วัดแรกในเชียงใหม่ สมัยพญามังราย

หลังจากที่พญามังรายปฐมกษัตริย์แห่งล้านนาไทยได้สร้างเมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1839 แล้วนั้น พระองค์ทรงโปรดให้สร้างวัดขึ้นเป็นแห่งแรกในนครเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.1840 ในบริเวณที่ประทับของพระองค์แล้วทรงตั้งชื่ออารามแห่งนี้ว่า “วัดเชียงมั่น” ซึ่งเป็นศิลปสมัยเชียงแสนที่ได้รับอิทธิพลมาจากลังกา และถือว่าเป็นวัดแรกเริ่มเมื่อสร้างเมืองเชียงใหม่ที่มีอายุเก่าแก่ ปรากฏหลักฐานมาจนถึงปัจจุบัน

งานศิลปะเชียงแสนได้เข้ามาแพร่หลายอยู่ในล้านนาไทย เมื่อราว พ.ศ.1880 โดยพระเจ้าปักกรมพาหุมหาราช ทรงโปรดให้พระสงฆ์ทำสังคายนา ทำให้อิทธิพลของเชียงแสนดังกล่าวเริ่มเข้าสู่อาณาจักรล้านนาไทย
งานสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในเชียงใหม่ในยุคเริ่มแรก ส่วนมากสร้างตามอิทธิพลแบบลังกา สังเกตได้จากการทำฐานสถูปเจดีย์เป็นฐานสูงมีลาดบัวซ้อนกันหลายชั้น ทั้งที่มีซุ้มและไม่มีซุ้ม บริเวณซุ้มคนสมัยก่อนมักจะทำประตูเข้าออก บางเจดีย์นำพระพุทธรูปมาประดิษฐานในซุ้มเหล่านั้น เช่นที่วัดเจดีย์หลวง วัดเชียงมั่น วัดพระธาตุดอยสุเทพ เป็นต้น

วัดเชียงมั่น เป็นพระอารามแห่งแรกที่สร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างเมืองเชียงใหม่ บริเวณหน้าอุโบสถของวัดมีจารึก เมื่อ พ.ศ.2124 กล่าวถึงประวัติการสร้างเมืองเชียงใหม่และจารึกประวัติการสร้างวัดรวมทั้งการบูรณะวัดนี้ในสมัยต่าง ๆ อีกด้วย โบราณวัตถุที่สำคัญในวัดนี้คือ พระเสตังคมณี หรือ พระแก้วขาว ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อครั้งที่พญามังรายกองทัพไปตีเมืองลำพูนแล้วทรงเผาเมืองให้หวอดวายนั้น ปรากฏว่ามีเพียงปราสาทซึ่งเป็นที่ประดิษฐานองค์พระแก้วขาวซึ่งไม่ถูกไฟไหม้แต่อย่างใด พระองค์จึงทรงโปรดให้อัญเชิญพระแก้วขาวองค์นี้ไปไว้ที่วัดเชียงมั่น ซึ่งเป็นที่ประทับของพระองค์ มาจนถึงทุกวันนี้

 

นอกจากนั้นก็ได้มีการสร้างวัดสำคัญขึ้นในเชียงใหม่อีกหลายวัดด้วยกัน เช่น วัดพระสิงห์ หรือ วัดลีเชียงพระ สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าแสนเมืองมา มีเรื่องเล่าว่า เมื่อครั้งท้าวมหาพรหม เจ้าเมืองเชียรายไปได้พระพุทธสิหิงค์ หรือ พระสิงห์ มาจากเมืองกำแพงเพชรและได้นำขึ้นมาถวายให้พระเจ้าแสนเมืองมา พระองค์ได้อัญเชิญพระสิงห์ลงเรือขึ้นมาตามแม่น้ำปิง เมื่อขบวนเรือมาถึงเชียงใหม่ก็เป็นเวลาค่ำแล้ว จึงได้อัญเชิญพระสิงห์ขึ้นจากเรือ แล้วนำไประดิษฐานไว้บนบกที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง ในคืนนั้นเอง ได้เกิดปรากฏการณ์อัศจรรย์ขึ้น โดยมีแสงสว่างลุกโชติช่วงขึ้นที่องค์พระสิงห์ แสงสว่างนี้เป็นลำยาวขึ้นไปบนท้องฟ้าพาดไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ชาวบ้านที่พบเห็นต่างพากันเชื่อว่าเป็นอภินิหารของพระสิงห์ จึงพากันไปกราบไหว้ด้วยความปิติยินดี

 

รุ่งเช้าท้าวมหาพรหมจึงได้นำพระสิงห์ขึ้นรถบุษบก ตั้งขบวนแห่ลากจากท่าน้ำที่นำพระสิงห์ขึ้น (ปัจจุบันเรียกท่าน้ำนี้ว่าวังสิงห์คำ) เพื่อจะนำไปประดิษฐานที่วัดสวนดอก เมื่อขบวนแห่มาถึงวัดลีเชียงพระราชรถที่หยุดเสียเฉย ๆ แม้จะมีผู้คนช่วยกันลากอย่างไร ก็ไม่เขยื้อน พระแสนเมืองมา จึงได้อาราธนาอัญเชิญพระสิงห์ เข้าไปประดิษฐานในวิหารวัดลีเชียงพระ แล้วจัดให้มีการฉลองสมโภชขึ้น ตั้งแต่นั้นมาพระพุทธสิหิงค์ หรือ พระสิงห์ จึงได้ประดิษฐานอยู่ที่วัดลีเชียงพระ หรือ วัดพระสิงห์มาจนถึงปัจจุบัน

 

ในสมัยของพระเจ้าแสนเมืองมาถือได้ว่าเป็นยุครุ่งเรืองของศาสนาในล้านนาอีกยุคหนึ่ง เมื่อครั้งที่พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ปกครองเมืองเชียงใหม่นั้น ได้ทรงสร้างอารามสำคัญอีกหลายแห่ง เช่น วัดเจดีย์หลวง สร้างขึ้นครั้งแรกเป็นเจดีย์องค์เล็ก ๆ ในสมัยของพระเจ้าแสนเมืองมา กษัตริย์ราชวงศ์มังราย ลำดับที่ 9 ประมาณ ปี พ.ศ.1954 ต่อมาในสมัยพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ราชวงศ์มังราย ลำดับที่ 11 ได้โปรดให้หมื่นด้ามพร้าคต ไปจำลองแบบมหาเจดีย์จากเมืองลังกามาสร้างเป็นเจดีย์สูง 43 วา ฐานกว้าง 27 วา เมื่อสร้างเสร็จแล้ว พระเจ้าติโลกราชทรงอัญเชิญพระแก้วมรกต (องค์เดียวกับที่ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ วัดพระแก้วในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ) มาจากเมืองลำปาง โปรดให้สร้างซุ้มประดิษฐานไว้ที่ข้างองค์พระเจดีย์ด้านทิศตะวันออก ในสมัยหลังพระแก้วมรกตถูกอัญเชิญไปประดิษฐานอยู่ที่เมืองล้านช้าง ประเทศลาว กระทั่งสมัยรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตกลับมาประดิษฐานที่กรุงธนบุรีและกรุงเทพมหานคร

 

ตำนานเมืองเหนือกล่าวถึงการสร้างวัดเจดีย์หลวงในสมัยพระเจ้าแสนเมืองมา ซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้ากือนาว่า “ส่วนเจ้ากือนาตนพ่อ เมื่อละวางอารมณ์ไปแล้ว ก็ได้เป็นอสุรกายรุกขเทวดารักษาต้นไม้นิโครธต้นหนึ่ง อยู่ริมทางเดินที่จะเดินเข้าไปเวียง ขณะนั้นมีพ่อค้าหมู่หนึ่งไปเมืองพุกามมา ก็มาถึงต้นนิโครธต้นนั้นและพักอยู่ เมื่อนั้นรุกขเทวดาก็แสดงบอกแก่พ่อค้าทั้งหลายว่า กูนั้นเป็นพญากือนา กินเมืองเชียงใหม่ที่นี่แล ก็ครบด้วยสหาย มีศิลปอาคมเป็นหมอช้าง ครั้นกูตายก็ได้มาเป็นอสุรกายรุกขเทวดา อยู่รักษาต้นไม้นี้แล กูจะไปเกิดในสวรรค์เทวดาโลกไม่ได้ ให้สูไปบอกแก่ลูกกูเจ้าแสนเมืองมา ให้สร้างพระเจดีย์หลังหนึ่งที่ท่ามกลางเวียง สูงพอคนอยู่ไกลสองปันวาแลเห็นนั่นเถิด จึงให้ทานกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่กู กูจักได้พ้นอันเป็นรุกขเทวดาที่นี่ แล้วจักได้ไปเกิดในสวรรค์”

เมื่อพระเจ้าแสนเมืองมาทราบความ จึงโปรดให้แผ้วถางที่ แล้วก่อพระเจดีย์สวมทับไว้ แต่ยังไม่ทันแล้วเสร็จพระเจ้าแสนเมืองก็สวรรคตเสียก่อน ต่อมาจึงได้มีผู้สร้างเจดีย์เพิ่มเติมขึ้นภายหลัง ในสมัยพระมหาเทวีจิระประภา ประมาณ พ.ศ.2088 ได้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเชียงใหม่ จึงทำให้ยอดพระเจดีย์หลวงหักพังทลายลงมา จนเหลือเท่าที่เห็นในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของการสร้างวัดในเมืองเชียงใหม่ ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับความเป็นสิริมงคลของเมือง สร้างความร่มเย็นเป็นสุขให้กับคนที่อาศัยอยู่ในเมืองทั้งสิ้น เหนือสิ่งอื่นใดวัดยังเป็นศูนย์กลางการปกครองที่คนในเมืองให้ความเคารพพากันมากราบไหว้ เพราะคนล้านนาเชื่อว่า การสร้างวัดเป็นอานิงสงฆ์ที่แรงกล้าสามารถทำให้วิญญาณของผู้สร้าง เมื่อตายไปแล้วขึ้นไปสู่สรวงสวรรค์ได้

จักรพงษ์  คำบุญเรืองจักรพงษ์  คำบุญเรือง [email protected] 24/9/60

ร่วมแสดงความคิดเห็น