หนุนปลูกไม้เศรษฐกิจ สกัดรุกป่า-สร้างอาชีพ

นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า จากปัญหาพื้นที่ป่าถูกบุกรุก ใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ภาครัฐฯได้ดำเนินการเพิ่มพื้นที่ป่ามาอย่างต่อเนื่อง ผ่านนโยบาย แผนงาน มาตรการที่มีความหลากหลายเหมาะสมกับแต่ละสภาพพื้นที่ รวมถึงส่งเสริมการปลูกป่า ปลูกไม้มีค่า

ทั้งนี้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-64) ได้กำหนดยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน มีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ โดยแบ่งเป็นป่าอนุรักษ์ 25 % ป่าเศรษฐกิจร้อยละ 15 สอดประสานกับนโยบายพลิกพื้นผืนป่าสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของรัฐบาล ที่กำหนดมาตรการเพิ่มพื้นที่ป่า เพิ่มพื้นที่สีเขียวและแนวทางอนุรักษ์ ฟื้นฟูป่า ส่งเสริมการปลูกไม้มีค่าในที่ดินกรรมสิทธิ์

ปัจจุบันประเทศไทยยังขาดพื้นที่ป่าเศรษฐกิจประมาณ 20 ล้านไร่ ความต้องการใช้ไม้ในประเทศมีสูงถึงปีละ 58 ล้านตันและคาดว่าจะเพิ่มเป็น 156 ล้านต้นภายใน 20 ปี ความต้องการหลักๆจะมี 3 รูปแบบคือ เพื่อผลิตเป็นเยื่อกระดาษ, วัตถุดิบในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ และใช้ในรูปแบบพลังงานทดแทน ถือเป็นภารกิจเร่งด่วนในขณะนี้ ในทุกพื้นที่ต้องเร่งส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจให้เกษตรกร และผู้ที่สนใจสร้างอาชีพ

การรุกป่าเพื่ออุตสาหกรรมพืชเชิงเดี่ยว ได้รับการแก้ไขอย่างต่อเนื่องในทุกภูมิภาคของไทย

สำหรับในพื้นที่ซึ่งเคยมีปัญหาบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว โดยเฉพาะภาคเหนือ ตัวอย่างที่เด่นชัดในด้านการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ปลูกกันกระจายในพื้นที่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน น่าน และอีกหลายๆจังหวัด ที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐฯได้ร่วมมือปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีการในอาชีพของชาวบ้าน ส่งเสริมการปลูกไม้ใช้สอย ไม้ผล ไม้เศรษฐกิจ ตามหลักปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ในรัชกาลที่่ 9 ซึ่งไม่เพียงสร้างความมั่นคงในชีวิต ยังเป็นการดูแลรักษา วงจรธรรมชาติ เป็นกระบวนการแก้ปัญหาทรัพยากร ธรรมชาติอย่างยั่งยืนอีกด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น