บ่อเกลือ …เมืองน่าน ตำนานการทำเกลือบนภูเขา

เทือกเขาหลวงพระบางทอดยาวเบื้องหน้าสุดลูกหูลูกตา บางช่วงของยอดดอยหายลับเข้าไปในกลีบเมฆที่พัดผ่านมาพร้อมกับละอองหมอกในช่วงฤดูฝน ทิวทัศน์สองข้างทางเป็นหุบเหวที่สามารถมองเห็นหมู่บ้านชาวเขาที่สร้างบ้านอยู่ระหว่างดอยได้อย่างชัดเจน

ยามนี้เรากำลังมุ่งหน้าสู่อำเภอหนึ่งของจังหวัดน่านที่ซ่อนตัวอยู่ในวงล้อมของขุนเขา ใช่แล้วเรากำลังมุ่งหน้าสู่อำเภอบ่อเกลือ ซึ่งเป็นลมหายใจและตำนานของการทำเกลือบนภูเขา

บ่อเกลือ อำเภอเล็ก ๆ ที่สงบเงียบ วิถีชีวิตของชาวบ้านที่นี่อยู่อย่างเรียบง่าย แต่สิ่งหนึ่งที่เรียบง่ายและเป็นความมหัศจรรย์ที่ยังหาคำตอบไม่พบก็คือ ที่อำเภอแห่งนี้มีการทำเกลือ ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่า ที่นี่เป็นเพียงแห่งเดียวในภาคเหนือที่มีการทำเกลือบนภูเขา จนเป็นที่มาของชื่ออำเภอบ่อเกลือทุกวันนี้ ว่ากันว่าบ่อเกลือที่นี่มีค่าราวกับทองคำ ผู้ที่ไม่เคยอดเกลือเช่นเรา ๆ ท่าน ๆ คงไม่รู้หรอกว่าในยามขาดเกลือเป็นเช่นไร คงนึกไม่ออกว่าทองคำกับเกลือนำมาเปรียบเทียบกันได้ตรงไหน

ร่องรอยความสำคัญของเกลือสินเถาว์ในภาคอีสาน อาจจะมีผู้คนศึกษาสำรวจเก็บข้อมูลกันอย่างแพร่หลายจำนวนหนึ่งแล้ว แต่ทางภาคเหนือ เกลือสินเถาว์ที่พูดกันว่ามีค่าราวกับทองคำนั้น ยังเป็นเรื่องที่ต้องการข้อมูลมาก
ที่ต้นน้ำน่าน ในเขตอำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่านเป็นที่รู้กันว่ามีการผลิตเกลือสินเถาว์ที่ใหญ่ที่สุดเพียงแห่งเดียวในภาคเหนือ ในยุคสมัยที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยยังมีบทบาทอย่างสูง พื้นที่ในแถบเทือกเขาด้านตะวันตกของจังหวัดน่านตามพรมแดนไทย – ลาวกลายเป็นสิ่งต้องห้ามในการเดินทางเข้าไป ซึ่งรวมถึงบริเวณบ่อเกลือเมืองน่านด้วย

พรมแดนไทย – ลาวด้านอำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่านแบ่งคั่นด้วยสันปันน้ำของเทือกเขาหลวงพระบาง ในบริเวณนี้เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำหลายสาย ซึ่งไหลลัดเลาะตามแนวเขากำเนิดเป็นที่ราบแคบระหว่างเทือกเขาเหล่านั้นด้วย และแน่นอนผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณเทือกเขานี้เรียกตนเองว่า ลัวะ

อำเภอบ่อเกลือมีชื่อเสียงในด้านการทำเกลือบนภูเขาที่ไม่มีที่ใดเหมือน ในเขตอำเภอบ่อเกลือทั้งอำเภอมีบ่อที่นำมาทำเกลืออยู่ประมาณ 8 บ่อ โดยจะกระจายอยู่ในเขตตำบลบ่อเกลือเหนือและบ่อเกลือใต้ ศูนย์กลางการผลิตเกลือในหุบเขานี้อยู่ที่บ้านบ่อหลวง ตำบลบ่อเกลือใต้

 

บ้านบ่อหลวงอยู่ในพื้นที่เริ่มต้นของที่ราบแคบ ๆ ระหว่างเทือกเขาริมน้ำมาง ซึ่งในบริเวณนี้จะเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านต่าง ๆ อีก 8 หมู่บ้าน บ้านบ่อหลวงมีบ่อเกลือสาธารณะอยู่ 2 บ่อ ชาวบ้านจะเรียกว่า บ่อเหนือและบ่อใต้ บ่อเหนืออยู่ริมแม่น้ำมาง ส่วนบ่อใต้ห่างออกไปราว 500 เมตรติดเชิงเขาท้ายหมู่บ้าน ทั้งสองบ่อกรุขอบด้วยคอกไม้กันดินปากหลุมถล่ม และมีนั่งร้านสำหรับยืนตักน้ำเกลืออยู่ข้าง ๆ บ่อเกลือทั้งสองบ่อมีน้ำเกลือซึ่งมีความเข้มข้นสูงกว่าบ่ออื่น ๆ

พ่ออุ้ยนนถี เขื่อนแก้ว อายุ 92 ปี ตำนานที่ยังมีลมหายใจของการทำเกลือบ้านบ่อหลวงเล่าว่า เมื่อก่อนที่บ้านบ่อหลวงจะมีบ่อเกลืออยู่หลายบ่อ แต่เดี๋ยวนี้ได้แห้งไปหมดแล้ว เหลืออยู่เพียงสองบ่อเท่านั้น พอถึงหน้าฝนน้ำในบ่อจะลดลง แต่หน้าแล้งน้ำในบ่อจะมีมากขึ้น พ่ออุ้ยยังเล่าอีกว่า เคยมีชาวบ้านพยายามจะขุดหาบ่อเกลือเพิ่มอีกแต่ก็ไม่สามารถพบบ่อเกลืออีกเลย ปัจจุบันนี้บ่อเกลือทั้งสองบ่อของหมู่บ้านมีชาวบ้านเข้ามาตักน้ำเกลือมาต้มทำเกลือแล้วกว่า 50 ราย โดยบ่อเหนือมีคนมาทำประมาณ 30 ราย ส่วนบ่อใต้มีคนทำ 20 ราย

การจะนำเกลือจากบ่อขึ้นมาต้มทำเกลือใช่ว่าจะกระทำกันได้ง่าย ๆ ชาวบ้านจะต้องทำพิธีเลี้ยงผีเมืองและเจ้ารักษาบ่อเกลือ คือ เจ้าซางคำ กันก่อน โดยจะทำทุกปีในวันแรม 8 ค่ำเดือน 5 หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “งานแก้ม” ในสมัยก่อนเคยทำกันถึง 7 วัน แต่ปัจจุบันลดลงมาเหลือเพียง 3 วันเท่านั้น

การทำเกลือของชาวบ้านบ่อเกลือจะนำน้ำเกลือที่ตักจากบ่อมาต้มในกะทะประมาณ 4 – 5 ชั่วโมงให้น้ำเกลือระเหยแห้ง จากนั้นก็จะนำไม้พายมาตักเกลือใส่ตะกร้าที่แขวนไว้เหนือกะทะเพื่อให้น้ำเกลือไหลลงมาในกะทะ ทำอย่างนี้ไปเรื่อยจนน้ำในกะทะแห้งหมดแล้วจึงตักน้ำเกลือจากบ่อมาใส่ลงไปใหม่

ในอดีตชาวบ้านอำเภอบ่อเกลือจะทำเกลือขึ้นเพื่อใช้ในครัวเรือน แต่เมื่อปัจจุบันถนนหนทางสะดวกมากขึ้นการเดินทางเข้าเมืองก็ง่าย ชาวบ้านจึงได้นำเกลือจากที่นี่ออกไปจำหน่ายยังหมู่บ้านต่าง ๆ รวมถึงต่างอำเภอก็มี
ปัจจุบันอำเภอบ่อเกลือสวยงามด้วยภูมิประเทศ ป่าเขาเขียวขจี ควันหลงของสงครามจางหายไปและพื้นที่นี้กำลังได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดน่านที่รอคอยนักเดินทางเข้ามาสัมผัสกลิ่นไอของธรรมชาติและตำนานการทำเกลือบนที่สูง.

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected].

ร่วมแสดงความคิดเห็น