เร่งถกแก้ไขปัญหา การร้องเรียนเครื่องเล่น “Flight of the Gibbon”

หน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหา การร้องเรียนเครื่องเล่น Flight of the Gibbon หลังตรวจสอบพบว่าครอบครองที่ดินไม่เป็นไปตามกฎหมาย

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 7 ก.ย.60 นายประจวบ กันธิยะ รอง ผวจ.เชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเพื่อติดตามกำกับและตรวจสอบพื้นที่ ที่มีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ครั้งที่ 1/2560 ที่ห้องประชุม 3 ชั้น 3 อาคารอำนวยการ ศาลากลาง จ.เชียงใหม่ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม อาทิ ท้องถิ่น จ.เชียง ใหม่ โยธาธิการและผังเมือง จ.เชียงใหม่ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 (เชียงใหม่) ท่องเที่ยวและกีฬาจ.เชียง ใหม่ เป็นต้น

ตามที่มีผู้ร้องเรียนได้ยื่นเรื่องร้องเรียน ต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณี ผู้ประกอบการให้บริการเครื่องเล่น Flight of the Gibbon ซึ่งเปิดให้บริการในพื้นที่ ต.ห้วยแก้ว อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ ประกอบกิจการที่อาจมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว และอาจมีการครอบครองการใช้ประโยชน์จากที่ดินไม่เป็นไปตามกฎหมาย จ.เชียงใหม่ จึงดำเนินการเพื่อหารือข้อแก้ไขในปัญหาที่มีผู้ร้องเรียน และแต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาร้องเรียน กรณีผู้ประกอบการให้บริการเครื่องเล่น Flight of the Gibbon โดยได้ดำเนินการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบแนวเขตพื้นที่ให้บริการกิจกรรม พร้อมทั้งตรวจสอบสิทธิ์การถือครองที่ดิน ในวันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา และสรุปผลการลงพื้นที่ฯ

โดยผลการตรวจสอบสถานประกอบกิจการผจญภัย โรยตัว และโหนสลิง Flight of the Gibbon ตรวจสอบฐานกิจกรรม 23 ฐาน ระยะทาง 3,490.65 เมตร ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ออน สภาพป่าดิบเถา มีการใช้ไม้รองต้นไม้เพื่อป้องกันต้นไม้ถูกทำลาย ซึ่งได้ตรวจสอบเอกสาร ส.ค.1 จำนวน 3 ฉบับ พบปรากฏว่า ยื่นรังวัดโฉนดที่ดิน ส.ค.1 จำนวน 2 แปลง 1)เลขที่ 52 เนื้อที่ 10 ไร่ นำชี้จุดเป็นเนื้อที่ 18 ไร่ 2 งาน 55 ตรว. 2)เลขที่ 53 เนื้อที่ 4 ไร่ นำชี้จุดเป็นเนื้อที่ 31 ไร่ 1 งาน 28 ตรว. โดยไม่ได้ยื่นรังวัดออกโฉนด ส.ค.1 จำนวน 1 แปลง แต่เจ้าของมานำชี้ เลขที่ 90 เนื้อที่ 15 ไร่ นำชี้จุดเป็นเนื้อที่ 10 ไร่ 2 งาน 98 ตารางวา มีการเหลือบทับที่ดินอีกสองแห่งบางส่วน อีกทั้ง ฐานกิจกรรมจุดที่ 1-4 ไม่อยู่ในพื้นที่ตามการนำชี้จุด แนวฐานกิจกรรมระยะทาง 383.36 เมตร และไม่มีเอกสารครอบครองที่ชัดเจน

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้หารือการหาแนวทางแก้ไข โดยให้สำนักงานจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 (เชียงใหม่) ไปดำเนินคดีตามกฎหมาย ในส่วนที่มีพื้นที่เกินพื้นที่ตามเอกสาร ส.ค.1 แล้วรอผลการพิจารณาตรวจสอบความถูกต้องของพื้นที่ให้ชัดเจนของศาล แต่ระหว่างการหาข้อเท็จจริง สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ เนื่องจากไม่มีอำนาจบังคับให้ปิดกิจการจนกว่าจะตัดสินว่าผิด แต่หากศาลตัดสินว่ามีความผิดจริง ถึงจะให้องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น ดำเนินการยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการ ส่วนทางผู้ประกอบการ จะนำข้อมูลหลักฐานเข้าไปพิสูจน์ความถูกต้อง ตามกระบวนการทางกฎหมายต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น