เจ้าหน้าที่อุทยานฯ พร้อมชาวบ้าน ลงพื้นที่สำรวจพื้นที่ป่า เร่งหาข้อยุติคัดค้านการประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติออบขาน

นายอำเภอสะเมิง พร้อมหัวหน้าอุทยานออบขาน นำเจ้าหน้าที่และชาวบ้าน แม่ลานคำ หมู่ 6 และบ้านป่าคา หมู่ 11 ตำบลสะเมิงใต้ ออกลงสำรวจแนวเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ หาข้อยุติการประกาศพื้นที่อุทยานออบขาน หลังเกิดกระแสจากชาวบ้านในพื้นที่คัดค้านการออกประกาศ หวั่นกระทบกับวิถีชีวิตชนเผ่า และพื้นที่ทำประโยชน์ ที่อาศัยอยู่มาช้านาน

วันที่ 14 ตุลาคม 2560 นายชาตรี กิตติธนดิตถ์ นายอำเภอสะเมิง พร้อมด้วย น.ส.นิภาพร ไพศาล หัวหน้าอุทยานออบขาน นำเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง และชาวบ้านในพื้นที่บ้านแม่ลานคำ และบ้านป่าคา อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ร่วมกันลงสำรวจและตรวจสอบแนวเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าสะเมิง เพื่อประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติออบขาน ตามที่กรมป่าไม้ได้มีคำสั่งที่ 1627/2532 ดำเนินการสำรวจพื้นที่

ซึ่งในปัจจุบันมีพื้นที่เตรียมการประกาศเป็นอุทยานฯ ทั้งหมด 228 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 142,631 ไร่ อยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าสะเมิง ท้องที่ ต.สะเมิงใต้ และ ต.แม่สาบ อ.สะเมิง ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ขาน – แม่วาง ท้องที่ ต.บ้านกาด ต.ดอนเปา ต.ทุ่งปี้ อ.แม่วาง, ต.บ่อน้ำหลวง อ.สันป่าตอง และป่าแม่ท่าช้าง – แม่ขนิน ท้องที่ต.น้ำแพร่ ต.บ้านปง อ.หางดง โดยมีชุมชนโดยรอบทั้งสิ้น 26 หมู่บ้าน 7 ตำบล 4 อำเภอ

โดยหลังการดำเนินการชุมชนที่อยู่โดยรอบแนวเขตมีความเข้าใจและสนับสนุนการประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ แต่มีชุมชนที่เป็นชาวเขาเผ่าปากาเก่อญอ (กะเหรี่ยง) จำนวน 2 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านแม่ลานคำ หมู่ 6 และบ้านป่าคา หมู่ 11 ต.สะเมิงใต้ อ.สะเมิง ที่ยังไม่เข้าใจและคัดค้านการประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติ โดยกานำของกลุ่มสหพันธเกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และราษฎรที่เป็นแกนนำหลัก เช่น นายพฤ โอโดเชา , นายสุนทร ตูลู , นายตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งมงคล และนายอนุรัญ อุแสง

ดังนั้นในวันนี้ทางเจ้าหน้าที่อุทยานฯ จึงได้มีการเข้าร่วมการประชุมเพื่อเจรจาทำความเข้าใจกับคนในชุมชนพร้อมทั้งได้ร่วมกันลงพื้นที่สำรวจ เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันในทุกด้าน เพื่อให้เป็นไปตามที่ต้องการของทางอุทยานฯ และชาวบ้านในพื้นที่

ทั้งนี้ทาง นายพฤ โอโดเชา เปิดเผยว่า การรับฟังขั้นตอนการดำเนินการสำรวจแนวเขตในวันนี้นั้นทางชาวบ้านจะเป็นผู้นำชี้แนวเขต และทางเจ้าหน้าที่จะเดินตาม สืบเนื่องจากกรณีที่อุทยานออบขานที่ได้มีการเตรียมออกประกาศดังกล่าว ทางชาวบ้านได้รับทราบมาประมาณปี 2536 แต่ทางอุทยานฯ ได้ระบุว่ามีการเตรียมออกประกาศมาตั้งแต่ปีปี 2532 ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านได้มีการคัดค้าน

เพราะไม่มีกระบวนการแจ้งให้กับทางชาวบ้านทราบก่อนรวมทั้งชาวบ้านก็ไม่ได้มีส่วนร่วมด้วย ขณะเดียวกันชาวบ้านก็เกรงว่ากรรมการเขตป่ามาอยู่เขตไหนก็ไม่ทราบ และเข้ามาอย่างไร และมีความกังวลอีกว่าเมื่อทางอุทยานฯ มีการประกาศพื้นที่แล้วนั้นจะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของชาวบ้านในพื้นที่ เนื่องจากชีวิตของชาวเขาเผ่าปากาเก่อญอ (กะเหรี่ยง) จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยป่าในพื้นที่ในหลายๆ ด้าน แต่เมื่อใดที่มีการประกาศเป็นเขตป่าสงวนแล้วก็จะทำให้การดำรงชีวิตของคนในพื้นที่เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

ขณะเดียวกัน เมื่อมีการประกาศเป็นเขตอุทยานฯ แล้วทางชาวบ้านก็ไม่สามารถที่จะขอจัดตั้งเป็นเขตป่าชุมชน ประกอบกับไม่สามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าดังกล่าวได้ ซึ่งในปัจจุบันนี้พื้นที่หมู่บ้านนตั้งอยู่ในเขตป่าสงวน ที่เป็นป่าผืนเดิม แต่เมื่อมีการประกาศเป็นพื้นที่เขตอุทยานฯ แล้ว สิทธิ์ในการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าจะเกิดปัญหากับวิถีชีวิตของชาวบ้านทันที ดังนั้นจึงอยากเสนอว่าหากมีการประกาศอยากให้มีการกันพื้นที่จุดนี้ไว้ โดยไม่ให้เอาอุทยานฯ มาผนวกกับป่าสงวน และการลงพื้นที่สำรวจในวันนี้ก็เข้าใจว่าให้ทางอุทยานฯ มาสำรวจร่วมกับชาวบ้านเพื่อรับฟังว่าทางชาวบ้านต้องการพื้นที่ขนาดไหน และไม่ใช่ว่าการเดินในวันนี้เมื่อเสร็จสิ้นจะสามารถประกาศเป็นพื้นที่อุทยานฯ ได้เลยแต่จะต้องมีการเจรจาตกลงกันอีกครั้งหากชาวบ้านยังคัดค้านก็จะไม่สามารถออกประกาศได้และอยากให้ผืนป่าอยู่ในความดูแลของชาวบ้านในพื้นที่ต่อไป

ขณะที่ทางด้าน น.ส.นิภาพร ไพศาล หัวหน้าอุทยานออบขาน เปิดเผยว่า สำหรับการดำเนินการในครั้งนี้ ได้มีการตั้งคณะกรรมการระดับอำเภอสะเมิง และคณะกรรมการในการดำเนินงานในระดับตำบล เพื่อให้เข้ามามีส่วนร่วมและรับทราบการดำเนินการเดินแนวเขตร่วมกับทางเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เพื่อให้รับทราบถึงผลการดำเนินงานหากมีการประกาศพื้นที่เป็นอุทยานออขานในอนาคต และเพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับชาวบ้านในพื้นที่ว่าหากมีเส้นแนวเขตปรากฎขึ้นก็คือเส้นแนวเขตที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในพื้นที่ และเกิดในภาพประชารัฐอย่างแท้จริง โดยจะมีการสำรวจและตกลงกันทั้งสองฝ่ายก่อนนำเข้าเสนอสู่คณะกรรมการระดับอำเภอต่อไป

ซึ่งขณะนี้แนวเขตที่จะดำเนินการสำรวจตอนนี้ยังถือเป็นร่างแนวเขตของอุทยานแห่งชาติออบขานเพื่อนำเสนอกับคณะกรรมการระดับอำเภอสะเมิง และเมื่อมีการพิจารณาและเห็นพ้องกันทั้งหมดแล้วจึงจะมีการนำเสนอให้กับทางกรมอุทยานแห่งชาติ โดยใน่สวนของคณะกรรมการะดับสะเมิงนั้นมีพี่น้องประชาชนเข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการ ที่เกิดจากชาวบ้านในพื้นที่เสนอชื่อเข้ามายังอำเภอในการประกาศเป็นคณะทำงาน

อย่างไรก็ตามการดำเนินการที่ผ่านมาพบว่า ในพื้นที่ยังมีปัญหาที่เกิดจากความไม่เข้าใจกันระหว่างอุทยานฯ กับชาวบ้าน เนื่องจากว่า การดำเนินการของอุทยานฯ ในอดีตไม่ค่อยได้เข้ามามีส่วนร่วมกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งไม่ได้มีการรับฟังปัญหาต่างๆ จึงทำให้ชาวบ้านเกิดความกังวลใจว่าพื้นที่ทำกินที่มีอยู่เดิมหรือชุมชนที่อยู่ในเขตอุทยานฯ จะไม่สามารถทำกินได้ ซึ่งข้อเท็จจริงนั้นพื้นที่ชุมชนที่อยู่ในเขตอุทยานฯ ดังกล่าว ได้มีการกันออกไปตั้งแต่เมื่อปี 2552 แล้ว แต่ทางชาวบ้านก็ยังมีความกังวลใจอยู่ว่าการดำรงชีพในวิถีชนเผ่าปากาเก่อญอ (กะเหรี่ยง) จะต้องมีการพึ่งพิงทรัพยากร

แต่หากมีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติแล้วจะไม่สามารถเข้าไปทำประโยชน์ในพื้นที่ไม่ได้ เช่นการหาเก็บของป่า แต่โดยแท้จริงแล้วข้อกังวลดังกล่าวเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนดังนั้นทางเจ้าหน้าที่อุทยานฯ จึงได้เข้ามาทำการชี้แจงให้ชาวบ้านเข้าใจตรงกันว่าทางอุทยานฯ จะไม่ได้ทับที่ทำกินแต่อย่างใด รวมไปถึงจะไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อน ซึ่งก็สอดคล้องกับนโยบายของทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อยู่แล้วในเรื่องของการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติหรือป่าอนุรักษ์จะต้องไม่ทำให้พี่น้องประชาชนเดือดร้อน

ร่วมแสดงความคิดเห็น