ฟื้นม่านเชียงใหม่ในสมัย “พระเจ้ากาวิละ”

พุทธศักราช 1839 พญามังรายจะทรงสร้างเมืองเชียงใหม่ ณ เชิงดอยสุเทพ ริมฝั่งแม่น้ำปิง จึงได้อัญเชิญ พญาร่วง (พ่อขุนรามคำแหง) และ พญางำเมืองมาร่วมปรึกษาหารือเลือกชัยภูมิสร้างเมืองแล้วขนานนามว่า “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” นครแห่งนี้ได้เจริญวัฒนาเป็นหลักในการปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนือและเป็นศูนย์กลางแห่งอารยธรรมล้านนาสืบมาจนถึงปัจจุบัน

เมืองเชียงใหม่ หรือ นพบุรีศรีนครพิงค์ เป็นศูนย์กลางการปกครองของอาณาจักรล้านนามาตั้งแต่สมัยของพญามังราย ผู้สืบเชื้อสายมาจากลวจักรราช กษัตริย์แห่งเมืองหิรัญนครเงินยางเชียงแสน ก่อนที่จะมาสร้างเมืองเชียงใหม่ พระองค์ได้สร้างเมืองเชียงรายและปกครองอยู่ระยะหนึ่ง จึงย้ายมาอยู่ที่เมืองฝาง ต่อมาได้เข้าตีเมืองหริภุญไชย ซึ่งขณะนั้นพญายีบาปกครองอยู่ พญามังรายครองเมืองหริภุญไชยอยู่ได้ 2 ปี จึงได้ย้ายมาสร้างเวียงกุมกามในเวลาต่อมา ในปี พ.ศ.1839 จึงได้มาสร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนา

ในช่วงเวลากว่า 200 ปี (ระหว่างพ.ศ.1839-2101) อาณาจักรล้านนามีกษัตริย์ปกครองมาโดยตลอด กระทั้งปี พ.ศ. 2101 เมืองเชียงใหม่ได้เสียเอกราชให้แก่พระเจ้าบุเรงนองกษัตริย์ของพม่า เมืองเชียงใหม่จึงตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่ามานานร่วม 200 ปี จนรัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีร่วมกับพระเจ้ากาวิละและพระยาจ่าบ้าน ทำศึกสงครามขับไล่พม่าออกจากล้านนาในปี พ.ศ. 2317

ซึ่งถือว่าช่วงเวลาดังกล่าวเป็นการทำสงครามแย่งชิงดินแดนกันจนถึงปี พ.ศ. 2339 สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สามารถขับไล่พม่าออกจากล้านนาได้สำเร็จและได้แต่งตั้งพระเจ้ากาวิละเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ มีฐานะเป็นเจ้าประเทศราชขึ้นตรงต่อกรุงเทพ ถือเป็นยุคฟื้นม่านเมืองเชียงใหม่

อาณาจักรล้านนาในยุคฟื้นม่าน มีเจ้าผู้ครองนครสืบต่อมาอีก 8 องค์ จนถึงสมัยเจ้าแก้วนวรัฐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงได้โปรดให้ปฏิรูปการปกครองทั้งหมดโดยให้ยกเลิกหัวเมืองประเทศราชในภาคเหนือเปลี่ยนการปกครองแบบมณฑล เรียกว่า มณฑลพายัพ กระทั่งปี พ.ศ.2476 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้ปรับปรุงการปกครองเป็นแบบจังหวัดเชียงใหม่จึงมีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย

ในช่วงเวลาของการฟื้นม่านเมืองเชียงใหม่ เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ที่น่าสนใจมากมาย อ.ไกรศรี นิมมานเหมินทร์ ได้เขียนบทความเชียงใหม่ในอดีตกล่าวถึงการฟื้นม่านเมืองเชียงใหม่สมัยนั้นว่า นับแต่พระยากาวิละ ซึ่งได้ร่วมกับเจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ แม่ทัพไทยกรุงธนบุรี ได้ช่วยกันขับไล่พม่าที่ครองในหัวเมืองต่างๆ ของล้านนาไทยจนหมดสิ้นไปแล้ว

เมื่อเจ้าพระยาจักรีได้กระทำพิธีปราบดาภิเษกขึ้นเสวยราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและได้ย้ายนครหลวงมาตั้งอยู่ที่บางกอก ตรงข้ามกับกรุงธนบุรี พระยากาวิละได้รับพระราชโองการให้นำไพร่พลเข้ามาตั้งอยู่ในเมืองเชียงใหม่ เมื่อ ว.ศ.1146 (พ.ศ.2327) แต่ไม่สำเร็จเพราะกำลังคนที่จะเข้าไปอยู่และรักษาเมืองได้มีจำนวนไม่เพียงพอกับนครซึ่งมีอาณาเขตกว้างใหญ่

พระยากาวิละจึงได้ขึ้นไปกวาดต้อนเอาคนที่มีชาติเชื้อ ภาษาและใช้ตัวหนังสือเช่นเดียวกับ คนไทยวนเชียงใหม่ ได้ผู้คนมาจากแคว้นสิบสองปันนา เมืองยองเชียงรุ่ง เชียงตุง มาเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นเผ่าไทลื้อ ไทยองและไทเขิน ให้เข้ามาอาศัยอยู่ในล้านนาเพื่อให้มาช่วยกันสร้างบ้านเมืองขึ้นใหม่ ซึ่งอาจารย์ไกรศรี นิมมานเหมินทร์ ประมาณว่าปัจจุบันมีผู้สืบเชื้อสายมาจากชาวไทลื้อ ไทยองและไทเขินในเชียงใหม่มีจำนวนเกือบร้อยละ 40 ส่วนที่จังหวัดลำพูนมีประมาณร้อยละ 70

บ้านเมืองซึ่งร่วงโรยโดยพม่าข้าศึกย่ำยีย่อยยับ บ้านกลายเป็นป่า นากลายเป็นพงรกร้าง เป็นด่านช้างดงเสือ หากำลังไพร่พลเมืองมิได้ (คัดลอกจากข้อความของพระยาประชากิจกรจักร ในพงศาวดารโยนก) เมืองเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน ก็ค่อยๆ มีผู้คนหนาแน่นขึ้น ในตอนนี้เป็นระยะเวลาที่สร้างบ้านเมืองขึ้นใหม่ เรียกว่า “ยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” เมืองเชียงใหม่ที่ร้างไปแล้วนั้นก็กลับตั้งขึ้นมาใหม่ได้สำเร็จในวันพฤหัสบดี ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 6 เหนือ เดือน 4 ใต้ ปีมะโรง อัฐศกจุลศักราช 1158 (พ.ศ.2339) นครเชียงใหม่ก็เริ่มกลับเข้าสู่สภาวะเดิม เป็นศูนย์กลางความเจริญด้านเศรษฐกิจ การเมือง ศาสนาและวัฒนธรรมของล้านนา

พระยากาวิละ ได้รับบำเหน็จความดีความชอบด้วยการสถาปนาขึ้นเป็นพระเจ้าประเทศราชเมื่อ พ.ศ. 2345 เรียกว่า “พระเจ้ากาวิละ” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

เอกสารประกอบ
ไกรศรี นิมมานเหมินทร์ เชียงใหม่ในอดีต

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected].
23/1/60

ประวัติพระเจ้ากาวิละ
พระนามเดิมว่า กาวิละ เป็นโอรสองค์แรกของเจ้าฟ้าชายแก้ว ผู้เป็นบุตรของพระยาสุละวะฤาไชยสงคราม (หนานทิพย์ช้าง เจ้าผู้ครองอิสระนครลำปางในสมัยที่พม่าเข้าปกครองล้านนา) ประสูติใน พ.ศ. 2282 มีพระอนุชาและภคินีร่วมบิดาเดียวกัน 10 องค์ ในจำนวนนี้มีโอรส 7 องค์ได้เป็นเจ้าผู้ครองนครต่างๆในล้านนา จึงได้นามแห่งสกุลวงศ์สืบมาจนถึงปัจจุบันว่า “เชื้อเจ้าเจ็ดตน”

โดยเหตุที่พระเจ้ากาวิละ ทรงดำริที่จะกอบกู้เอกราชของล้านนาให้พ้นจากอำนาจของพม่า เมื่อทรงทราบว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงประกาศอิสรภาพแล้ว จึงได้ชักชวนเจ้าผู้ครองนครฝ่ายเหนือทั้งปวงให้สวามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระองค์จึงทรงเป็นกำลังสำคัญทางหัวเมืองฝ่ายเหนือและตลอดจนพระชนม์ชีพของพระองค์นั้นมิได้ว่างเว้นจากการศึกสงครามเลย การที่เมืองเชียงใหม่ได้เจริญรุ่งเรืองตราบเท่าทุกวันนี้ กล่าวได้ว่า พระเจ้ากาวิละมีส่วนสำคัญในฐานะทรงเป็นผู้ทะนุบำรุงให้ฟื้นฟูขึ้นใหม่

พ.ศ. 2345 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาเจ้ากาวิละขึ้นเป็นเจ้าประเทศราช ให้พระนามว่า “พระบรมราชาธิบดี ศรีสุริยะวงศ์ องค์อินทรสุรศักดิ์สมัญญา สมญามหาขัตติยะราชชาติราชาไชยสวรรย์ เจ้าขันธสีมาพระนครเชียงใหม่” พระเจ้ากาวิละ ทรงสิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. 2356 สิริรวมพระชนมายุได้ 74 พรรษา

ร่วมแสดงความคิดเห็น