สปสช.หนุน “จิตอาสาราชประชาสมาสัย” กลไกสู่การดูแลสุขภาพประชาชน

สปสช.หนุนสร้าง “เครือข่ายชมรมจิตอาสาราชประชาสมาสัย” กลไกผลักดัน “กองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นฯ” และ “กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพฯ” สู่เป้าหมาย ขยายงานจิตอาสาสู่การดูแลสุขภาพประชาชน ดึงค้นหากลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงเข้าถึงบริการสุขภาพ
เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2560 ที่โรงแรมเซ็นทราฯ ศูนย์ราชการ และคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ – ในการสัมมนาระดับชาติเครือข่ายชมรมจิตอาสาราชประชาสมาสัย ครั้งที่ 1 ปี 2560 เรื่อง “จิตอาสาราชประชาสมาสัย และจิตอาสาประชารัฐ พลังเพื่อไทยยั่งยืน” นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะตัวแทน สปสช.รับมอบโล่เกียรติคุณผู้ให้การสนับสนุนโครงการจัดตั้งและขยายชมรมจิตอาสาราชประชาสมาสัย ตามแนวพระราชดำริ ปี 2557-2560 จนประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย พร้อมกันนี้ นพ.วิบูลย์ สุพุทธิธาดา ที่ปรึกษา สปสช. เขต 6 ระยอง และ ทพ.วิรัตน์ เอื้องพูลสวัสดิ์ ผอ.สปสช.เขต 12 สงขลา ได้รับมอบโล่เกียรติคุณ ผู้บริหารและพัฒนาชมรมจิตอาสาราชประชาสมาสัย ดีเด่นระดับชาติ ประจำปี 2560 จาก ศ.นพ.ธีระ รามสูต ประธานมูลนิธิราชประชาสมาสัย ในพระบรมราชูปถัมป์
ทั้งนี้ นพ.ศักดิ์ชัย ได้กล่าวบรรยายพิเศษ เรื่อง “บทบาทของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต่อการสนับสนุนเครือข่ายอาสาสมัครจิตอาสา” ว่า งานจิตอาสาเป็นการติดทองหลังพระ ทำงานที่เสียสละเพื่อสังคมโดยไม่หวังผลตอบแทน ซึ่ง “จิตอาสาราชประชาสมาสัย” เป็นการทำงานร่วมกันของประชาชนตามศาสตร์พระราชา ส่วนจิตอาสาประชารัฐเป็นการทำงานระหว่างประชาชนและรัฐ เมื่องานจิตอาสาขยายครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ประเทศไทยจะทำให้เกิดความยั่งยืน สังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
การทำงานจิตอาสาราชประชาสมาสัยเริ่มต้นจากการกำจัดโรคเรื้อน เป็นงานที่ยากและไม่มีใครทำ แต่กลับประสบความสำเร็จจากความร่วมมือ และได้ขยายไปสู่งานอื่นเพิ่มเติม โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับประชาชน ซึ่งบทบาท สปสช.ต่องานจิตอาสาทั้งจิตอาสาราชประชาสมาสัย และจิตอาสาประชารัฐ ด้วยการดำเนินงาน “กองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่” ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ดำเนินการร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กว่า 8,000 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ โดยมีงบประมาณสนับสนุน 45 บาทต่อประชากร และเงินสมทบโดย อบต. นับเป็นกองทุนที่มีความใกล้ชิดกับชุมชน เน้นด้านการส่งเสริมสุขภาพอนามัยให้กับประชาชนโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน ซึ่งที่ผ่านมาได้เกิดชมรมและโครงการต่างๆ มากมาย จึงเป็นเครื่องมือหนึ่งเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานจิตอาสาราชประชาสมาสัยและและจิตอาสาประชารัฐได้ รวมถึงกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพระดับจังหวัด
“งานหลายอย่างยังต้องใช้พลังจิตอาสาดำเนินการโดยเฉพาะด้านสุขภาพอนามัยในการค้นหากลุ่มผู้ด้อยโอกาส และกลุ่มเปราะบางที่ยังเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ อย่างเช่น ผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงที่ถูกทอดทิ้งซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นในสังคม ซึ่งคาดว่าขณะนี้มีผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงราว 1 ล้านคน แต่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปัจจุบันดูแลเพียงแค่ 1 แสนคนเท่านั้น ยังมีผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงอีกราว 9 แสนคนที่ยังขาดการดูแล ดังนั้นหากใช้พลังจิตอาสาจะช่วยให้เกิดการดูแลผู้สูงอายุกลุ่มนี้ได้อย่างทั่วถึงได้” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า นอกจากกลุ่มผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงแล้วยังมีกลุ่มแม่และเด็ก กลุ่มผู้พิการ กลุ่มผู้ประกอบอาชีพที่มีความเสี่ยง และกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่อยู่ในเขตพื้นที่ซึ่งต้องการดูแล ดังนั้นกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ และกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพระดับจังหวัด นอกจากเป็นกลไกหนุนเสริมการทำงานจิตอาสาราชประชาสมาสัยและจิตอาสาประชารัฐแล้ว ขณะเดียวกันจิตอาสาราชประชาสมาสัยและจิตอาสาประชารัฐยังเป็นส่วนสำคัญที่จะเข้ามาช่วยเสริมการทำงานทั้ง 2 กองทุนให้บรรลุเป้าหมายเช่นกัน

ร่วมแสดงความคิดเห็น