สูดโอโซนให้เต็มปอด โอบกอดอากาศบริสุทธิ์ ที่ม่อนเงาะ

สูดโอโซนให้เต็มปอด โอบกอดอากาศบริสุทธิ์ นั่งดูทะเลหมอกยามเช้า สัมผัสบรรยากาศที่สุดแสนสดชื่น หลายคนอาจจะมองว่าการท่องเที่ยวเป็นการใช้เวลาว่างโดยเปล่าประโยชน์ แต่รู้หรือไม่ว่าเป็นกิจกรรมที่ดีมากอย่างหนึ่งในการเปิดมุมมองใหม่ให้กับชีวิต ดอยม่อนเงาะ ก็อาจเป็นหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับคุณ

สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวง นำทีมเจ้าหน้าที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชนลงพื้นที่ แนะนำแหล่งท่องเที่ยวและภารกิจงานของสถาบัน “ตามรอยพ่อ ณ ดอยม่อนเงาะ” ณ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ  อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่


ดอยม่อนเงาะ ที่มาของชื่อหมู่บ้านมาจาก ม่อนเงาะ ที่มีลักษณะเป็นหินผาอยู่เคียงกันสามลูก ผาที่อยู่ผาแรกคือ ผาลูก ผากลางมีลักษณะเด่นกว่าคือ ผาแม่ และผาที่อยู่ถัดไปคือ ผาพ่อ ดังนั้น คำว่า “ม่อนเงาะ” จะเพี้ยนมาจากคำว่า “โม่งโง๊ะ” ที่แปลว่า แม่ ในภาษาม้งนั่นเอง
การเดินทางไปดอยม่อนเงาะ ระยะทางจากตัวเมืองเชียงใหม่ 67 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง ใช้เส้นทาง 107 สายเชียงใหม่-แม่แตง ถึงตลาดแม่มาลัยเลี้ยวซ้ายตามเส้นทาง 1095 แม่มาลัย-ปาย ประมาณ 10 กิโลเมตร จะพบทาแยกขึ้นศูนย์ทางขวามือ ตรงข้ามวัดสบเปิง ทางขึ้นศูนย์อีก 10 กิโลเมตร

จุดเยี่ยมชมที่น่าสนใจ

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ

จุดชมวิวดอยม่อนเงาะ สูงจากระดับน้ำทะเล 1,425 เมตร เป็นจุดที่สามารถมองเห็นทิวทัศน์ที่สวยงามโดยเฉพาะฤดูหนาวสามารถมองเห็นทะเลหมอกในยามเช้าและยามเย็น เห็นพระอาทิตย์ค่อยๆ ลาลับขอบฟ้า นอกจากนี้ ยังมีจุดกางเต็นท์เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวสำหรับการพักแรม ระยะทางจากศูนย์ฯประมาณ 1.5 กิโลเมตร สำหรับการเดินทาง 1 กิโลเมตรแรก สามารถเดินทางโดยรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ และเดินเท้าอีกประมาณ 500 เมตร

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ชมแปลงแปลงผลผลิตของเกษตรกร พื้นที่ประมาณ 80 ไร่ ได้แก่ ฟักทองญี่ปุ่น ฟักทองสีส้ม การปลูกผักในโรงเรือน แปลงเสาวรสรับประทานสด สวนกาแฟ

ชมแปลงปลูกชา ที่มีวิวทิวทัศน์สวยงาม การแปรรูปชา และชิมชารสดีของโครงการหลวง แปลงชาพันธุ์ดี ได้แก่ ชาพันธุ์หยวนจือ ชาพันธุ์เบอร์ 12 ซึ่งเป็นแปลงปลูกชาทั้งหมดประมาณ 40 ไร่ ตั้งอยู่บริเวรโรงชาปงตอง ซึ่งเป็นศูนย์ฯ ย่อยของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ ระยะทางจากศูนย์ 11 กิโลเมตรสำหรับการเดินทาง สามารถเดินทางโดยรถยนต์ รถจักรยานยนต์ได้

และแวะชมไร่ชาลุงเดช เกษตรกรตัวอย่าง “ลุงเดช รังสี” ที่ทำไร่ชาและไร่สวนผสมอื่นๆ สร้างรายได้ให้กับครอบครัวด้วยวิถีชีวิตแบบพอเพียง ชิมชาหอมกรุ่นกับบรรยากาศสบายๆ และเรื่องเล่ากว่าจะมาเป็นชาชั้นดี

โดยนักศึกษาฝึกประสบการณ์

นางสาวศิริกาญจน์ หล่อสุพรรณพร , นางสาววิมลณัฐ แสนมา , นางสาววรัญญา บุญเขื่อง , นางสาวอโณทัย  สิงห์ขาว  มหาวิทยาลัยแม่โจ้ , นายอภิสิทธิ์ กันธิยะ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

 

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น