มูลนิธิโครงการหลวง และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง จัดประชุมวิชาการผลงานวิจัย ประจำปี พ.ศ.2560


การประชุมวิชาการผลงานวิจัย ของมูลนิธิโครงการหลวงฯ ประจำปี พ.ศ.2560
โดยมีศาสตร์ตราจารย์ ดร.พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ รองประธานมูลนิธิโครงการหลวง เป็น
ประธานในพิธีเปิด ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ผ่านมา
ศาสตร์ตราจารย์ ดร.พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ รองประธานมูลนิธิโครงการหลวง กล่าวว่า
หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวงทรงมอบหมายให้กระผมเป็น
ประธานเปิดการประชุมวิชาการผลงานวิจัยของมูลนิธิโครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560ในวันนี้
มูลนิธิโครงการหลวง สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ให้ความสำคัญกับการวิจัยและ
พัฒนาองค์ความรู้ที่เหมาะสมต่อสภาพภูมิสังคมบนพื้นที่สูงเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกรมากที่สุดทั้งด้านความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและพึ่งพาตนเองได้ รวมถึงการรักษาทรัพยากรธรรมชาติของประเทศด้วยเหตุนี้แนวทางการดำเนินงานเพื่อสนอง
พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชกว่า 49 ปี ที่ว่า
“อะไรที่ไม่รู้ก็วิจัยให้รู้ เพื่อนำไปสอนชาวเขา”จึงเป็นการดำเนินงานที่ครบวงจรจนเกิด
การพัฒนาอย่างสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยพื้นที่สูงตามหุบเขา
หรือเชิงเขามีความลาดชันสภาพแวดล้อมภูมิอากาศหนาวเย็นพันธุ์พืชและสัตว์ที่เหมาะสมจึงต่างจากพื้นที่ราบประกอบกับพื้นที่สูงมีความยากลำบากในการขนส่ง
และมีความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมดังนั้นงานวิจัยของมูลนิธิ
โครงการหลวงจึงมีความหลากหลายครอบคลุม และมุ่งตอบสนองความต้องการของ
เกษตรกรรวมถึงเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน และองค์กรชุมชนต่างๆ เพื่อรองรับ
ความเปลี่ยนแปลงในอนาคต ส่งผลให้ปัจจุบันมูลนิธิโครงการหลวงเป็นต้นแบบของการ
วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงของประเทศด้วยการสร้างสมประสบการณ์ทางวิชาการ
และเทคโนโลยีอย่างมากมายรวมทั้งได้ขยายผลสำเร็จไปสู่การพัฒนาพื้นที่สูงอื่นๆเพิ่มขึ้น
ซึ่งผลสำเร็จนี้ได้รับความร่วมมือจากอาสาสมัคร ผู้ทรงคุณวุฒิ เจ้าหน้าที่ หน่วยงาน
ภาครัฐ ภาคเอกชนและกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน
การวิจัยของมูลนิธิฯ และ สถาบันวิจัยและพัฒนาฯ นั้นควรเป็นการศึกษา
วิจัยเพื่อเพิ่มศักยภาพ การพัฒนาต่อยอด ตลอดจนการสร้างจุดเน้น สร้างนวัตกรรม
จากงานวิจัย เพื่อให้ก้าวทันการแข่งขันทั้งในและต่างประเทศในอนาคต ตามแนวทาง
นโยบายประเทศไทย 4.0 เช่น การใช้ระบบเกษตรอัจฉริยะ ที่สามารถวางแผนการผลิต
ได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น การใช้เครื่องจักรกลต่างๆ รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
เข้ามาจัดการระบบการผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ อย่างไรก็ตามเพื่อเกิดการพัฒนา
พื้นที่สูงอย่างยั่งยืน การสนับสนุนองค์ความรู้ รวมถึงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการวิจัยเป็นส่งที่ต้องพัฒนาไปพร้อมๆกัน นางสาวรุจิรา ริมผดีรองประธานคณะกรรมการจัดงานประชุมวิชาการผลงานวิจัย กล่าวว่า งานวิจัยถือเป็นรากฐานที่สำคัญ
ต่อการพัฒนางานของมูลนิธิโครงการหลวงซึ่งมุ่งเน้นการหาองค์ความรู้ใหม่เพื่อนำไป
พัฒนาพื้นที่สูง ซึ่งเป็นที่อยู่ของชาวไทยภูเขาให้มีความกินอยู่ที่ดี ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด มีความยั่งยืนของการใช้พื้นที่ทำกิน โดยงานวิจัยจะเป็นงานเน้นทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การแก้ไขปัญหาการทำเกษตรและตลาด
การประกอบอาชีพของเกษตรกรการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตลอดจนการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร ตัวอย่างงานวิจัยสำคัญเช่น พันธุ์พืชชนิดใหม่ ไม้ผล ไม้ดอก
และพืชผักการคัดเลือกพันธุ์และแปรรูปข้าวท้องถิ่นโภชนาการสูง การวิจัยวิธีการ
เลี้ยงผึ้งให้มีคุณภาพ เทคโนโลยีการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
วิธีการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวผลิตผลการศึกษาเพื่อพัฒนาต้นแบบชุมชนคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืนในส่วนของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ซึ่งเป็นองค์กรขับเคลื่อน
การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีของชุมชน
ในพื้นที่ “โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง”ตามหลักการทำงาน
ของมูลนิธิโครงการหลวงนั้น มีแนวทางวิจัยที่สำคัญคือ การวิจัยสนับสนุนงานโครงการหลวงการวิจัยพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมจากความหลากหลายทางชีวภาพบนพื้นที่สูงการวิจัยระบบเกษตรนิเวศพื้นที่สูงและนำองค์ความรู้ของโครงการหลวงไปทดสอบและปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่สูงอื่นทั้งในและนอกประเทศการวิจัยด้านสังคม ด้านการตลาด และการวิจัยเชิงนโยบาย ด้วยเหตุนี้
มูลนิธิโครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง จึงมีความเกี่ยวเนื่องกัน
อย่างใกล้ชิด ทั้งด้านแนวทางวิจัยและการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 มูลนิธิโครงการหลวงได้ดำเนินงานวิจัยใน 10 สาขางาน
วิจัยหลัก จำนวน 49 โครงการ และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ดำเนินงานวิจัย
ภายใต้งานวิจัย 6 แผนงาน รวม 42 โครงการหลัก 90 โครงการย่อย
การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลสำเร็จและความก้าวหน้างานวิจัยของมูลนิธิโครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงเผยแพร่และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นด้านงานวิชาการระหว่างหน่วยงานตลอดจนส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของเครือข่ายพันธมิตรวิจัยเพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนมีผู้เข้าร่วมการประชุมประมาณ 430 คน ประกอบด้วย คณะกรรมการบริหารของมูลนิธิโครงการหลวง และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง หัวหน้าฝ่าย ผู้ประสานงาน ผู้อำนวยการศูนย์ หัวหน้าศูนย์ นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย นักวิจัย และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยมีกิจกรรมประกอบด้วย การบรรยายพิเศษ การนำเสนอผลงานวิจัยภาคบรรยาย 51 เรื่องและโปสเตอร์ 50 เรื่องรวมทั้งนิทรรศการ “ศาสตร์ของพระราชา การวิจัยสู่การพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน”

ร่วมแสดงความคิดเห็น