ประวัติศาสตร์ “เมืองแพร่”

แพร่ นั้นเป็นเมืองหนึ่งที่อยู่ในอาณาจักรล้านนา ซึ่งในอดีตนั้นก็มีความสัมพันธ์ทั้งอาณาจักรสยาม และอาณาจักรล้านนา
ตำนานการสร้างเมืองแพร่นั้นมีหลักฐานบันทึกไว้ เพียงแค่ใบลานสองฉบัน คือ ประวัติวัดหลวงสมเด็จ และ ตำนานพระธาตุช่อแฮ ซึ่งก็พอที่จะสามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลได้เป็นอย่างดีเมื่อนำไปสอบทานกับตำนานของเมืองอื่น ๆ

บทความของชัยวุฒิ ไชยชนะ เรื่อง กำเนิดเมืองแพร่ จากหนังสือศิลปวัฒนธรรม ฉบับ เดือนกันยายน เมื่อปี พ.ศ.2545 ได้มีการแบ่งเรื่องราวของการกำเนิดเมืองแพร่ออกเป็น 2 ประเด็นใหญ่ ๆ คือ หนึ่ง นามเมืองพล – โกศัย – แพล – แพร่ โดยจากประวัติวัดหลวงสมเด็จกล่าวถึงการสร้างเมืองแพร่ว่า “ศักราชได้ 1373 ปี พ่อขุนหลวงพลได้อพยพผู้คนออกจากเวียงไชยบุรี เวียงพางคำ ลงมาสร้างเมือง ณ ที่ราบลุ่มแม่น้ำยม เรียกนามเมืองที่สร้างตามชื่อของ พ่อขุนหลวงพลว่า พลนคร”

 

ในตำนานสิงหนวัติกุมารได้มีเหตุการณ์การอพยพผู้คนหนีศึกจากเวียงไชยปราการ ความว่า “พระยาพรหม ไชยสิริ เจ้าเมืองไชยปราการซึ่งอยู่ในอาณาจักรโยนก นครหลวง ได้อพยพผู้คนหนีจากศึกพระยาสุธรรมวดีเมืองสเทิมในปี พ.ศ.1547 เพื่อจะไปยังเมืองโยนกนครหลวงแต่ปีนั้นน้ำมากไม่สามารถข้ามแม่น้ำกกไปได้จึงลมาทางตะวันนออกเฉียงใต้ ผ่านดอยด้วน (เทือกเขา ใน อ.พาน จ.เชียงราย) แต่ก็อยู่ไม่ได้กลัวข้าศึกจะตามทันจึงได้ล่องใต้ลงมา ผ่านทางเมืองผาหมื่นผาแสน (ดอนผาหลักหมื่นใน อ.เด่นชัย จ.แพร่) นานได้เดือนหนึ่งก็ไปสร้างเมืองใหม่ชื่อว่าเมืองกำแพงเพชร ”

 

อาจสันนิษฐานได้ว่าผู้คนที่อพยพมากับพระยาพรหมไชยสิริบางส่วนคงจะหยุดสร้างเมืองอยู่ ณ ลุ่มน้ำยมด้วย เพราะไม่ปรากฎว่ากลัวข้าศึกจะติดตามมาแต่อย่างใด ทั้งจุดหมายของพระยาพรหมไชยสิริก็อยู่ที่เมืองกำแพงเพชร ซึ่งอยู่ไกลและเป็นเมืองที่พระยาพรหมราชพระราชบิดาเคยเสด็จมาเมื่อครั้งไล่ขอมออกจากโยนกนครหลวง ซึ่งปรากฎในพงศาวดารโยนกด้วย

จากเหตุการณ์ทั้งสองนี้พบว่าศักราชที่ปรากฎในประวัติวัดหลวงสมเด็จคงเป็นปี จ.ศ.373 มากกว่าซึ่งตรงกับปี พ.ศ.1554 จึงอาจได้ข้อมูลอีกว่าวัดหลวงสมเด็จนี้สร้างขึ้นหลังจากสร้างเมืองมาแล้ว 7 ปี ซึ่งในประวัติวัดหลวงสมเด็จกล่าวว่าศักราช 1373 เป็นปีที่สร้างวัด ดังนั้นหากศักราชที่ถูกต้องเป็นปีจุลศักราชก็น่าจะบอกได้ว่าวัดหลวงสมเด็จสร้างขึ้นในปีไหน

” ในปี พ.ศ.1631 พระยาผาวงศ์อินทร์ ครองเมืองพล ขอม (อาจเป็นมอญเพราะ ในจามเทวีวงศ์ กล่าวว่าราชวงศ์รามัญที่ปกครองเมืองหริภุญไชย ได้ขับไล่พวกขอมออกไปก่อนหน้านั้น 27 ปี) ยกกองทัพเข้ามารุกรานเมืองพล เจ้าเมืองต่อสู้ป้องกันไม่ได้จึงเสียเมือง ขอมทำลายเมืองเผาวัดหลวงแล้วเผาทองที่หุ้มพระเจ้าแสนหลวงไป ผู้คนอพยพจากเมืองไปอยู่ในป่า”

จากข้อมูลตอนนี้ได้ข้อสันนิษฐานว่า ชาวเมืองที่อพยพออกจากเมืองนั้นต้องออกไปสร้างเวียงชั่วคราวซึ่งอยู่เชิงดอยช่อแพร หรือ โกสิยธชัดบรรพต อันมีน้ำแม่กอนและน้ำแม่สายไหลมาบรรจบกัน (บริเวณบ้านใน ต.ช่อแฮ) เหมือนกับตำนานเมืองอื่น ๆ เช่นเมืองเชียงใหม่ก็มีเมืองเชียงแสนเป็นอีกเมืองหนึ่งและยังมีทั้งเวียงเจ็ดลิน และเวียงสวนดอก นอกจากนั้นแล้วโยนกนครหลวงยังมีเวียงไชยปราการ เวียงสีทอง เวียงไชยนารายณ์ เป็นต้น ส่วนในเมืองพลัว ก็สร้างเวียงกุมขึ้นมาเพราะหนีน้ำท่วม จึงเป็นไปได้ว่าชาวเมืองพลจะอพยพมาสร้างเวียงโกศัยขึ้น (บริเวณ ต.ป่าแดงและต.ช่อแฮในปัจจุบัน) ซึ่งตรงกับหลักฐานจาการขุดค้นทางโบราณคดีที่ระบุว่าเมืองโบราณบริเวณวัดพระธาตุช่อแฮมีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 17 เมื่อพิจารณาจากสภาพทางภูมิศาสตร์พบว่ามีเมืองโบราณอื่น ๆ อยู่รอบเมืองพลยกเว้นทางทิศตะวันออกเท่านั้นที่เป็นป่า ดังนั้นจึงน่าเชื่อว่าเวียงที่อพยพไปอยู่ชั่วคราวคงจะเป็นสถานที่นี้เป็นแน่ เมืองนี้ได้ชื่อว่าเวียงโกศัย เหตุเพราะอยู่ที่ราบเชิงโกสิยธชัดบรรพต (ไม่ได้หมายถึงเมืองอันมีผ้าแพรมากตามที่เข้าใจกันในปัจจุบัน)

นอกจากนี้ในประวัติวัดหลวงสมเด็จยังได้กล่าวต่ออีกว่า “ขอมได้เปลี่ยนชื่อเมืองเป็นเวียงโกศัย”
ในตำนานวัดพระธาติช่อแฮกล่าวตอนท้ายว่า “.. ต่อมามีขุนกินเมืองคนหนึ่งมีลูกแฝดจึงรับสั่งว่าเมืองเรานี้แพร่กระจายออกมาเชนนี้จักมีกำลังมากในอนาคตกาลจึงให้ชื่อเมืองอีกชื่อหนึ่งว่า พลนคร” จึงทราบว่าเมืองพล กับเวียงโกศัยนี้เป็นสองเมือง และผู้คนคงอพยพมาอยู่พลนครดังเดิมหลังจากที่มอญได้หมดอำนาจจากพลนครนี้แล้ว แต่เวียงโกศัยก็ยังมีความสำคัญอยู่

ในตำนานเมืองพะเยากล่าวว่า “ขุนเจืองได้มาคล้องช้างที่เมืองพลในปี พ.ศ.1658 พระยาพลชื่อพรหมวงศ์ยกธิดาชื่อนางแก้วกษัตรีย์ให้” ก็เป็นข้อยืนยันได้ว่า เมืองพลนครยังมีอีกชื่ออยู่มิได้เปลี่ยนเป็นเมืองโกศัยซึ่งหากเมืองพลกับเวียงโกศัยเป็นเมืองเดียวกันแล้วชื่อของเมืองพลคงจะไม่ปรากฎอีก เหมือนกับเมืองแพร่ที่ตอนนี้ไม่มีใครเรียกเมืองพลแล้ว

สำหรับในเรื่องของนามเมืองแพล่ หรือแป้ ในภาษาล้านนานั้นพอจะสืบหาข้อมูลได้ดังนี้ คือ ในภาษาพม่า คำว่า โปล์ หมายถึงชัยชนะ เมื่อเทียบกับคำว่าพล เสียงจะใกล้กันมาก ทั้งคำว่าแป้นี้ก็หมายถึงชัยชนะในภาษาล้านนาด้วย แม้ว่าสำเนียงของการออกเสียงคำว่าแป้ ในล้านนาแถบตะวันตกกับตะวันออกจะออกเสียงต่างกัน แต่ความหมาย เหมือนกัน จึงมีความเป็นไปได้ว่า คำว่า แพล หรือแป้ นี้จะมาจากความหมายของ โปล์ ในภาษาพม่า ที่เรียกชื่อเมืองพลในขณะที่ปกครองอยู่ ก่อนหน้าที่เมืองพลจะเสียเอกราชแก่กรุงสุโขทัย ดังนั้นคำว่าเมืองแป้คงจะเกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์พุกามปกครองเมืองพลนั่นเอง

ในภาษามอญ คำว่า เปร้ หมายถึงผ้าแพร หากพิจารณาตามสัทศาสตร์ สระเอกับสระแอออกเสียงได้ทั้งสองเสียง ซึ่งตรงกับคำว่า แปร้ แต่มีข้อสังเกตว่าชาวล้านนาไม่มีเสียงควบกล้ำ ร แม้ว่า เขียน ร ควบ แต่จะอ่านเป็นเสียงพยัญชนะตัวถัดจากนั้น เช่น ปราบ = ผาบ กราบ = ขาบ ดังนั้นความน่าเชื่อถือของหลักฐานชิ้นนี้จึงมี้นำหนักที่เบากว่าข้อแรก ซึ่งถ้าเป็นผ้าแพรจะต้องอ่านว่าผ้าแผ จากข้อมูลที่ปรากฎในศิลาจาริกหลักที่ 46 วัดตาเถรขึงหนัง (พ.ศ.1947) จารึกว่า แผร แสดงว่าช่วงเวลานั้นมีการผูกเรื่องของตำนานเมืองแพร่ว่ามีความหมายว่าเมืองแห่งผ้าแพรแล้ว

ประเด็นที่สอง ยุคสมัยของการสร้างเมืองแพร่ ในเรื่องของความสัมพันธ์กับนครน่าน จากข้อมูลพื้นฐานต่าง ๆ ที่ระบุมาแล้วนั้น ความสัมพันธ์ของเมืองแพร่กับเมืองน่านคงเกิดขึ่นในสมัยหลังพระมหาธรรมราชาลิไท สวรรคต (พ.ศ.1911) ซึ่งขณะนั้นเมืองแพร่เมืองน่านแยกตัวออกจากอาณาจักรสุโขทัยอีกครั้งหนึ่ง เหตุเพราะอำนาจของกรุงสุโขทัยเริ่มอ่อนแอลง จนพระมหาธรรมราชาที่ 2 ต้องออกถวายบังคมกษัตริย์อโยธยา
ข้อมูลที่สนับสนุนเรื่องนี้ปรากฎในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ และพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ว่า พระเป็นเจ้าติโลกราชแห่งอาณาจักรล้านนาตีเมืองแพร่และเมืองน่านได้ในปี พ.ศ.1986 และปี พ.ศ.1991 ไม่ปรากฎว่าพระบรมไตรโลกนาถจะยกทัพมาชิงเมืองคืน แสดงว่าเมืองแพร่และเมืองน่านมิได้เป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรอโยธยาด้วย แต่ภายหลังพระบรมไตรโลกนาถยกทัพมาปล้นเมืองแพร่ในปี พ.ศ.1994 นั้น สาเหตุเกิดจากอุบายของพระเป็นเจ้าติโลกราชที่ให้พรหมสะท้านซึ่งเป็นไส้ศึกจากกรุงอโยธยา ไปทูลพระบรมไตรโลกนาถว่าพระองค์จะยกทัพไปทางเหนือและช่วงนั้นพระยายุทธิษเฐียรเจ้าเมืองสองแควมาเข้ากับนครเชียงใหม่ด้วยจากข้อเท็จจริงนี้ทำให้ทราบว่าความสัมพันธ์ของเมืองพร่กับเมืองน่านได้เริ่มต้นขึ้นก่อนหน้าที่จะถูกยึดครองโดยอาณาจักรล้านนาเพียงไม่กี่สิบปี

ข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งปรากฎในราชวงศ์ปกรณ์น่านว่า พระยาเถร เจ้าเมืองแพร่ ไปชิงราชสมบัติ เจ้าศรีจันทะ เจ้าเมืองน่าน ในปี พ.ศ.1940 ในความนั้นเขียนว่าราชวงศ์เมืองน่านจึงเป็นราชวงศ์อื่นไป แสดงว่าก่อนหน้านั้นคือยุคที่สร้างเมืองแพร่และเมืองนานเมืองทั้งสองนี้ยังไม่มีความสัมพันธ์กันมาก่อน ซึ่งเรื่องนี้อาจย้อนไปพิจารณาเรื่องของชนชาติต่าง ๆ ที่ปรากฎในศิลาจารึกหลักที่ หนึ่งวซึ่งมักเรียงลำดับได้อย่างเป็นระบบ ดังนี้ “..รอดเมืองแพล เมืองนาน เมืองพลัว ชะวา.. ” กับความที่ว่า ” ..ทั้งมากาวลาวแลไทย..”

อย่างไรก็ตามแม้ว่าเมืองแพร่นั้นสร้างมาในยุคสมัยใกล้เคียงกับเมืองพลัว (ประมาณ พ.ศ.1593 – 1620) แต่เมื่อพิจาณณาจากลักษณะทางภูมิศาสตร์พบว่า ทิศตะวันออกของเมืองแพร่นั้นมีทิวเขาสูงกั้นอยู่ชื่อว่า ช้างผาด่าน ฉะนั้นเส้นทางการติดต่อระหว่างเมืองน่านกับเมืองในอาณาจักรสุโขทัยจึงอาศัยทางแม่น้ำน่าน เมื่อล่องใต้ลงมาถึงอุตรดิตถ์ก็จะเป็นพื้นราบผืนเดียวกันจนถึงเมืองสุโขทัย แม้ในสมัยต่อ ๆ มาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ก็ไม่พบว่าเจ้านายเมืองน่านเดินทางผ่านเมืองแพร่เพื่อจะไปกรุงเทพฯ หากแต่ล่องไปตามแม่น้ำน่านลงไป

ส่วนเรื่องของตำนานการแบ่งเมืองแพร่เมืองน่านที่ภูเขาลูกหนึ่งชื่อว่าเขาครึ่ง และเป็นที่มาของสัญลักษณ์ประจำเมืองทั้สอง (เมืองแพร่รูปม้า เมืองน่านรูปวัว) คงเกิดขึ้นหลังจากความสัมพันธ์ของทั้งสองเมืองนั้นกลมเกลียวกันมากขึ้นคือในยุคสมัยที่มารวมอยู่ในอาณาจักรล้านนาแล้ว เนื่องจากในยุคนั้นพระเป็นเจ้านครเชียงใหม่มีอำนาจตั้งย้ายเจ้าเมืองแพร่ไปครองเมืองน่านหลายคราวเมืองทั้งสองจึงเสมือนเป็นพี่น้องกัน

ในด้านหลักฐานทางโบราณคดี เมื่อพิจารณาตัวเมืองแพร่โบราณกับตัวเมืองหริภุญไชย (ลำพูน) แล้วพบว่ามีรูปแบบของการวางผังเมืองที่คล้ายกันมากทั้งยังมีตำนานพระนางจามเทวีเสด็จมาสักการะพระธาตุช่อแฮและมีวัดนางเหลียวปรากฎด้วย หากเมืองแพร่สร้างขึ้นในเวลาที่ใกล้เคียงกับเมืองหริภุญไชยแล้ว อายุของเมืองแพร่ คงมากกว่า 1,000 ปี ซึ่งขัดแย้งกับการกำหนดอายุทางโบราณคดีที่ระบุว่าเมืองแพร่อาจสร้างในราวพุทธศัตวรรษที่ 17

จากประวัติของหมู่บ้านต่าง ๆ ใน อ.เมืองแพร่ มักจะกล่าวถึงการอพยพของบรรพบุรุษของตนว่ามาจากเมืองเทิงบ้าง เมือง ลอบ้าง มากกว่าที่จะมาจากเมืองน่านหรือเมืองนคร (ลำปาง) ทั้งในด้านการดำรงชีวิต ประเพณีต่าง ๆ รวมถึงสำเนียงการพูดแล้วชาวเชียงราย และชาวพะเยาหนึ่งในสามส่วนก็พูดสำเนียงภาษาตระกูลแพร่ – น่าน เหมือนกัน ความในประเด็นนี้จึงสนับสนุนเรื่องของการอพยพของชาวโยนกนครหลวงที่ผ่านมาทางเมืองแพร่เมื่อปี พ.ศ.1547

ดังความที่กล่าวถึงข้างต้นมาแล้วจึงคอนข้างมั่นใจได้ว่า บรรพบุรุษของชาวแพร่ คงจะอพยพมาจากอาณาจักรโยนกเชียงแสนจริง ซึ่งภายหลังอาณาจักรถูกน้ำท่วมเมือง ทั้งเมืองจมหายไป ชาวเมืองที่รอดมาได้จึงสร้างเวียงขึ้นมาใหม่ชื่อว่าเวียงปรึกษา จนกระทั่งถูกทำลายในราวปี พ.ศ.1702 ด้วยวงศ์ลาวจก ทำให้วงศ์สิงหนวัติต้องกระจัดกระจายไปคนละทิศละทาง.

เอกสารประกอบ

ชัยวุฒิ ไชยชนะ “กำเนิดเมืองแพร่” ศิลปวัฒนธรรม,กันยายน 2545

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected].

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น