แจงผลศึกษาต้นทุนผลิตข้าว อัดฉีด 8หมื่นล้านช่วยชาวนา

นายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) แจ้งผลสำรวจวิเคราะห์ต้นทุนและผลตอบแทนการผลิตข้าวเจ้าและข้าวเหนียวนาปีในภาคเหนือ ตามความเหมาะสมของพื้นที่ 2 กลุ่มคือ พื้นที่เหมาะสม และไม่เหมาะสม ในจังหวัด เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำปาง พิษณุโลก อุตรดิตถ์ ตาก และสุโขทัย
ผลการวิเคราะห์ในพื้นที่ปลูกข้าวเจ้านาปี 

เขตพื้นที่เหมาะสมต้นทุนผลิต 4,920 บาทต่อไร่ ผลผลิต 736 กก.ต่อไร่ ต้นทุน 6,658 บาทต่อตัน รายได้ 5,567 บาทต่อไร่ ผลตอบแทน 664 บาทต่อไร่ ส่วนพื้นที่ไม่เหมาะสม มีต้นทุนผลิต 4,912 บาทต่อไร่ ผลผลิต 677 กก.ต่อไร่ ต้นทุน 7,249 บาทต่อตัน รายได้ 5,082 บาทต่อไร่ ผลตอบแทน 170 บาทต่อไร่

 สำหรับพื้นที่ปลูกข้าวเหนียวนาปี เขตเหมาะสมต้นทุนผลิต 5,529 บาทต่อไร่ ผลผลิต 733 กก.ต่อไร่ ต้นทุน 7,547 บาทต่อตัน รายได้ 8,853 บาทต่อไร่ ผลตอบแทน 3,324 บาทต่อไร่ พื้นที่ไม่เหมาะสมมีต้นทุนผลิต 4,904 บาทต่อไร่ ผลผลิต 540 กก.ต่อไร่ ต้นทุน 9,076 บาทต่อตัน รายได้ต่อไร่ 4,615 บาท ผลตอบแทน 1,512 บาทต่อไร่

ผลวิเคราะห์ยังชี้ชัดว่า ความเหมาะสมของดินเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้นในการตัดสินใจของเกษตรกรที่จะผลิตสินค้า โดยคำนึงถึงผลตอบแทนที่ดีกว่า สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

 ด้าน ธกส.แจ้งว่าคณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 60/61 จำนวน 3 โครงการ วงเงิน 87,216.17 ล้านบาท เป็นวงเงินสินเชื่อ 33,510 ล้านบาท และวงเงินจ่ายขาด 53,706.17 ล้านบาท

โดย ธ.ก.ส. รับผิดชอบ 2 โครงการ วงเงิน 86,276.17 ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม เป้าหมาย 2.5 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงิน 12,906.25 ล้านบาท สินเชื่อ 12,500 ล้านบาท จ่ายขาด 406.25 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 1 ต.ค. 60 ถึง 30 ก.ย. 61 อัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระ 1% ต่อปี และรัฐสนับสนุน 3% ต่อปี

ส่วนโครงการสินเชื่อชะลอขายข้าวเปลือกนาปีและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวนาปี เป้าหมายทั่วประเทศ 2 ล้านตันข้าวเปลือก ให้สินเชื่อข้าวเปลือกที่ความชื้นไม่เกิน 15% ในอัตรา 90% ของราคาตลาด

ทั้งนี้ ธกส.จะให้สินเชื่อ ข้าวเปลือกหอมมะลิและข้าวเหนียวอยู่ที่ ตันละ 10,800 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 7,200 บาท ข้าวเปลือกปทุมธานี ตันละ 8,500 บาท โดยมีค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าว ตันละ 1,500 บาท จ่ายพร้อมสินเชื่อก่อนตันละ 1,000 บาท และจ่ายภายหลังนำเงินมาชำระหนี้อีก 500 บาท ระยะเวลาโครงการ 1 พ.ย. 60 ถึง 30 ธ.ค. 61 และระยะเวลาการทำสัญญาเงินกู้ 1 พ.ย. 60 ถึง 28 ก.พ. 61 กำหนดระยะเวลาคืนเงินกู้ไม่เกิน 5 เดือนนับจากเดือนที่รับเงินกู้

 นอกจากนี้จะช่วยค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ไร่ละ 1,200 บาท ตามพื้นที่ปลูกจริงไม่เกินรายละ 10 ไร่ วงเงิน 73,369.92 ล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อ 21,010 ล้านบาท และเงินจ่ายขาด 52,359.92 ล้านบาท

ร่วมแสดงความคิดเห็น