ดันสินค้าGI ผุดทั่วไทยหวังบุกตลาดโลก

กรมทรัพย์สินทางปัญญา ผลักดัน 5 จังหวัดมีสินค้า GI ให้ได้ เพื่อให้ได้เป้าหมาย 77 จังหวัดสินค้า GI ล่าสุดขึ้น GI ให้กับสินค้า มะพร้าวน้ำหอมบ้านแพ้ว และนิลเมืองกาญจน์ และดันสินค้า GI ไทยขึ้นทะเบียนในจีน เวียดนาม และอินโดนีเซีย หลังจากผ้าไหมยกดอกลำพูน กาแฟดอยช้าง กาแฟดอยตุง ได้รับความคุ้มครองในต่างประเทศแล้ว

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า ในปี 2560 กรมมีเป้าหมายเดินหน้าโครงการส่งเสริมหนึ่งจังหวัด หนึ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ให้ครบทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงการส่งเสริมการขึ้นทะเบียน GI ไทยในต่างประเทศ เพื่อขยายตลาดสินค้า GI ที่มีศักยภาพ ได้มีโอกาสสร้างมูลค่าเพิ่มการค้าและการส่งออกได้ เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน ทั้งนี้ ปัจจุบันการขึ้นทะเบียน GI ในประเทศไทย ยังคงเหลืออีก 5 จังหวัดที่ยังไม่ขึ้นทะเบียน คาดว่าจะผลักดันให้ได้ภายในปลายปีนี้ เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายจังหวัดละ 1 รายการ
สำหรับ 5 จังหวัดที่ยังไม่มีสินค้า GI ได้ขึ้นทะเบียน ได้แก่ สระแก้ว สิงห์บุรี สตูล ระนอง และกระบี่ แต่ทั้งนี้ กรมจะพยายามติดตามและลงพื้นที่ในจังหวัดเป้าหมาย และจังหวัดที่เคยได้รับ GI เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจ ในการยื่นคำขอขึ้นทะเบียน GI ถึงผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าที่ขึ้นทะเบียน อีกทั้งยังเป็นการบ่งบอกที่มาและเอกลักษณ์ของสินค้านั้น ๆ ได้ ซึ่งจะทำให้สินค้า GI ที่ขึ้นทะเบียนของพื้นที่ มีมูลค่าทั้งด้านราคาและความเป็นมาได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ ล่าสุดมีการยื่นคำขอขึ้นทะเบียน GI 2 จังหวัด และได้ส่งเสริมไปแล้วก่อนหน้านี้ ได้แก่ สินค้ามะพร้าวน้ำหอมบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร และนิลเมืองกาญจน์ จังหวัดกาญจนบุรี หลังจากการขึ้นทะเบียนสินค้าทั้ง 2 รายการ กรมจะติดตามและส่งเสริมให้สินค้ารักษามาตรฐาน คุณภาพ ให้มีเอกลักษณ์และมีความยั่งยืน พร้อมทั้งจัดทีมงานไปให้คำปรึกษา แนะนำ เพื่อรับฟังปัญหาอุปสรรคทั้งเรื่องการขึ้นทะเบียน การตลาด การพัฒนาสินค้า เพื่อปรับปรุงและเพิ่มคุณภาพสู่ระดับสากลให้ได้ในอนาคต
สำหรับแนวทางส่งเสริมการขึ้นทะเบียน GI ที่กรมได้ดำเนินการไว้นั้น ได้แก่ การส่งเสริมให้เกิดการจัดทำคำขอและขึ้นทะเบียน GI การจัดทำระบบควบคุมภายในและให้งบประมาณสนับสนุนในการตรวจสอบด้วยระบบควบคุมภายนอก การส่งเสริมช่องทางการตลาดและการประชาสัมพันธ์ การส่งเสริมในด้านงบประมาณ ซึ่งแนวทางดังกล่าว กรมจะพยายามดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้เป้าหมายที่ตั้งไว้ และให้ได้มาตรฐานระดับสากล และเป็นที่ยอมรับในตลาดต่างประเทศด้วย
ปัจจุบันประเทศไทยให้ความคุ้มครองสินค้า GI ไทยและต่างประเทศ รวมทั้งสิ้น 90 รายการ โดยเป็นสินค้าไทย 76 รายการ มาจาก 53 จังหวัด และเป็นสินค้าจากต่างประเทศ 14 รายการ มาจาก 8 ประเทศ ขณะที่สินค้า GI ไทยที่ได้รับการคุ้มครองในต่างประเทศ มีทั้งหมด 6 รายการ ได้แก่ ในสหภาพยุโรป 4 สินค้า คือ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ กาแฟดอยตุง กาแฟดอยช้าง และข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ส่วนในต่างประเทศที่ประเทศเวียดนาม คือ เส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน และอินโดนีเซีย คือ ผ้าไหมยกดอกลำพูน
นายทศพลกล่าวอีกว่า กรมยังได้ส่งเสริมการขึ้นทะเบียน GI ในต่างประเทศ โดยเฉพาะในจีน สำหรับสินค้าข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ มะขามหวานเพชรบูรณ์ และส้มโอทับทิมสยามปากพนัง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ ขณะเดียวกันยังอยู่ขั้นเตรียมการจัดทำคำขอเพื่อยื่นจดทะเบียนสินค้าดังกล่าวในกัมพูชา และเวียดนามด้วย อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการควบคุมมาตรฐานและคุณภาพของสินค้า กรมได้จัดทำระบบควบคุมภายในและการยื่นขอใช้ตรา GI ไทยด้วย ใน 20 รายการสินค้า เพื่อให้ได้มาตรฐานทั้งภายในประเทศและต่างประเทศด้วย
นอกจากนี้ กรมส่งเสริมด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์สินค้า GI ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ด้วย ทั้งการจัดงาน GI Market, IP Fair, OTOP Mid Year และการเข้าร่วมงาน THAIFEX, Local Economy ที่ผ่านมา รวมไปถึงการประชาสัมพันธ์แหล่งผลิตสินค้า GI การจัดมุมจำหน่ายสินค้า การจัดทำป้ายแสดงข้อมูลสินค้า GI อีกทั้งการเริ่มโครงการพัฒนาผลิตภันฑ์และบรรจุภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เพื่อให้ผู้ประกอบการสินค้า GI สามารถทำตลาดได้เอง และเป็นการสร้างการรับรู้ให้กับตลาดและผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม กรมจะเดินหน้าผลักดันให้เกิดสินค้า GI อย่างต่อเนื่องภายในปลายปีนี้ และปี 2561 เพื่อให้สินค้า GI ไทยเป็นที่รู้จักทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับทั้งผู้บริโภคและมาตรฐานระดับสากล เพราะมั่นใจว่าหากสามารถดำเนินการได้ จะทำให้สินค้า GI ไทยเป็นสินค้าที่ต้องการในตลาด และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และสร้างรายได้ให้กับชุมชนต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น