กรม สบส. แนะประชาชนประเมินตนเองก่อนรับบริการนวด ชี้นวดเพื่อรักษา และนวดผ่อนคลายแตกต่างต้องเลือกสถานที่รับบริการ

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แนะประชาชนประเมินตนเองเบื้องต้นก่อนรับบริการนวด ชี้นวดเพื่อรักษา และนวดเพื่อผ่อนคลายมีความแตกต่างต้องเลือกสถานที่รับบริการให้ดีเพื่อตอบโจทย์สุขภาพ พร้อมย้ำสถานพยาบาลและสถานประกอบการเพื่อสุขภาพทุกแห่งที่ได้รับอนุญาตตามที่กฎหมายกำหนด ต้องประเมินสภาพร่างกายผู้รับบริการนวดทุกครั้ง เพื่อป้องกันอันตราย

นายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบัน แม้วิทยาการทางการแพทย์จะมีความก้าวหน้าไปมาก แต่ความนิยมใช้ศาสตร์เก่าแก่อย่างนวดไทยมาใช้ดูแลสุขภาพ บำบัดรักษาอาการเจ็บปวดของร่างกาย ก็ยังได้รับความนิยมมิเสื่อมคลาย โดยเฉพาะการนวดจับเส้นในการรักษา ซึ่งต่างจากการนวดเพื่อผ่อนคลาย หรือส่งเสริมสุขภาพ เพราะเป็นการนวดเพื่อบำบัด รักษาโรค และฟื้นฟูสุขภาพโดยใช้ศาสตร์นวดไทย ซึ่งยังมีประชาชนหลายคนที่ยังขาดความเข้าใจในการเลือกรับบริการนวดจากสถานที่ๆถูกต้อง เหมาะสม ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนเลือกรับบริการได้ตรงกับความต้องการ และตอบโจทย์สุขภาพได้มากที่สุด กรม สบส. จึงขอแนะนำให้ประชาชนทุกคนประเมินร่างกายตนเองเบื้องต้นก่อนรับบริการนวดทุกครั้ง หากพบว่าร่างกายของตนมีอาการเจ็บ ปวด หรือมีความผิดปกติ และต้องการนวดเพื่อรักษา ฟื้นฟูสุขภาพ อย่างการนวดจับเส้น ขอให้เลือกรับบริการจากสถานพยาบาลการแพทย์แผนไทย ซึ่งผู้ให้บริการนวดจะต้องเป็นผู้ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพด้านเวชกรรมไทย, ด้านนวดไทย หรือด้านการแพทย์แผนไทยประยุกต์ จากสภาการแพทย์แผนไทยเท่านั้น โดยประชาชนสามารถสังเกตหลักฐานสถานพยาบาล 3 ประการ เพื่อความมั่นใจว่าสถานพยาบาลดังกล่าวเป็นสถานพยาบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย สามารถบรรเทา บำบัด รักษาอาการของโรคที่ตนเป็นอยู่ได้ ดังนี้ 1.มีการแสดงเลขที่ใบอนุญาต 11 หลัก ให้เห็นได้ชัดเจนที่ด้านหน้าสถานพยาบาล 2.มีการแสดงใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาลให้เห็นชัดเจนที่จุดบริการ และ3.มีการแสดงป้ายชื่อ-สกุล รูปถ่าย พร้อมกับเลขที่ใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพของแพทย์ติดหน้าห้องตรวจ ซึ่งต้องตรงกับตัวจริงที่ให้บริการขณะนั้น

แต่หากต้องการนวดเพื่อส่งเสริมสุขภาพ หรือผ่อนคลาย ให้เลือกรับบริการจากสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ประเภท สปา นวดเพื่อสุขภาพหรือเพื่อเสริมความงาม ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการจากกรม สบส.หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ซึ่งผู้ให้บริการนวดจะต้องได้รับประกาศนียบัตรตามหลักสูตรที่กรม สบส.ให้การรับรอง และขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพถูกต้องตามกฎหมาย และสังเกตหลักฐาน 3 ประการ ได้แก่ 1.มีการแสดงสติ๊กเกอร์มาตรฐาน สบส.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ตามประเภทกิจการ ให้เห็นชัดเจนที่จุดบริการ 2.มีการแสดงใบอนุญาตประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ 3.มีการแสดงใบอนุญาตผู้ดำเนินการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ (กรณี สถานประกอบการเพื่อสุขภาพประเภทสปา) และหากประชาชนมีข้อสงสัยว่าผู้ให้บริการมีคุณสมบัติที่จะให้บริการนวดครบถ้วนหรือไม่ สามารถขอตรวจสอบทะเบียนผู้ให้บริการจากเจ้าของสถานประกอบการฯ หรือผู้ดำเนินการได้

ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของประชาชน ขอเน้นย้ำให้สถานพยาบาลหรือสถานประกอบการเพื่อสุขภาพทุกแห่ง ตรวจประเมินสภาพร่างกายผู้มารับการนวดทุกครั้ง ทั้งวัดความดันโลหิต ซักประวัติอาการป่วย เพื่อประเมินแนวทางการรักษาหรือการนวดเพื่อความผ่อนคลายได้อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะบุคคลที่มีอาการดังต่อไปนี้ คือ มีไข้สูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส มีอาการโรคติดเชื้อเฉียบพลัน มีการอักเสบจากการติดเชื้อ กระดูกแตก หัก ปริ ร้าว ข้อเคลื่อน เป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวานที่ยังควบคุมอาการให้เป็นปกติไม่ได้ มีโรคผิวหนังมีแผลเปิดเรื้อรัง โรคติดต่อระยะแพร่เชื้อ โรคมะเร็ง แผลหลังผ่าตัดยังไม่หายสนิท หลอดเลือดดำอักเสบ และกระดูกพรุนรุนแรง ห้ามให้บริการนวดแผนไทยเด็ดขาดเพราะอาจเกิดอันตรายได้ .

ร่วมแสดงความคิดเห็น