รองนายกรัฐมนตรี ขึ้นเหนือเยือนจังหวัดเชียงใหม่ เข้าร่วมการประชุม “รัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 39”

รองนายกรัฐมนตรี ขึ้นเหนือเยือนจังหวัดเชียงใหม่ เข้าร่วมการประชุม “รัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 39” ร่วมกับตัวแทน 10 ประเทศ เน้นย้ำการพัฒนาแหล่งผลิตสินค้าเกษตรในภูมิภาคอาเซียนอย่างยั่งยืน และสานต่อแผนงานโครงการเพื่อความยั่งยืนภาคเกษตรและป่าไม้

ในฐานะเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญของโลก พร้อมทั้งเผยแพร่พระราชกรณียกิจและพระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ในการทรงงานด้านการเกษตร

เมื่อเวลา 10:00 น. วันที่ 28 ก.ย.60 ที่โรงแรมแชงกีล่า จ.เชียงใหม่ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 39 โดยมีผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วย รัฐมนตรีที่กำกับดูแลด้านการเกษตรละป่าไม้

และเจ้าหน้าที่อาวุโสระดับประหลัดกระทรวงและเจ้าหน้าที่อาวุโสของประเทศอาเซียน 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไน อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม รวมไปถึง รองเลขาธิการอาเซียน องค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์กรการอาหารละเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ เอฟ เอ โอ และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีนายกฤษณ์ ธนาวณิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ให้การต้อนรับ

ทาง พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในปี 2560 เป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีของการก่อตั้งประชาคมอาเซียน ซึ่งที่ผ่านมาสมาชิกอาเซียนได้ให้ความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด อย่างมีเอกภาพท่ามกลางความหลากหลาย ดังนั้น สิ่งที่เกิดขั้นตั้งแต่ปี 2560 คือ ประชาคมอาเซียนซึ่งมีประชาชนเป็นศูนย์กลางและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่การจะเป็นเช่นนี้

เราจะต้องเพิ่มความพยายามและมุ่งมั่นมากยิ่งขึ้น เพื่อบรรลุเจตนารมณ์ดังกล่าว เราต้องช่วยกันทำให้ประชาคมอาเซียนดึงดูดนักลงทุนและผู้ประกอบการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น พร้อมทั้งยังคงปกครองผลประโยชน์ของภูมิภาคไปด้วย ในขณะเดียวกันต้องร่วมเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน และพยายามไปให้ถึงการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเป้าหมายการขจัดความหิวโหยของสหประชาชาติ

ภาคการเกษตรเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดของประเทศสมาชิกอาเซียน เนื่องจากเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญ และเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ที่สุดในโลก ดังนั้น การดำเนินการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของประชาคมอาเซียน ถือเป็นวาระสำคัญระดับชาติของสมาชิกอาเซียนทุกประเทศเราจึงจำเป็นต้องมีเป้าหมายร่วมกันเพื่อให้สามารถเผชิญกับสิ่งท้าทายที่สำคัญ เช่น การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร

ซึ่งรวมถึงการขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตร เป็นต้น ในโอกาสนี้ เราควรกระชับความร่วมมือให้แน่นแฟ้น เพื่อนำไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2025 และเป็นไปตามวิสัยทัศน์และเป้าหมายที่กำหนดไว้ว่า “ภาคอาหาร การเกษตร และป่าไม้ มีความสามรถในการแข่งขัน มีส่วนร่วมมีความแข็งแกร่ง และโภชนาการ และความมั่งคั่ง ในประชาคมอาเซียน”

ขณะที่ทางด้าน พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ เป็นการประชุมประจำปีของรัฐมนตรีที่กำกับดูแลด้านการเกษตรและป่าไม้ ของประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไน อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม

โดยจะหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพตามลำดับตัวอักษรภาษาอังกฤษ โดยในปี 2560 นี้ เป็นวาระที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 39 ซึ่งกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-30 กันยายน 2560 โดยระหว่างวันที่ 25-27 กันยายน เป็นการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส และวันที่ 28-29 กันยายน เป็นการประชุมระดับรัฐมนตรี ส่วนวันที่ 30 กันยายน เป็นการศึกษาดูงานของคณะผู้แทนที่เข้าร่วมการประชุม ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ

ได้จัดการศึกษาดูงาน ณ ศูนย์การศึกษาพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการศึกษาทดลองด้านการเกษตรพื้นที่ภาคเหนือเพื่อเผยแพร่แก่ราษฎรนำไปปฏิบัติด้วยตนเอง

สำหรับวาระการประชุมที่สำคัญครั้งนี้จะเป็นการติดตามผลและการดำเนินงาน กำหนดนโยบายกำหนดแนวทางการดำเนินโครงการ ให้ความเห็นชอบมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติด้านการเกษตรต่างๆ ในสาขาเกษตรและป่าไม้ เพื่อให้สมาชิกอาเซียนนำไปปรับใช้ภายในประเทศ จะมีความเชื่อมโยงและสนับสนุนนโยบายอาเซียนในการเป็นภูมิภาคที่มีสินค้าเกษตรและอาหารที่ปลอดภัยและเพียงพอ มีความเป็นเอกภาพ

ทั้งด้านการผลิตและการค้า และปรับตัวได้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก เช่น การร่วมกันกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยสินค้าเกษตร ทั้งด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ การกำหนดค่าสารพิษตกค้าง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลไทย โดยกระทรวงเกษตรฯ ให้ความสำคัญและส่งเสริมเกษตรกรผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัย รวมถึงการผลักดันแผนขับเคลื่อนนโยบายประมงร่วมประชาคมอาเซียนให้เกิดขึ้นอย่างจริงจังในเวทีนี้ด้วย

นอกจากนี้แล้ว ประเทศไทยยังใช้โอกาสนี้ เทิดพระเกียรติและเผยแพร่พระราชกรณียกิจและพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ที่ได้ทรงงานด้านการเกษตร จนทำให้ภาคการเกษตรของประเทศไทยมีการพัฒนาและมีความก้าวหน้า สามารถนำพาเกษตรกรไทยให้มีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ให้แก่รัฐมนตรีและผู้แทนที่เข้าร่วมประชุมได้รับทราบผ่านการจัดนิทรรศการภายใต้หัวข้อ การพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน และ ศาสตร์พระราชานำพาเกษตรไทย

ร่วมแสดงความคิดเห็น