เมืองอุตรดิตถ์…ดินแดนแห่งประวัติศาสตร์

     จังหวัดอุตรดิตถ์ นอกจากจะมีชื่อเสียงว่าเป็นแหล่งเพาะปลูกลางสาดที่ใหญ่ที่สุดแล้ว ในอดีตเมืองแห่งนี้ยังได้ชื่อว่าเป็นเมืองสำคัญทางการค้าระหว่างดินแดนภาคเหนือกับภาคกลาง กระทั่งมีชื่อเรียกขานเมืองแห่งนี้ว่าเป็นเมืองท่าเหนือ ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยที่เมืองอุตรดิตถ์จะมีการผสมผสานวัฒนธรรมของผู้คนระหว่างคนพื้นเมืองดั้งเดิมกับผู้คนต่างถิ่นที่เข้ามาค้าขายในเมืองแห่งนี้

“เหล็กน้ำพี้ลือเลื่อง เมืองลางสาดหวาน บ้านพระยาพิชัยดาบหัก ถิ่นสักใหญ่ของโลก” นี่เป็นคำขวัญของจังหวัดอุตรดิตถ์ เมืองแห่งประวัติศาสตร์ที่น่าเที่ยวอีกเมืองหนึ่งของภาคเหนือ

จังหวัดอุตรดิตถ์ นอกจากจะมีชื่อเสียงว่าเป็นแหล่งเพาะปลูกลางสาดที่ใหญ่ที่สุดแล้ว ในอดีตเมืองแห่งนี้ยังได้ชื่อว่าเป็นเมืองสำคัญทางการค้าระหว่างดินแดนภาคเหนือกับภาคกลาง กระทั่งมีชื่อเรียกขานเมืองแห่งนี้ว่าเป็นเมืองท่าเหนือ ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยที่เมืองอุตรดิตถ์จะมีการผสมผสานวัฒนธรรมของผู้คนระหว่างคนพื้นเมืองดั้งเดิมกับผู้คนต่างถิ่นที่เข้ามาค้าขายในเมืองแห่งนี้

ในช่วงระยะหลังเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม เศรษฐกิจ เมืองพิษณุโลกได้มีความเจริญรุ่งเรืองมากขึ้นทำให้เมืองพิษณุโลกกลายเป็นเมืองที่มีความโดดเด่นทางด้านการค้าในภูมิภาคแถบนี้ขึ้นมาแทน บทบาทการเป็นเมืองท่าการค้าของอุตรดิตถ์ในอดีตก็ลดน้อยลง

นอกจากความสำคัญในการเป็นเมืองแห่งการค้าแล้ว อุตรดิตถ์ยังได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีศิลปวัฒนธรรม ประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์โดยเฉพาะภาพวิถีชีวิตของคนอุตรดิตถ์ในแถบหมู่บ้านชนบทยังคงมีการดำเนินชีวิตแบบเรียบง่ายตามหลักธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และด้วยความเชื่อเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาที่ฝังรากลึกมาเป็นเวลาช้านานจึงทำให้ยากที่จะแยกวิถีชีวิตของพวกเขาออกจากความเชื่อดังกล่าวได้

ปัจจุบันจังหวัดอุตรดิตถ์ กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีคนเดินทางมาเยือนปีละหลายแสนคน แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญและเป็นศูนย์รวมใจคนอุตรดิตถ์ได้แก่ หลวงพ่อเพชร วัดท่าถนน เป็นพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย ศิลปสมัยเชียงแสนประทับนั่งในท่าขัดสมาธิเพชร จึงเรียกว่า “หลวงพ่อเพชร” และเป็นพระพุทธรูปประจำจังหวัดอีกด้วย นอกจากนั้นยังมีวัดโบราณสมัยอยุธยาตอนปลายที่น่าเข้ามาเที่ยวได้แก่ วัดพระฝางสว่างคบุรีมุนีนาถ ตั้งอยู่ที่บ้านพระฝาง ต.ผาจุก เดิมบริเวณแห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณนามว่า เมืองสว่างคมุณี หรือ เมืองฝางซึ่งเป็นเมืองเก่าแก่สมัยสุโขทัย

ภายในตัวเมืองยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญได้แก่ หอวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งได้เก็บรวบรวมโบราณวัตถุที่หาชมยากตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ นอกจากนั้นยังมี “ยันมาศ” หรือคานหามไม้แกะสลักลวดลายอย่างสวยงาม สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นสมัยอยุธยาตอนปลาย รวมถึงเก็บรวบรวมผ้าซิ้นตีนจกโบราณที่มีอายุหลายร้อยปี

หากเดินทางไปยังอำเภอลับแล ก็ยังมีวัดเก่าแก่ที่สำคัญอีกหลายวัด ที่นักท่องเที่ยวจะพลาดไม่ได้คือ วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองอุตรดิตถ์มาช้านาน วัดนี้สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัยตอนปลายในราวรัชสมัยของสมเด็จพระมหาธรรมาราชาลิไท ชาวบ้านนิยมเรียกชื่อวัดนี้ว่า “วัดทุ่งยั้ง”  กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2478 และให้เรียกชื่อวัดแห่งนี้อย่างเป็นทางการว่า “วัดมหาธาตุ”

ภายในวัดมหาธาตุมีโบราณสถานที่สำคัญคือ พระมหาเจดีย์ทรงลังกาภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และพระวิหารหลวงซึ่งภายในประดิษฐานหลวงพ่อโต ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นหน้าตักกว้าง 2 วา ลงรักปิดทอง เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองอุตรดิตถ์อีกองค์หนึ่ง

ใกล้กับวัดมหาธาตุลงไปทางใต้ประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นวัดพระแท่นศิลาอาสน์ วัดสำคัญเก่าแก่อีกวัดหนึ่งของ อ.ลับแล ภายในบริเวณวัดพระแท่นศิลาอาสน์ นอกจากซุ้มประดิษฐานพระแท่นซึ่งตั้งอยู่ในวิหารหลวงแล้ว ยังมีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านซึ่งเก็บรวบรวมเครื่องใช้สมัยเก่าของคนโบราณ นอกจากนั้นยังมีข้าวของเครื่องใช้ที่หาชมได้ยาก อาทิ เงินโบราณ พระพุทธรูปเก่า เครื่องปั้นดินเผา ฯลฯ จัดแสดงไว้ให้นักท่องเที่ยวและผู้สนใจได้ชม                   อุตรดิตถ์ ได้ชื่อว่าเป็นเมืองของเหล็กน้ำพี้ หากนักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้าไปเที่ยวชม สามารถเดินทางไปได้ซึ่งบ่อเหล็กน้ำพี้ ตั้งอยู่ที่อำเภอทองแสนขัน เป็นบ่อเหล็กกล้าปรากฏอยู่ 2 บ่อคือ บ่อพระแสง และ บ่อพระขรรค์ โดยบ่อพระแสงจะเป็นบ่อที่มีเนื้อเหล็กดีกว่าบ่ออื่น ซึ่งโบราณกาลกล่าวว่าเป็นบ่อเหล็กน้ำพี้ที่ใช้ตีดาบให้กับพระมหากษัตริย์เท่านั้น ในบริเวณนี้ยังมีศาลเจ้าพ่อเหล็กน้ำพี้และอาคารพิพิธภัณฑ์

ส่วนนักท่องเที่ยวที่ต้องการชมพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับดาบเหล็กน้ำพี้ ต้องเข้าไปชมที่พิพิธภัณฑ์ดาบเหล็กน้ำพี้ ซึ่งเก็บรวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับดาบเหล็กน้ำพี้ ตลอดจนเครื่องลางของขลังที่ทำจากเหล็กน้ำพี้และยังเก็บรักษาดาบเหล็กน้ำพี้ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย
สอบถามข้อมูลการท่องเที่ยวจังหวัดอุตรดิตถ์ได้ที่ สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ภาคเหนือเขต 3 จ.พิษณุโลก 0-5525-2742-3, ศูนย์การท่องเที่ยวกีฬาและนันทนาการจังหวัดอุตรดิตถ์ 0-5541-1023, สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดอุตรดิตถ์ 0-5541-2729
จักรพงษ์  คำบุญเรือง [email protected]. 28/4/60

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น