พบอุตสาหกรรมไทยส่วนใหญ่ ยังใช้เทคโนโลยีต่ำกว่ายุค2.5

ส.อ.ท.เปิดผลวิจัยเชิงลึกกับดักปัญหาขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทย 4.0 พบอุตสาหกรรมไทยร้อยละ 75 ยังใช้เทคโนโลยีอุตสาหกรรมต่ำกว่ายุค 2.5 โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีกำลังเผชิญวิกฤติขาดแคลนช่างเทคนิคทักษะสูง

นายอาทิตย์ กริชพิธรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิตจำกัด เปิดเผยว่า Chevron Enjoy Science : สนุกวิทย์พลังคิดเพื่ออนาคตจากบริษัทเชฟรอนฯมอบหมายให้ สถาบันชิสโฮล์มประเทศออสเตรเลัย Chisholm Institute Australia สถาบันโพลีเทคนิคแห่งรัฐบาลออสเตรเลียวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับปัญหาความท้าทายการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทย 4.0 ผลวิจัยพบว่า อุปสรรคการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยตามยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล คือ อุตสาหกรรมไทยร้อยละ 75 ยังใช้เทคโนโลยีต่ำกว่าระดับ 2.5 โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) เพราะถูกจำกัดด้วยปัจจัยทางค่าใช้จ่าย ทำให้ไม่สามารถลงทุนเทคโนโลยีที่ทันสมัย

ส่วนผู้ประกอบการที่สามารถก้าวสู่ยุค 4.0 ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ขณะเดียวกันยังประสบปัญหาขาดแคลนช่างเทคนิครุ่นใหม่จำนวนมากที่มีทักษะในการปฏิบัติงานทางด้านแมคคาทรอนิคหุ่นยนต์และเทคโนโลยีวัสดุ เป็นต้น อีกทั้งยังขาดวินัยที่เอื้อต่อการทำงานอีกด้วย งานวิจัยยังระบุด้วยว่าแรงงานทักษะสูงยังเป็นที่ต้องการรองรับเทคโนโลยีขั้นสูง และยังพบด้วยว่าภาคอุตสาหกรรมไทยยังใช้หุ่นยนต์ในกระบวนการผลิตน้อยกว่าผู้ผลิตอื่นในภูมิภาคเอเชียด้วยกัน สำหรับทักษะที่ต้องการของตลาดแรงงานปี 2558 และ 2563 ได้แก่ ทักษะการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน ทักษะเกี่ยวกับกระบวนการทำงาน ทักษะด้านองค์ความรู้ ทักษะเกี่ยวกับระบบและทักษะทางปัญญา ส่วนแนวทางสร้างแรงงานยุคอุตสาหกรรม 4.0 นั้นสถาบันโพลีเทคนิคแห่งรัฐบาลออสเตรเลียแนะนำให้พัฒนาหลักสูตรการศึกษาเน้นเทคโนโลยีวิศวกรรมและคณิตศาสตร์หรือสะเต็ม การสื่อสารและทักษะทางด้านอารมณ์ในการทำงาน เป็นต้น

ทั้งนี้ บริษัทเชฟรอนฯ ยังร่วมกับภาคการศึกษาของไทยจัดตั้งศูนย์การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ หรือ TVET Hub เพื่อมุ่งเน้นอบรมพัฒนาครู ผู้นำทางการศึกษา แรงงานและนักเรียนอาชีวะ ให้มีทักษะแรงงานวิชาชีพชั้นสูงตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยจะจัดตั้งทั้งสิ้น 6 แห่งทั่วประเทศแต่ละแห่งจะตั้งอยู่บนพื้นที่ที่เป็นฐานผลิตของอุตสาหกรรมสำคัญสอดคล้องตามแนวทางยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน การเกษตรไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ปัจจุบันตั้งแล้ว 4 แห่ง ได้แก่ ศูนย์การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพล้านนา จังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพศรีวิชัย จังหวัดสงขลา ศูนย์การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพด้านยานยนต์ จังหวัดชลบุรี และศูนย์การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา และอยู่ระหว่างจัดตั้งอีก 2 แห่ง คาดว่าจะจัดตั้งเสร็จภายในสิ้นปี 2562 โดยมีเป้าหมายสําคัญสร้างประโยชน์ให้กับสถาบันอาชีวศึกษากว่า 60 แห่งอบรมครู 1,800 คน และพัฒนาทักษะและแรงงานและนักศึกษาสายอาชีวะกว่า 138,000 คน

นายเจน นำชัยศิริ ประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัจจุบันความเชื่อมั่นและความสนใจของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อประเทศไทยยังคงมีอย่างต่อเนื่องด้วยนโนยบายส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐ จากการนำเสนอพื้นที่ทางเศรษฐกิจอย่างพื้นที่โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ อีอีซี อย่างไรก็ตาม ปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะยังคงเป็นอุปสรรค หากประเทศไทยไม่สามารถก้าวผ่านความท้าทายนี้ไปได้อาจส่งผลให้เกิดการชะลอการลงทุน ดังนั้น ภาครัฐจึงควรประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนในการเร่งปฏิรูประบบการศึกษาเฉพาะการผลิตรายงานวิชาชีพรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายให้เท่าทันและเพียงพอต่อความต้องการ

นายประชาคม จันทรชิต รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เปิดเผยว่า สอศ. จัดทำยุทธศาสตร์ 20 ปี เพื่อยกระดับอาชีวศึกษาของไทยสู่การเป็นอาชีวศึกษาระดับสากลภายใต้หลักการสำคัญ เช่น การผลิตและพัฒนาคนที่มีคุณภาพและเพียงพอต่อความต้องการพัฒนาประเทศ รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือภาครัฐและเอกชนในการจัดการอาชีวศึกษามีการส่งเสริมสมรรถนะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงผลิตและพัฒนาครูอาชีวศึกษาให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง

ร่วมแสดงความคิดเห็น