เตรียมเทงบฯ 7 หมื่นล้าน ช่วยชาวนา-เกษตรกร

นายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ผลการจำหน่ายสลากออมทรัพย์ทวีสิน ชุด “เกษตรมั่นคง” เมื่อกรกฎาคมที่ผ่านมา เพียง 12 วันทำการ ยอดจำหน่ายครบตามเป้า 70 ล้านหน่วย

ดังนั้น ธ.ก.ส.จึงได้ออกสลากชุดเกษตรมั่งคั่งเปิดรับฝากพร้อมกันที่ ธ.ก.ส.ทุกสาขาทั่วประเทศเมื่อ 18 กันยายน 2560 ราคาหน่วยละ 100 บาท รับฝาก 600 ล้านหน่วย รวมเป็นเงิน 60,000 ล้านบาท อายุสลาก 3 ปี ลุ้นรางวัลมูลค่าถึง 10 ล้านบาท ถึง 36 ครั้ง สนใจสอบถามเพิ่มเติม ได้ ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขา

สำหรับการมีส่วนร่วมช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกรตามลงโครงการสวัสดิการรัฐ ปี 2560 จากผู้ลงทะเบียนขอรับการช่วยเหลือ จากรัฐฯ 14.1 ล้านราย ลงทะเบียนผ่าน ธ.ก.ส. 7.7 ล้านรายเป็นหนี้นอกระบบประมาณ 620,000 ราย มูลหนี้ 3หมื่นล้านบาท เฉลี่ยหนี้ต่อราย 5 หมื่นบาท ซึ่งที่ผ่านมา ธกส.ได้มีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบเกษตรกร และ ครอบครัวโดยให้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน วงเงินกู้รวม10,000 ล้านบาท ให้กู้สูงสุดรายละไม่เกิน 100,000 บาท

กรณีใช้บุคคลค้ำประกันสูงสุดไม่เกิน 150,000 บาท กรณีใช้ที่ดินจำนองค้ำประกันดอกเบี้ย ร้อยละ 12บาทต่อปี ผลดำเนินงานจ่ายสินเชื่อช่วยเหลือเกษตรกรแล้ว 41,545 รายเป็นเงินสินเชื่อ 4,219.53 ล้านบาท และได้เตรียมวงเงินสินเชื่ออีก 5,000 ล้านบาท เพื่อให้เกษตรกรสามารถกู้เงินกรณีมีความจำเป็น เช่นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินในครัวเรือน ต่างๆ ค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียนบุตร เป็นต้น

รวมถึงเตรียมเงินกว่า 7 หมื่นล้านเพื่อช่วยเหลือชาวนา ในฤดูกาลผลิต 2560/61 แบ่งเป็นสินเชื่อชะลอการขาย แปรรูป อัตราดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 2.3 หมื่นล้านบาทและช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยว เป็นเงินให้เปล่าตามนโยบายรัฐฯอีก 4.7 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะเสนอครม.อนุมัติภายในตุลาคมนี้


แนวทางช่วยเหลือเบื้องต้น กำลังพิจารณาในอัตราเดียวกัน แตกต่างจากปีก่อนที่ใช้ระบบขั้นบันได 800-1,200 บาทต่อไร่ สนับสนุนรายละไม่เกิน 15 ไร่ และยังมีโครงการช่วยเหลือเกษตรกรอีกหลายรูปแบบกิจกรรม ทั้งโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมอาชีพ วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ต่อปี ปล่อยกู้เกษตรกรที่ประสงค์จะมีปรับเปลี่ยนรูปแบบอาชีพโดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวปฏิบัติ ตามที่เจ้าหน้าที่ธกส.แต่ละพื้นที่แนะนำ เป็นพี่เลี้ยงให้ในวิธีการบูรณาการแผนระหว่างหน่วยงาน

ทั้งนี้ ธ.ก.ส.มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนวิธีคิด ในการดำเนินชีวิต ของเกษตรกรด้วย การให้ความรู้ การทำบัญชีครัวเรือน การประหยัดอดออมการสร้างรายได้จากอาชีพเสริม เช่น การปลูกเมล่อน การทำปลาส้ม การแปรรูปผลผลิต งานหัตถกรรมพื้นบ้าน เป็นต้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น