ฤดู “ชนกว่าง” ของคนล้านนา

สัตว์จำพวกแมลงปีกแข็งที่มีลักษณะเขายื่นออกมา เปรียบเสมือนอาวุธร้ายที่มีไว้ทิ่มแทงศัตรูนั้น มีอยู่หลายชนิด แต่มีอยู่ชนิดหนึ่งที่ผู้คนในแถบล้านนานิยมนำมาต่อสู้กันจนกลายเป็นการละเล่นพื้นบ้าน เรารู้จักแมลงชนิดนี้ในชื่อว่า “กว่าง”และหากจะถามผู้ชายชาวเหนือว่ารู้จัก “กว่าง” หรือไม่ คงไม่มีใครปฏิเสธแน่นอน เพราะชีวิตผู้ชายชาวเหนือแทบทุกคนล้วนแล้วแต่เคยผ่านการเลี้ยงกว่างและชนกว่างมาแล้วทั้งนั้น การชนกว่างจึงเป็นการละเล่นและกีฬาของคนท้องถิ่นล้านนามาตั้งแต่โบราณ เริ่มจากเด็กตัวเล็ก ๆ ไปจนถึงผู้ใหญ่ก็นิยมเล่นชนกว่างกัน


คนภาคเหนือรู้จักจับกว่างมาชนกันตั้งแต่โบราณกาล ไม่ผิดอะไรกับการชนวัว กัดปลาหรือตีไก่ของคนในภาคอื่น มันเป็นทั้งประเพณีพื้นบ้านที่ถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษและยังเป็นความบันเทิงเริงใจมาจวบจนปัจจุบัน

การเล่นชนกว่างของคนล้านนาจะนิยมเล่นกัน ในช่วงหลังจากหมดฤดูฝนระหว่างเดือนกันยายนถึงเดือนพฤศจิกายน อันเป็นช่วงเวลาที่หาจับกว่างได้ง่ายมาก การจับกว่างส่วนใหญ่จะออกไปจับกันในป่าหรือบริเวณที่มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นเราเรียกการออกไปหาจับกว่างว่า “ตั้งกว่าง”

กว่างที่นิยมนำเอามาทำเป็นกว่างตั้งได้แก่ กว่างตัวเมีย กว่างกิและกว่างแซม นำไปผูกติดไว้กับอ้อยมีขอสำหรับแขวนไว้ตามร่มไม้ชายคา หรือตามต้นไม้ในป่า การตั้งกว่างจะเริ่มตั้งแต่ตอนหัวค่ำ นำกว่างตั้งไปล่อไว้ในบริเวณที่คาดว่าจะมีกว่างมาติด ในเวลากลางคืนกว่างที่เนำไปตั้งจะบินวนไปรอบๆอ้อย เมื่อกว่างตัวใหม่ที่ออกจากดินได้ยินเสียงหรือได้กลิ่นของอ้อยที่ตั้งล่อไว้ ก็จะบินมาเกาะดูดกินน้ำหวาน พอถึงตอนเช้าเจ้าของกว่างตั้งก็จะพากันออกมาดูกว่าง คนเมืองเรียกการออกมาดูกว่างว่า “ใจกว่าง”

เมื่อฤดูชนกว่างจะมีพ่อค้าจากอำเภอรอบนอกนำกว่างที่ตั้งได้มาขายให้กับบรรดานักเล่นกว่าง แหล่งชุมนุมเซียนกว่างที่ใหญ่ที่สุดของเชียงใหม่อยู่ที่บริเวณลานโล่งหลังโรงเรียนปรินส์ฯ หรือที่เรียกว่าย่านสันกู่เหล็ก ทุกปีเมื่อถึงเทศกาลชนกว่างจะเป็นที่รู้กันดีของบรรดานักเล่นกว่างทั้งหลายทั้งเด็กและใหญ่จะมาชุมนุมกันที่นี่ คุณนิยม ชื่นใจดี ประธานชมรมอนุรักษ์กว่างชนเชียงใหม่กล่าวว่า “การเล่นชนกว่างเป็นการละเล่นพื้นบ้านของคนเมืองมาเป็นเวลานานแล้ว สมัยก่อนมักจะมีการเล่นชนกว่างตามใต้ถุนบ้านเท่านั้น หลังจากที่ทุกคนกินข้าวปลาอาหารเย็นแล้วก็จะออกมาเล่นชนกว่างกันที่บ้านคนใดคนหนึ่ง สมัยนั้นถือว่าเป็นการเล่นเพื่อความผ่อนคลายและสนุกสนานเท่านั้น แต่ปัจจุบันการชนกว่างได้พัฒนาขึ้นจนมีการเปิดเป็นบ่อนชนกว่าง ไม่ใช่เล่นเพื่อความสนุกสนานแล้วแต่จะนิยมเล่นเพื่อการพนันมากกว่า”

ทุก ๆ วันในช่วงเทศกาลชนกว่างจะมีผู้คนเดินทางมาที่ตลาดนัดชุมนุมกว่างเป็นจำนวนมาก บางคนเดินทางเพื่อมาหาซื้อกว่างแล้วนำกลับไปชนที่หมู่บ้านของตนเอง บางคนมาหาซื้ออุปกรณ์เกี่ยวกับการชนกว่างซึ่งมีขายตั้งแต่อาหารกว่างเรื่อยไปจนถึงอุปกรณ์สำหรับชนกว่าง จึงเกิดเป็นอาชีพใหม่สำหรับพ่อค้าที่มีการทำขอนชนกว่างขาย
ประธานชมรมอนุรักษ์กว่างชนบอกอีกว่า “กว่างชนที่นำมาขายที่นี่ส่วนใหญ่จะมีพ่อค้าไปรับซื้อจากหมู่บ้านต่าง ๆ ในชนบทแล้วคัดเลือกเอากว่างตัวที่สวยมาจำหน่าย ซึ่งมีราคาตั้งแต่ตัวละ 20 บาทขึ้นไปจนถึงตัวละหมื่นกว่าบาทก็มี”
การชนกว่างถือเป็นกีฬาอย่างหนึ่งของคนภาคเหนือ สิ่งสำคัญที่จะขาดไม่ได้สำหรับการชนกว่างก็คือ ไม้ผั่นกว่าง ซึ่งใช้ในเวลาที่นำกว่างมาชนกัน เสียงของไม้ผั่น เมื่อเวลาผั่นกับขอนไม้จะช่วยให้กว่างเกิดความหึกเหิมในการทำศึกต่อสู้กับศัตรู ถ้าเปรียบก็คงคล้าย ๆ กับเสียงดนตรีปี่พาทย์ของนักมวยยังไงยังงั้น ลุงสิงห์วรรณ โปธิ ผู้ซึ่งคร่ำหวอดอยู่กับการชนกว่างมาตลอดทั้งชีวิตนอกจากนั้นลุงเป็นผู้หนึ่งที่มีฝีมือในการทำไม้ผั่นกว่างได้สวยสดงดงามไม่แพ้ใครบอกว่า “ไม้ที่นิยมนำมาใช้ทำไม้ผั่นกว่างนั้น ได้แก่ ไม้เกร็ดและไม้มะเกลือ เพราะหาได้ง่ายและคุณสมบัติพิเศษเมื่อเวลานำมาทำเป็นไม้ผั่นแล้ว จะเกิดเสียงที่ไพเราะ อีกชนิดหนึ่งที่นิยมนำมาทำเป็นไม้ผั่นก็คือ เขาควายและกระดูกควาย แต่ก็หายากมากและมีราคาแพง ส่วนราคาของไม้ผั่นกว่างที่ขายอยู่นั้นมีราคาตั้งแต่อันละ 30 บาทถึงร้อยกว่าบาท ขึ้นอยู่กับลวดลายและวัสดุที่ใช้ทำ”


กว่างที่นิยมนำมาใช้ชนส่วนใหญ่ได้แก่ กว่างแซม กว่างโซ้ง ซึ่งมีตัวขนาดใหญ่และมีความอดทนสูง การชนกว่างจะนำกว่างทั้งสองมาเปรียบกันก่อน โดยดูจากขนาดของตัวที่เท่ากัน เรียกว่า “การเผียบกว่าง” โดยจะดูเรื่องของขนาดลำตัว ลักษณะของเขาจะต้องมีขนาดใกล้เคียงกัน เมื่อเจ้าของตกลงกันแล้วก็จะนำกว่างลงกอน เพื่อทดลองชนกันก่อนภาษาเหนือเรียกว่า “จามกว่าง”

สิ่งที่ขาดไม่ได้ในการชนกว่างก็คือ เวทีชนกว่าง ที่ทำมาจากไม้แกนปอ หรือไม้งิ้ว มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 – 6 นิ้ว ยาว 25 – 30 นิ้วเรียกว่า “กอนไม้” ซึ่งช่วงกลางของกอนจะเจาะเป็นรูแล้วนำกว่างตัวเมียหรือ “กว่างแม่” ใส่ลงไป ก่อนการชนกว่างจะนำกว่างชนมาดมกว่างแม่เสียก่อน เพื่อให้มีความหึกเหิมหรืออีกความหมายหนึ่งก็คือ ให้กว่างที่นำมาชนได้กลิ่นแล้วเกิดการต่อสู้เพื่อแย่งชิงกว่างตัวเมีย การชนกว่างจะนับเป็นยก หรือ คาม เมื่อกว่างตัวใดสามารถใช้เขาหนีบฝ่ายตรงข้ามแล้วยกชูขึ้น ถือว่าเป็น 1 ยก หรือ 1 คาม กว่างบางตัวแข็งแรงมากสามารถชนได้มากถึง 12 คามก็มี

หลังจากที่การชนกว่างของภาคเหนือได้แพร่หลายไปยังถิ่นอื่น ๆ ทำให้การชนกว่างได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ด้วยมนต์เสน่ห์และสีสันของนักต่อสู้จากขุนเขาชื่อเสียงของแมลงกว่างจึงขจรขจายออกไปทั่วโลก โดยเฉพาะชาวญี่ปุ่นได้ให้ความสนใจเป็นอย่างมากถึงขนาดลงทุนเดินทางมาตระเวนซื้อกว่างฝีมือดี จนเกิดกระแสการขาดแคลนกว่างชนมาแล้วครั้งหนึ่ง

ปัจจุบันได้มีการจัดตั้งองค์กรกว่างประเทศไทยขึ้นเพื่อจัดแข่งขันการชนกว่าง ซึ่งถือได้ว่าเป็นงานยิ่งใหญ่ระดับโลก ไม่เพียงแต่คนไทยเท่านั้นที่สนใจชาวต่างประเทศก็ได้ให้ความสนใจกับกีฬาพื้นบ้านภาคเหนือของเราด้วย
การชนกว่างถือเป็นประเพณีการละเล่นพื้นบ้านของคนในภาคเหนือ วงจรชีวิตของป่าจะเกี่ยวพันกับความสมบูรณ์ของป่าไม้ เมื่อป่ามีมากกว่างก็จะสามารถหาอาหารได้ง่าย แต่ปัจจุบันทั้งป่าไม้ ทั้งกว่างกำลังอยู่ในสภาวะที่ขาดแคลน ป่าไม้ถูกทำลายลงอย่างรวดเร็ว จำนวนของกว่างลดลงเพราะถูกสารพิษจากยาฆ่าแมลงที่มนุษย์ใส่ลงไปในดิน น่าเป็นห่วงอนาคตของป่า ถ้าหากไม่มีป่ากว่างก็ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ หากเป็นเช่นนั้นจริงประเพณีการชนกว่างของคนล้านนาอาจจะเหลือเพียงแค่ตำนานที่เล่าขานกันมาเท่านั้น.
(กรอบ)

กว่างเป็นแมลงจำพวกด้วงปีกแข็ง อยู่ในวงศ์ Scarabaeidae มี 6 ขา ตัวผู้จะมีเขาข้างหน้าไว้เพื่อต่อสู้ ลักษณะลำตัวสีน้ำตาลเข้ม สีแดงคล้ำ บางตัวอาจมีสีดำสนิท กว่างมีอยู่หลายชนิดตัวที่มีห้าเขาเรียก กว่างซาง ตัวที่มีสามเขาเรียก กว่างก่อ แต่ที่นิยมนำมาชนกันมีสองเขาเรียก กว่างคาม
กว่างคามตัวโตเต็มวัยมีขนาดประมาณ 5-6 ซม.ตัวผู้มีสองเขาส่วนตัวเมียจะมีขนาดเล็กกว่าตัวผู้แต่ไม่มีเขา กว่างมีวงจรชีวิตประมาณ 1 ปี เริ่มจากไข่ฟักเป็นตัวหนอนอยู่ในดินกินซากพืชและรากไม้เป็นอาหาร จากนั้นเป็นดักแด้แล้วลอกคราบเป็นแมลงกว่างขึ้นจากดินบินหาคู่เพื่อผสมพันธุ์

อาหารของกว่างได้แก่ ไผ่เลี้ยง ไผ่ซาง เปลือกไม้ของต้นคาม ส่วนอาหารยอดนิยมที่คนนำมาเลี้ยงกว่างได้แก่ อ้อย กล้วย แตงไทย

ประเภทของกว่างที่พบในภาคเหนือ
กว่างแม่ เป็นกว่างตัวเมียไม่มีเขา ตัวสีน้ำตาลยาวประมาณ 1 นิ้ว มีชื่อเรียกที่ต่างกันเช่น กว่างอีมุ้ม,แม่อีหลุ้ม,แม่บังออน เป็นต้น
กว่างกิ เป็นกว่างตัวผู้มีเขาสั้นตัวเล็กสีน้ำตาล
กว่างกิดง เป็นกว่างตัวผู้มีเขาสั้นตัวโตสีน้ำตาล
กว่างแซม เป็นกว่างตัวผู้มีเขายาว ตัวเล็กสีน้ำตาล ไม่นิยมนำมาทำเป็นกว่างชน เพราะไม่ค่อยมีความอดทน
กว่างฮัก เป็นกว่างตัวผู้ขนาดเล็ก มีเขายาวตัวสีดำที่เรียกว่า ฮัก เพราะมีสีเหมือนรัก
กว่างโซ้ง เป็นกว่างตัวผู้มีรูปร่างได้สัดส่วนสวยงาม ตัวใหญ่มีเขาโง้มยาว นิสัยอดทนดุดัน นิยมนำมาใช้ชนกัน
กว่างห้าเขา เป็นกว่างที่มีรูปร่างใหญ่โต มีเขา 3 หรือ 5 เขา เป็นกว่างที่หายากราคาแพง ไม่นิยมนำมาชน

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected].

ร่วมแสดงความคิดเห็น