“เวียงท่ากาน” เมืองโบราณ แหล่งอัตลักษณ์ล้านนาที่ยังคงสัมผัสได้

เมืองเก่าเวียงท่ากานมีลักษณะเป็นเมืองรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวประมาณ 700 เมตร กว้างประมาณ 400 เมตร ปรากฏแนวคูเมือง 1 ชั้น กว้างประมาณ 7-8 เมตร และมีกำแพงดินหรือคันดินล้อมรอบ 2 ชั้น ปัจจุบันเหลือแนวคูน้ำ คันดินให้เห็น 3 ด้าน ยกเว้นด้านทิศใต้

ตัวเมืองโบราณมีสภาพเป็นเนินสูง พื้นโดยราบเป็นที่ราบลุ่มห่างจากลำน้ำ ปิงประมาณ 3 กิโลเมตร ทางทิศตะวันออกมีลำน้ำแม่ขานไหลผ่านห่างจากตัวเมืองเวียงท่ากานประมาณ 2 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีลำเหมืองสายเล็กๆ ชักน้ำจากน้ำแม่ขานมายังคูเมืองทางทิศใต้และยังมีลำเหมืองขนาดเล็ก ชักน้ำเข้ามาใช้ภายในเมืองทางทิศตะวันออก ซึ่งสันนิษฐานว่าคงเป็นระบบชลประทาน ที่สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยโบราณ สภาพภายใต้ในตัวเมืองเดิมเป็นป่าทึบต่อมามีการโค่นต้นไม้ใหญ่หักล้าง พื้นถ่างโพรงเพื่อทำเป็นที่อยู่อาศัยพื้นที่บริเวณชายเนินที่เป็นที่นาทั้งหมด

ปัจจุบันบ้านเรือนราษฎรส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในตัวเมืองชาวบ้านท่ากานส่วนใหญ่ เป็นพวกชาวยองที่อพยพเข้ามาอยู่ตั้งแต่สมัยพระเจ้ากาวิละปกครองเมืองเชียงใหม่ คนส่วนใหญ่พูดภาษายอง คำว่า “ท่ากาน” ชาวบ้านเล่าว่ามาจากคำว่า “ต๊ะก๋า” ในตำนานเล่าว่า เมื่อก่อนนี้ มีกาเผือกตัวใหญ่จะบินลงที่นี่ ชาวบ้านกลัวว่าเมื่อบินลงจะทำให้เกิดความเดือดร้อนในหมู่บ้าน จึงพากันไล่กาหรือต๊ะก๋าไม่ให้มาลง ก็เลยเรียกต่อกันมาว่าบ้านต๊ะก๋า ต่อมาเมื่อประมาณ พ.ศ.2450 เจ้าอาวาสวัดท่ากาน ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นบ้านท่ากาน เนื่องจากคำว่าบ้านต๊ะก๋าไม่เป็นภาษาเขียน

การเดินทางจากตัวจังหวัดเชียงใหม่ ใช้เส้นทางสายเชียงใหม่-ฮอด เป็นระยะทางประมาณ 34 กิโลเมตร จนถึงทางแยกเข้าบ้านท่ากาน บริเวณปากทางบ้านทุ้งเสี้ยว เป็นระยะทางเข้าไปประมาณ 2 กิโลเมตร โดยผ่านพื้นที่บ้านต้นกอกสภา

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น