ดันสมุนไพร ขึ้นแท่น พืชเศรษฐกิจ

แผนสมุนไพรชาติ ทุ่มงบนำร่อง 4 พืช 10 จังหวัด บูรณาการ 5 กระทรวง สอดรับการพัฒนาแพทย์แผนไทยทำพืชสมุนไพรกลายเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ

นางสาวขนิษฐา พงษ์ปรีชา ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมพืชสมุนไพรและเครื่องเทศ กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายพัฒนาสมุนไพรไทยอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ส่งเสริมการพัฒนาต่อยอดยารักษาโรค เน้นการใช้ยาสมุนไพรทดแทนยาแผนปัจจุบัน ตลอดจนส่งเสริมให้เกษตรกรมีการเพาะปลูกสมุนไพรในแต่ละชุมชน เพื่อช่วยกระจายโอกาส สร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยมีการจัดทำแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560-2564 และกำหนดยุทธศาสตร์สมุนไพรในส่วนงานของกระทรวงเกษตรฯสำหรับ Products Champions 4 ชนิด คือ ไพล ขมิ้นชัน กระชายดำ และบัวบกนั้น กรมส่งเสริมการเกษตรมีความเกี่ยวข้องในส่วนต้นน้ำการผลิต จะดำเนินโครงการนำร่องส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพรในพื้นที่ 10 จังหวัด 2,780 ไร่ก่อน โดยมีเงินงบประมาณ 9 ล้านบาท
ทั้งนี้ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ส่งเสริมชาวบ้านปลูกพืชสมุนไพรให้มีคุณภาพตามระบบมาตรฐานการเกษตร ทางกรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้จัดทำแผนส่งเสริมผลิตผลของสมุนไพรที่มีศักยภาพตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย มาตรการที่ 1 การจัดการห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งแบ่งย่อยออกเป็นแผนงานที่ 1 ส่งเสริมการปลูกและแปรรูปสมุนไพรอย่างมีคุณภาพ และแผนงานที่ 2 จัดทำฐานข้อมูลพื้นที่ปลูกพืชสมุนไพรเพื่อการบริหารจัดการ (Land Use) โดยจะส่งเสริมการผลิตวัตถุดิบสมุนไพร ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพให้เพียงพอทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะผู้ปลูกสมุนไพร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย ต้องรับทราบถึงสถานการณ์ และได้รับการส่งเสริมสนับสนุนการผลิตที่ถูกต้อง และพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต มาตรฐานการผลิต
สำหรับพื้นที่นำร่องประกอบด้วย สำนักงานเกษตรจังหวัด 10 แห่ง ได้แก่ จ.กาญจนบุรี ราชบุรี สระแก้ว สุราษฎร์ธานี พังงา ลพบุรี อุบลราชธานี นครปฐม นครศรีธรรมราช และเพชรบูรณ์ และศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร 5 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดเชียงราย เลย มหาสารคาม สุราษฎร์ธานี และจังหวัดฉะเชิงเทรา ภายใต้โครงการขับเคลื่อนสมุนไพรเชิงเศรษฐกิจและเมืองสมุนไพรกลุ่มจังหวัด
“ล่าสุดกระทรวงเกษตรฯได้รับนโยบายแผนแม่บทสมุนไพรแห่งชาติ และร่วมบูรณาการกับ 5 กระทรวง โดยมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลัก เราจึงมาคิดว่าในส่วนของต้นน้ำวัตถุดิบจังหวัดไหนมีศักยภาพโดดเด่นและมีพื้นที่เหมาะสมปลูกพืชสมุนไพร และจะทำอย่างไรให้เกิดการส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจภายในประเทศ ให้เกษตรกรรายย่อยปลูกพืชสมุนไพรเชิงเศรษฐกิจเพื่อต่อยอดเป็นอุตสาหกรรม จึงกำหนดให้ 10 จังหวัดนี้เป็นพื้นที่นำร่องพัฒนารวมกลุ่มแปลงใหญ่ มีตลาดรองรับที่แน่นอน เสริมพื้นที่ให้เป็นลักษณะการปลูกพืชผสมผสานมากขึ้น และจะขยายพื้นที่อีกในอนาคต”
ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้เปิดแผนกดูแลผู้ป่วยนอกด้วยการแพทย์แผนไทยคู่กับแผนปัจจุบันและเปิดโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสานอีก 12 แห่งทั่วประเทศ ทำให้มีความต้องการสมุนไพรเพิ่มขึ้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น