น กุ้ง ปู ปลา สินค้าออกที่สำคัญ
ได้แก่ น้ำตาล ข้าว น้ำมันพืช สินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น 3.ด่านแม่สอด พะโค มัณฑะเลย์ ตามู เป็นเส้นทางที่เริ่มต้นจากแม่สอดมาแยกตรงพะโค ขึ้นไปทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมียนมา เป็นเส้นทางซุปเปอร์ไฮเวย์ลาดยางแปดช่องจราจร ผ่านเมืองหลวงเนปิดอร์ สิ้นสุดที่มัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมและกระจายสินค้าที่สำคัญทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภค รวมทั้งสินค้าเกษตรส่งออกและนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น ไทย จีน อินเดีย ส่งต่อทางเรือไปยังย่างกุ้ง
จากการศึกษาทั้ง 3 ประเทศ มีกฎระเบียบ
และแนวทางการบริหารจัดการที่สำคัญ คือ 1.ประเทศมาเลเซีย ดำเนินการโดย Federal
Agricultural Marketing Authority (FAMA) ทำหน้าที่ดูแลการพัฒนาด้านการตลาดสินค้าเกษตรเพื่อการนำเข้าและการส่งออก มีระเบียบการส่งออกและนำเข้าผลไม้สด ผักสด และไม้ตัดดอก ที่บังคับใช้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2552 รวม 3 ขั้นตอน
คือ การคัดแยกเกรด (Grading) การบรรจุสินค้า (Packaging) และการติดฉลาก (Labeling) ซึ่งตรวจสอบสินค้าโดยเจ้าหน้าที่ของ FAMA ตามจุดชายแดน, ด่านศุลกากร และ
ท่าเรือขนส่งสินค้า ซึ่งหากสินค้าไม่ผ่านการตรวจสอบ ผู้ประกอบการจะต้องนำสินค้ากลับภายในเวลาที่กำหนด และหากไม่มีผู้ใดรับผิดชอบ เจ้าหน้าที่ของ FAMA สามารถทำลายหรือดำเนินการใดๆ กับสินค้าดังกล่าวได้ หาก
ไม่ปฏิบัติตามระเบียบฯ มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 ริงกิต หรือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ
2.ประเทศสิงคโปร์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีประกาศ เรื่อง กำหนดพืชควบคุมเฉพาะ พ.ศ. 2556 การส่งออกพืช ได้แก่ พริก ขิง
ถั่วฝักยาว คะน้า กวางตุ้ง หน่อไม้ฝรั่ง ผักชีไทย กระเจี๊ยบเขียว ทุเรียน ลำไย ลิ้นจี่ มังคุด ส้มโอ มะม่วง
ไปยังสิงคโปร์ จะต้องผ่านการตรวจสอบเชื้อจุลินทรีย์ หรือสิ่งอื่นใดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด ต้องแนบใบรับรองสุขอนามัย (Health Certificate) ไปกับสินค้า
3.สหภาพเมียนมา กำหนดจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศ อัตราร้อยละ 30 เก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอัตราร้อยละ 10 ของเงินได้สำหรับบุคคลที่ทำงานกับบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน โดยเมียนมา ไม่มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่จัดเก็บภาษีการค้าอัตราร้อยละ 5-10 และไม่มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต พร้อมดำเนินนโยบายปฏิรูปภาคการเงิน โดยอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ต่างชาติเข้ามาตั้งสำนักงานตัวแทนและเปิดให้บริการอย่างเสรี ซึ่งเมียนมามีนโยบายที่สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของภาคเกษตร โดยสนใจความร่วมมือการลงทุนเรื่องการเกษตรทุกรูปแบบ ได้แก่ ข้าว อ้อย/น้ำตาล ปลา/อาหารทะเล ผลไม้(มะม่วง กล้วย) โคนม/โคเนื้อ อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ยังผลิตสินค้าเกษตรแบบใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้าน เทคโนโลยีการผลิตในระดับต่ำ ยังใช้แรงงานคนและสัตว์เป็นหลัก ซึ่งขณะนี้มีการกำหนดเขต Zoning ส่งเสริมการทำการเกษตร ตามความเหมาะสมของศักยภาพพื้นที่ ภายใต้การดำเนินงานตามแผนพัฒนาการเกษตร 5 ปี ของเมียนมา โดยได้กำหนดเขตการจัดการพื้นที่ ออกเป็น เขตการทำเกษตรกรรม เขตการทำปศุสัตว์ เขตการทำประมง และเขตการทำป่าไม้
ทั้งนี้ เมียนมา มีความต้องการให้เกิดความร่วมมือด้านการเกษตรในด้าน Improvement,
Transfer Technology และ Processing
Development สินค้าเกษตรสำคัญที่ต้องการพัฒนาในลำดับแรก คือ สินค้าข้าว โดยเฉพาะในด้านการตลาด และการร่วมลงทุนโรงสี และโคนม ที่ต้องการส่งเสริมการลงทุนผลิตน้ำนม อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ เมียนมาได้เริ่มจัดทำ Cattle Zoning
บริเวณรัฐฉาน และเอยะวดี เพื่อเชื่อมโยงกับการทำ Contract Farming กับบริษัทการเกษตรของไทย และมีความร่วมมือกับต่างประเทศ ในด้านปศุสัตว์ ในโครงการความร่วมมือภายใต้กรอบ ACMECS, JICA, FAO, IFAD ส่วนด้านประมง
มีการร่วมลงทุนกับประเทศเวียดนาม ไทย ฮ่องกง
สหภาพยุโรป และเนเธอร์แลนด์ ในด้านสินค้าพืช
มีโครงการความร่วมมือกับ FAO, CABI และเกาหลีใต้ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
กล่าวส่งท้าย

ร่วมแสดงความคิดเห็น