สนง.พาณิชย์เชียงใหม่ รุกส่งเสริมและพัฒนาตลาดอินทรีย์ พร้อมเปิดตัวเว็บไซต์เกษตรอินทรีย์เจาะตลาดออนไลน์

สนง.พาณิชย์เชียงใหม่ สนองนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ เดินหน้าส่งเสริมและพัฒนาตลาดอินทรีย์ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการผลิต การค้าและการบริโภคสินค้าอินทรีย์ในภูมิภาคอาเซียน ลุยจัดมหกรรมฟาร์มสุขแฟร์พร้อมกับการเปิดตัวเว็บไซต์เกษตรอินทรีย์ ภายใต้โครงการเกษตรเพื่ออาหารสุขภาพดีวิถีล้านนา เผยมูลค่าตลาดเกษตรอินทรีย์โลกในปี 58 อยู่ที่ 2.85 ล้านล้านบาท มูลค่าตลาดเกษตรอินทรีย์ของไทยอยู่ที่ 2,332 ล้านบาท มีอัตราการเติบโต 10% ต่อปี

วันนี้ ( 11 ตุลาคม 2560) เวลา 16.00 น.  นางสาวอรุณี พูลแก้ว ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดงานมหกรรมฟาร์มสุขแฟร์ พร้อมกับการเปิดตัวเว็บไซต์ www.kasetin-c.com ภายใต้โครงการเกษตรเพื่ออาหารสุขภาพดีวิถีล้านนา โดยมีนายกฤษณ์ ธนาวณิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้กล่าวต้อนรับ และนางนิยดา หมื่นอนันต์ พาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้กล่าวรายงาน นอกจากนี้ยังได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ กับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตัล (DEPA) และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อสร้างความร่วมมือด้านเครือข่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ผ่านตลาดดิจิตอล ณ ลานโปรโมชั่น ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

นางสาวอรุณี พูลแก้ว ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์

โดย นางสาวอรุณี พูลแก้ว ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญกับสินค้าเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาตลาดอินทรีย์ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการผลิต การค้าและการบริโภคสินค้าอินทรีย์ในภูมิภาคอาเซียน โดยจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาตลาดอินทรีย์ปี 2560-2564 ไว้ 4 ด้าน คือ 1.การสร้างการรับรู้ของผู้เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทาน 2.ผลักดันมาตรฐานและระบบการรับรองเกษตรอินทรีย์ 3.พัฒนาและขยายตลาดสินค้าและบริการอินทรีย์ และ 4.พัฒนาสร้างมูลค่าและบริการอินทรีย์ และกำหนดแผนผลักดันให้มูลค่าตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นแบบเท่าตัว หรือเฉลี่ยเติบโตปีละ 20% เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกร/ผู้ประกอบการ ยกระดับความสามารถในการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจท้องถิ่น อันจะทำให้ประเทศเกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

ด้านนางนิยดา หมื่นอนันต์ พาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ในปัจจุบันกระแสรักสุขภาพเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้บริโภคตระหนักกับอาหารที่ทานเข้าไป ทำให้ธุรกิจเกษตรออแกนิคหรือเกษตรอินทรีย์มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อพิจารณาจากมูลค่าตลาดเกษตรอินทรีย์โลกในปี 2558 อยู่ที่ 7.5 หมื่นล้านยูโร หรือประมาณ 2.85 ล้านล้านบาท มูลค่าตลาดเกษตรอินทรีย์ของไทยอยู่ที่ราว 2,332 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตประมาณ 10% ต่อปี โดยแบ่งเป็นตลาดส่งออก 77.94% จำหน่ายในประเทศ 22.06% มีสัดส่วนประเภทสินค้าออแกนิคอาหารแปรรูปเป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วยข้าวออร์แกนิค รวมทั้งมีพื้นที่ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของไทยขยายตัวอย่างรวดเร็วถึง 21% โดยในส่วนของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ประกอบด้วยจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และแม่ฮ่องสอน ล้วนมีศักยภาพด้านภูมิประเทศ และภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยในการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ ตลอดจนมีฐานความรู้ความชำนาญในการพัฒนามาตรฐานผลิตทางด้านเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งมีการพัฒนา การวิจัย ให้มีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ในพื้นที่

นางนิยดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ได้ดำเนินโครงการเกษตรเพื่ออาหารสุขภาพดีวิถีล้านนา เพื่อพัฒนาเกษตรกร สนุบสนุนผู้ประกอบการ และส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ ส่งเสริมสนับสนุนการเชื่อมโยงสินค้าเกษตรอินทรีย์สู่ผู้ซื้อ ผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งเพื่อพัฒนาคุณภาพ มาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด และสร้างโอกาสการขยายช่องทางการตลาดให้สินค้าเกษตรอินทรีย์ให้กว้างขึ้น โดยการส่งเสริมการจัดจำหน่ายสินค้าในตลาดดิจิตอล ดังนั้นสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่จึงได้จัดงานมหกรรมฟาร์สุขแฟร์ โดยยกเอาผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรอินทรีย์ ทั้ง 4 จังหวัด ในเฟสแรกที่เข้าร่วมโครงการฯ รวมจำนวน 120 ราย โดยมีผู้ประกอบการส่วนหนึ่งมาเข้าร่วมกิจกรรมออกบูธในครั้งนี้ 40 ราย และยังได้มีการเปิดตัวเว็บไซต์ www.kasetin-c.com อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก เพื่อเป็นช่องทางการตลาดใหม่ๆ ที่จะสามารถทำให้สินค้าเกษตรอินทรีย์เข้าถึงสู่ผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น รองรับความต้องการในวิถีชีวิตของผู้บริโภคยุคใหม่ หรือยุคไทยแลนด์ 4.0 ที่เน้นการนำเทคโนโลยี นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ มาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ และนับว่าเป็นพัฒนาส่งเสริมเกษตรกรและสนับสนุนผู้ประกอบการกลุ่มสินค้าเกษตรอินทรีย์ โดยความร่วมมือจากภาคราชการ สถาบันการศึกษาและภาคเอกชน ที่เกี่ยวข้อง โดยจังหวัดเชียงใหม่ คาดหวังว่าจะเป็น Platform ตลาดออนไลน์กลุ่มสินค้าเกษตรอินทรีย์ของระดับประเทศในภาพรวมทั้ง 76 จังหวัดต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น